แมลงวันในไร่ส้ม / ข่าวจากสมาคมนักข่าวฯ ผลสอบ “บิ๊กสื่อ-จนท.หญิง” สรุปปัญหา “การตีความ”

รศ.ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวจากสมาคมนักข่าวฯ

ผลสอบ “บิ๊กสื่อ-จนท.หญิง” สรุปปัญหา “การตีความ”

หลังจากเป็นข่าวเกรียวกราวมาพักใหญ่ จากกรณีคนดังวงการสื่อ ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่หญิงในหน่วยงานเดียวกัน

วันที่ 20 กันยายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตั้งอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ 6 คน ประกอบด้วย

1. รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย

2. รศ.ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย

3. ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม

4. น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

5. นายนคร ศรีสุโข นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

6.นายทัศนัย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยมี นายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหาร และเลขาธิการ เป็นเลขานุการ และ น.ส.สุมนชยา จึงเจริญศิลป์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีกรอบดำเนินการใน 90 วัน

วันที่ 29 มกราคม คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยผลการพิจารณาว่า คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ได้ส่งรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงให้แก่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560

ระบุว่า ได้มีการประชุม และพบผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 11 คน รวมทั้งฝ่ายชายและหญิงที่ถูกอ้างถึง การประชุมและการพบกับผู้ให้ข้อมูลทุกครั้งเป็นไปในทางลับ

สมาคมนักข่าวฯ ได้เปิดโอกาสให้ยื่นข้อมูลกับสมาคมนักข่าวฯ โดยตรง หรือผ่านตู้ ป.ณ. แต่ไม่ปรากฏผู้ยื่นข้อมูลใดๆ จากช่องทางดังกล่าว และไม่ปรากฏผู้แสดงความจำนงจะร้องทุกข์ต่อสมาคม

คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ตั้งประเด็นพิจารณา ได้แก่ 1.การกล่าวอ้างว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในที่ทำงาน 2.การสื่อสารการใช้สังคมออนไลน์ในการแพร่กระจายประเด็นและการนำเสนอของสื่อหลัก 3.ข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุมคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อต่อประเด็นนี้

คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ได้พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการมีมติดังต่อไปนี้

ในเรื่องคุกคามทางเพศนั้น มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานของอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่ระบุว่ามีองค์กรข่าวแห่งหนึ่งที่บุคลากรทำงานด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม

เมื่อยามสนทนากันหรือทำงานร่วมกันมีการหยอกล้อกันเล่น มีการถูกเนื้อต้องตัวกันบ้างตามประสาคนที่ใกล้ชิด

แต่ในช่วงกลางปี 2560 มีเหตุการณ์ระหว่างบุคคลสองคน บุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังให้เคารพต่อผู้ใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา

จึงดูแลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม ให้ความไว้วางใจ เป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะตีความเข้าข้างตนเองของอีกฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ

เพราะต่างตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน

ต่อมาได้มีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและขอโทษต่อกัน ซึ่งท้ายที่สุด ฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้น ต่อมามีบุคคลที่ 3 นำเรื่องราวที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้ง 2 ฝ่าย

โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่าไม่ติดใจที่จะเอาความต่อกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ทั้งยังกังวลแทนอีกฝ่ายจากการได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่ได้รับจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นต่อมา

นั่นคือข้อสรุปในประเด็นเรื่องคุกคามทางเพศ

อีกประเด็นอื่นที่ตั้งมาพิจารณา คือ การกระจายข่าวทางออนไลน์ มีความเห็นว่า ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่ใช้การสื่อสารเชิงปรึกษาหารือ หรือการสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอย่างเป็นทางการหรืออย่างไม่เป็นทางการ

แต่กลับใช้วิธีการสอบสวนเรื่องราวหรือเหตุการณ์อย่างไม่ครบถ้วนรอบด้าน แล้วสื่อสารความเห็นสู่สาธารณะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

เป็นเหตุให้เกิดการขยายเรื่องราวจนเกินเลยไปกว่าข้อเท็จจริงมาก

ทั้งในมิติความสัมพันธ์และพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ

การสื่อสารของสื่อหลักพบว่า ส่วนใหญ่ใช้ภาษาที่หวือหวา โดยการเสนอข่าวเชิงกล่าวหาตัดสินพบมากที่สุดในสื่อเว็บไซต์ รองลงมาพบบ้างในสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน ขณะที่สื่อโทรทัศน์มีความระมัดระวังในการใช้ภาษา

ส่วนข้อ 3 ในเรื่องข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อ

สมาคมเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่ว่า บุคลากรวิชาชีพสื่อ ต้องมีความเชื่อมั่นในกลไกการกำกับดูแลกันเอง และมีวิถีปฏิบัติต่อกลไกอย่างเป็นระบบ รวดเร็วทันกาลและด้วยความเสมอภาค ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะมีตำแหน่งหน้าที่ใด

ภายใต้หลักการเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่ากระบวนการสอบสวนและพิจารณาข้อเท็จจริงจะเป็นที่สิ้นสุด โดยเฉพาะไม่พึงทำการสื่อสารโดยตรง หรือโดยนัยทางพื้นที่สาธารณะอย่างขาดข้อเท็จจริงรอบด้านหรืออย่างต่อเติม และตัดสิน อันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในวิชาชีพ

ขณะที่องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ จำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพในสิทธิแห่งตัวตนและร่างกาย โดยเฉพาะในมิติของความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ ทั้งในพฤติกรรมส่วนตัว ทั้งในการสื่อสารในพื้นที่ส่วนตัว

เสนอให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกันพัฒนามาตรการหรือแนวทางปฏิบัติในทางจริยธรรม เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในทางความสัมพันธ์ในองค์กรวิชาชีพสื่อ การทำหน้าที่ของสื่อเพื่อนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางเพศอย่างระมัดระวัง

การนำข้อมูลจากสื่อออนไลน์ไปนำเสนอทางสื่อหลัก โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์เปิดประเด็นหรือสร้างกระแส แล้วเชื่อมโยงหรือนำไปสู่การผลิตซ้ำในสื่อหลัก ทำให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของบุคคลและองค์กรวิชาชีพ

คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ เห็นชอบกับข้อสรุปดังกล่าว จะส่งผลสรุปและข้อเสนอแนะของอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ดำเนินการตามความเหมาะสม

นั่นคือใจความโดยสรุปของผลสอบ ที่สมาคมนักข่าวฯ ลงมติเห็นชอบแล้ว

ส่วนจะยุติข้อสงสัยของมวลสมาชิกสมาคมได้แค่ไหนอย่างไร หรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่