มนัส สัตยารักษ์ : รัฐสภา พิกัดสำคัญ

เมื่อเขียนเล่าเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องจริง ผมที่มักจะเอ่ยนามหรืออ้างชื่อคนที่เกี่ยวข้องหรือเป็นตัวละครเสมอ โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นบุคคลสำคัญ

ประการแรก เพื่อยืนยันให้ผู้อ่านเชื่อถือว่า เรื่องนี้เป็น “ความจริง” มีค่ามีราคา อีกประการหนึ่งก็คือ ในหลายกรณี (ค่อนข้างบ่อย) ผมเป็นคนประเภทที่เรียกกันว่า โนบอดี้ หรือ nobody

นี่ไม่ใช่การออกตัวหรือถ่อมตัว เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ผมมีความสุขกับการเป็นโนบอดี้มากกว่าเป็นคนที่ถูกจับตามมอง (แม้จะชอบที่ถูกกล่าวถึงก็ตาม) และต้องรับสารภาพว่าเป็นคนที่กังวลกับปมด้อยหลายปม แบบว่าไม่แน่จริงหรือไม่เก่งจริงจนไม่อยากให้ใครรู้จัก

อีกประการหนึ่งก็คือ ตัวเราเองก็มองคนรอบข้างอย่างโนบอดี้นับไม่ถ้วน บางทีก็ลืมไปว่าเคยรู้จักกัน หรือนึกไม่ออกว่าเคยรู้จักกันมาก่อน

วันที่หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก “อ.ตร. อันตราย” ออกวางตลาด ผมจำได้ว่าตรงกับวันเกิดของผม และตรงกับวันที่ผมเข้าเวรเป็นนายตำรวจติดตาม อ.ตร. พอดี

ช่างบังเอิญราวกับเรื่องแต่งเพื่อทำละครน้ำเน่า

เรื่องที่ขอเล่าตอนนี้ก็คือตอนที่ท่านเดินทางไปประชุม

เมื่อถึงบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานฯ พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร อ.ตร. ซึ่งเป็นบุคคลตัวหลักในหนังสือเล่มดัง (ที่กำลังร้อน) ลงจากรถและใหัสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกลุ่มใหญ่ที่กรูกันเข้ามาล้อมรอบและซักถามเรื่องพ็อกเก็ตบุ๊กที่ได้ชื่อว่าก้าวร้าวรุนแรงเล่มนั้น

ในหน้าที่นายตำรวจติดตามผมเข้ามายืนระวังหลังอยู่ห่างๆ พร้อมกันนั้นก็คิดล่วงหน้าอย่างรวดเร็วว่าถ้าผู้สื่อข่าวมาทักถามผมในฐานะผู้เขียน ผมจะตอบพวกเขาว่าอย่างไร จึงไม่ให้เสียหายต่อผู้ใหญ่ระดับ อ.ตร. และต่อคนเขียนยศแค่ ร.ต.อ.

โชคดี (และไม่น่าเชื่อ) ไม่มีใครรู้จักและสนใจนายตำรวจติดตามแม้แต่น้อย ดังนั้น เหตุการณ์ประดักประเดิดจึงไม่เกิดขึ้น คิดอีกทีถึงผู้สื่อข่าวจะสนใจ พวกเขาเป็นนักข่าวการเมืองก็คงจะไม่รู้จักผม

ถึงเป็นนักข่าวอาชญากรรมก็อาจจะไม่รู้จักเพราะผมไม่แต่งเครื่องแบบถ้าไม่จำเป็น

ถึงไม่มีเหตุผลอะไรมาอ้าง พวกเขาก็ไม่รู้จัก นี่คือความเป็น “โนบอดี้”

ถ้าไม่อยากเป็นโนบอดี้ต้องมี “แอ๊กชั่น” แรงๆ และมันส์ๆ ด้วย

อาจารย์นักวิชาการที่ผมนับถือมากท่านหนึ่ง เขียนหนังสือประเภท Faction ที่ชวนอ่านและอ่านสนุกเหมือนนั่งคุยกัน ความคิดเห็นตรงไปตรงมาน่ารับฟังและรัฐควรทำตาม เป็นความรู้ที่คล้ายกับไม่ได้แปลมาจากตำราต่างประเทศโดยตรง เพราะท่านเรียนมาก (ปริญญาเอกต่างประเทศ) และอ่านมากนั่นเอง

คืนวันหนึ่งเราเจอกันในวงสนทนาที่โรงแรมอิมพีเรียล ของ อากร ฮุนตระกูล ผมเป็นคนเห่อ “คนเก่ง” (ไม่ใช่คนดัง) จึงรู้สึกดีใจ โมเมคิดว่าเราได้รู้จักกันแล้ว แม้ว่าจะไม่มีใครแนะนำให้รู้จักกันอย่างเป็นระบบและไม่มีการขานชื่อหรือเช็กแฮนด์กันก็ตาม

เสียดายที่ผมไม่ได้จำว่าคืนวันนั้นมีใครบ้าง จำได้แต่ว่าโดยปกติเจ้าประจำส่วนใหญ่ใน “วงสนทนา” เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักเขียน นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ ศิลปินและนักสร้างภาพยนตร์ ตำรวจก็ดูเหมือนจะมีผมคนเดียว

