E-DUANG : การแตกแขนงของ “อยู่ยาว”  

บทสรุปเมื่อเดือนกันยายน 2558 จากปาก นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ จากกรณีคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

กำลังกลายเป็นความรู้สึกและอารมณ์”ร่วม”ที่ดำรงอยู่ภายใน สังคมไทยอย่างจำหลักหนักแน่น

ไม่เพียงดูจากที่มีความพยายาม”เลื่อน”การเลือกตั้ง

ไม่เพียงดูจากที่มีความพยายามออกมาปกป้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในท่วงทำนองแบบ

รัก”นายกฯ”ก็ต้องรัก”รองนายกฯ”ด้วย

หากแม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังออกมายืนยัน ว่าจะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ

นี่ย่อมดำเนินไปพร้อมกับหลักการ”อยู่ยาว”

 

น่าแปลกที่ความรู้สึกอยากให้ “คสช.อยู่ยาว” ไม่เพียงแต่เป็นเจตจำนงโดยพื้นฐานของ “คสช.”

หากแม้กระทั่งภายในสังคมก็เริ่มคิดในแนวทางนี้

สัมผัสได้จากที่หลายคนในพรรคเพื่อไทย หลายคนในพรรค ประชาธิปัตย์ ต่างออกมาพูดด้วยประโยคนี้แม้จะเป็นการพูดในแบบประชดประเทียด เสียดสี

แต่ก็เป็นการประชดประเทียดและเสียดสีด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะเป็นการ “อยู่ยาว” ของ “คสช”

ไม่ว่าจะเป็นการ “อยู่ยาว” ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เป็นการมองอย่างตรงกันข้าม

มิได้มองอย่างเห็นเป็น “ผลดี” หากมองอย่างเห็นเป็น”ผลเสีย” มากกว่า

 

ไม่มีใครตอบได้ว่าการ “อยู่ยาว” ของ 1 คสช. และ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นผลดีหรือเป็นผลเสีย

เพราะ”เวลา”จะเป็น “คำตอบ”

เวลาจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อาจเป็นคำตอบ 1

แต่จำเป็นต้องดูในเดือนมิถุนายน จำเป็นต้องดูในเดือนพฤศจิกายน ว่าจะเป็นอย่างไร

“ตุลาการ”ที่เที่ยงธรรมที่สุดคือ”เวลา”