ทุกคนล้วนถือว่าเป็นเพื่อนอากร หรืออากรนับเป็นเพื่อน

หลังจากนั้นไม่นาน (เข้าใจว่าเป็นวันรัฐธรรมนูญ) ที่บริเวณด้านหน้าอาคารสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ผมปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจอยู่ “อาจารย์” เดินผ่านมาเป็นกลุ่มราว 4 หรือ 5 คน ด้วยความดีใจ ไม่ทันคิดว่าเราไม่สนิทกันมาก่อน ผมผลีผลามเดินเข้าไปทักโดยวันทยหัตถ์ทำความเคารพในฐานะท่านเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่ตัวเองอายุมากกว่า (แถมเป็นรุ่นพี่ในสถานศึกษาเดียวกันด้วย)

ท่านหันมาทางผมแวบหนึ่งอย่าง “ไม่ได้มอง” หรืออย่างไม่เห็น หรืออย่างไม่สนใจ ผมตกอยู่ในอาการ “เงิบ”

(ขอขอบคุณท่านผู้บัญญัติคำนี้มาให้ใช้ เป็นคำเดียวที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุด)

นึกถึงเหตุการณ์ทำนองนี้ ณ สถานที่เดียวกันนี้ ผมเคยเข้าไปทักใครต่อใครที่คิดว่าเป็นพวกเดียวกันเสมอ เช่น อาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แห่งมติชน หรือท่านปลัดอารีย์ วงศ์อารยะ แห่งมหาดไทย ซึ่งต่าง “บุกเดี่ยว” มาหาความจริงของแท้เช่นเดียวกับผม เพราะพิกัดตรงนี้เป็นจุดของการประท้วงและปะทะกันทางความคิดและทางการเมืองเสมอ

ผมหงุดหงิดกับความเงิบอยู่หลายวัน กว่าจะคิดได้ว่าน่าจะเป็นเพราะผมแต่งเครื่องแบบนั่นเอง ก็คงจะอีหรอบเดียวกับเมื่อครั้งที่เข้าเวรติดตาม อ.ตร.ประจวบนั่นแหละ

งานเลี้ยง “วันนักเขียน” หนหนึ่ง ผมนั่งโต๊ะกลมใกล้ประตูทางออกของห้องจัดเลี้ยงและใกล้เวที เพื่อนนักเขียนร่วมโต๊ะส่วนใหญ่เป็นนักเขียนอาวุโสและเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงรวมทั้งเพื่อนศิลปิน “อาจารย์” ยืนคุยกับกลุ่มนักเขียนอีกกลุ่มหนึ่งใกล้พนักเก้าอี้ที่ผมนั่งอยู่ สักครู่ใหญ่ๆ ก็หายหน้าไป

ตลอดเวลาครู่ใหญ่ๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น “อาจารย์” ไม่ได้ทักทายใครสักคนในโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ ทำให้ผมต้อง “อ่านใหม่” ถึงอุปนิสัยและสถานภาพของท่านอาจารย์… ท่านใส่ใจเฉพาะคนที่ท่านสนใจเท่านั้น

เป็นเหตุปกติธรรมดาของมนุษย์ที่แม้จะเป็นพวกเดียวกันแต่ไม่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเป็นร่วมตายกันมา

ถ้าไม่เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็ควรอ่านคำสอนของท่านอาจาร์ชา สุภัทโท แห่งหนองป่าพง กับคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส แห่งสวนโมกข์

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับเผชิญกับคนพันธุ์นี้ก็คือ อย่าสนใจและใส่ใจท่าน

กล่าวถึงเรื่องความไม่เข้ากันกับเครื่องแบบตำรวจของผม ผมเคยเขียนเล่าในเรื่อง “หุ่นไม่ให้” ในคอลัมน์นี้ เมื่อครั้งที่ผมทำหน้าที่ผู้บังคับกองพัน ในพิธีสวนสนาม ของ บช.น. ปี 2535 (ฉบับที่ 1708 /พฤษภาคม 2556)

เนื้อหาส่วนหนึ่ง “แซว” รัฐมนตรีมหาดไทยในยุคนั้น แต่ส่วนหลักคือผมรับสภาพความหุ่นไม่ให้ของตัวเอง

มาถึงวันนี้ ผมนึกถึงสภาพหุ่นไม่ให้ได้อีกเรื่องหนึ่งเมื่อครั้งที่เป็น สวป.สน.ตลิ่งชัน สมัยที่กำลังเริ่มสร้างถนนสายปิ่นเกล้า-พุทธมฌฑล

เพื่อนนักสร้างภาพยนตร์แจ้งขอเข้าไปถ่ายทำในเขตท้องที่ ด้วยความเป็นห่วงเพื่อน พอว่างผมก็ขับรถตามเข้าไปเยี่ยมดูที่กองถ่าย หลังจากนั้นไม่นานวันเพื่อนนักสร้างก็มาเล่าให้ฟังว่า เขาถูกผู้ร่วมงานที่ไม่รู้จักผมตำหนิ

“เลือกผู้แสดงไม่เหมาะสม เอาคนตัวเล็กนิดเดียวมาเล่นเป็นตำรวจ”

นี่น่าจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมพยายามวางตัวราวกับเป็นคนสองบุคลิก คือ ทั้งชอบอวดและเก็บตัว เป็นทั้งตำรวจและเป็นนักเขียน

แม้ไม่ได้ภาคภูมิใจมากมาย แต่ก็ไม่ได้เสียใจแม้แต่น้อย