เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์ / สุภาพบุรุษลูกสักหลาด

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

สุภาพบุรุษลูกสักหลาด

หน้าจอทีวีที่ปรากฏอยู่หน้าผมตอนนี้ คือ ภาพของการชูถ้วยแชมป์ของนักเทนนิสที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตำนานตลอดกาล

การได้แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น ครั้งนี้ของ “โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์” นับเป็นแชมป์ในระดับแกรนด์สแลมที่ 20 ในชีวิตของเขา และกลับมาเป็นมือ 1 ของโลกอีกครั้ง

โอ้พระเจ้าช่วยกล้วยทอด นี่ยอดมนุษย์หรืออย่างไรถึงทำได้อย่างนี้

ในประวัติการต่อสู้บนคอร์ตเทนนิส มีคนทำสถิติแชมป์แกรนด์สแลมที่ใกล้เคียงมากที่สุดก็คือคู่ปรับตลอดกาลของเขาเอง “ราฟาเอล นาดาล” ที่ทำได้ 16 รายการ

แต่ตอนนี้เฟดเดอเรอร์ได้ถีบไกลไปอีก 4 รายการ และน่าทึ่งว่าในวัย 37 ปีอย่างเขา และฝีมือการเล่นที่เฉียบคมเช่นนี้ ยังมีโอกาสอีกที่จะทำสถิติมากขึ้น

นอกเหนือจาก “ความสำเร็จ” ที่ปรากฏแก่หูและตาของแฟนๆ เทนนิสของเฟดเดอเรอร์อย่างที่เราทราบดีแล้วนั้น ปัจจัยอื่นที่ทำให้เขาไม่ได้เป็นแค่นักกีฬาที่เก่งฉกาจเท่านั้น แต่ยังเป็นขวัญใจของแฟนนักเทนนิสทั่วโลกด้วย ก็มาจากปัจจัยอีก 2 อย่างด้วย

นั่นก็คือ “การยืนระยะ” และ “การวางตัว”

พูดถึง “การยืนระยะ” ก่อน เฟดเดอเรอร์เข้าสู่การเป็นนักเทนนิสอาชีพเมื่อปี 1998 นั่นเท่ากับว่าเขาได้กระโดดโลดเต้นแข่งขันในคอร์ตต่างๆ ทั่วโลกมาแล้วร่วม 20 ปี และดูจากสภาพร่างกายตอนนี้แล้ว เชื่อว่าจะยังตีเทนนิสได้อีกนาน

เขาผ่านความรุ่งเรืองและต้องต่อสู้กับสุดยอดนักเทนนิสในช่วงนั้นมาแล้วหลายรุ่น นับแต่ช่วงเริ่มต้นในอาชีพของเขา ก็ต้องต่อกรกับ “อังเดร อากัสซี่” จนมาถึงยุค “พีต แซมพราส” แล้วก็มารุ่งเรืองขับเขี่ยวกันกับ “ราฟาเอล นาดาล”

เมื่อนาดาลมีอาการบาดเจ็บ จนมืออันดับโลกตกลง แต่เฟดเดอเรอร์ก็ยังยืนอยู่เพื่อปะทะกับนักเทนนิสรุ่นหลังอย่าง “โนวัก โยโควิก” จนถึง “แอนดี้ เมอร์เรย์”

เชื่อไหมว่าในขณะที่เฟดเดอเรอร์ยังยืนโต้กับคู่ต่อสู้ได้อยู่ โยโควิกกับเมอร์เรย์ ได้พากันบาดเจ็บเป็นระยะ และด้วยวัย 37 ปีที่ว่า เขาเพิ่งคว้าแกรนด์สแลมที่ 20 มาครองได้สำเร็จหลังจากขับเคี่ยวกับ มาริน ซิลิส ถึงห้าเซ็ต ใช้เวลาไปกว่า 3 ชั่วโมง

แสดงถึงการรักษาสภาพร่างกายที่ยอดเยี่ยมของเฟดเดอเรอร์ เพราะเรื่องอาการบาดเจ็บของร่างกายนั้นเป็นยาขมของนักกีฬาทุกประเภท ดังจะเห็นได้จากนักกีฬาดังๆ หลายคนต้องอำลาความรุ่งโรจน์ ชื่อเสียง เงินทองของตนเองลงเพราะเกิดอาการบาดเจ็บนั่นเอง

ไม่ต้องอื่นไกล ดูเจ้าบอล-ภราดร ของไทยเองนี่ก็ได้ หรืออย่าง ไทเกอร์ วู้ด ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

หรือนักฟุตบอลชื่อดังอีกหลายคน ที่แม้จะไม่ถึงกับเลิก แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงหลายเดือนจนบางคนต้องพักนานนับปี

หากใครที่คุ้นเคยกับกีฬาเทนนิสหน่อยคงดูออกว่า ด้วยวิธีการตีของเฟดเดอเรอร์นั้นเป็นการตีที่ไม่หักโหมร่างกายเกินไป เป็นการตีที่เป็นธรรมชาติด้วยสไตล์การตีมือเดียวที่ลื่นไหล ไม่ฝืนร่างกายจนเกิดล้าและบาดเจ็บได้ง่าย เหมือนกับการตีของนาดาล หรือโยโควิก ที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บสูง ซึ่งก็ส่งผลให้เห็นแล้ว

เรียกว่าเฟดเดอเรอร์ใช้ “ทางสายกลาง” ในการตีเทนนิส ไม่ตึงไม่หย่อน ไม่ฝืนไม่เบาเกินไป นั่นคือหลักทางพุทธ ซึ่งเป็นหลักเดียวกับความเป็นธรรมชาติ

และเมื่ออายุมากขึ้น เขาก็เลือกที่จะลงแข่งขันในบางรายการ ไม่ได้โหมลงแข่งแบบโลภมาก แต่เอาแบบพอดีตัวสมกับสภาพร่างกายที่เป็นจริง เรียกว่ากินยาวดีกว่ากินสั้น

ปัจจัยต่อมาคือ “การวางตัว”

นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมีอีโก้สูง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักเอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่สนใจให้เกียรติคนอื่นเท่าที่ควร

แต่เรื่องเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับเฟดเดอเรอร์เลย ความเป็นสุภาพบุรุษในสนามเป็นอย่างไร นอกคอร์ตเขาก็เป็นอย่างนั้น

ในสนามเฟดเดอเรอร์จะให้เกียรติคู่แข่งขันของเขาเสมอ ไม่เคยแสดงกิริยาวาจาใดๆ ที่ก้าวร้าวดูถูกหรือเหยียดหยามเลย หรือแม้แต่ตอนโต้แย้งกับกรรมการก็เป็นไปด้วยความเหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์เกินเหตุเหมือนนักเทนนิสบางคน

นอกสนาม ความสุภาพของเขายังตามมาไม่ขาด เขาจะให้เกียรติแก่แฟนๆ เทนนิส สื่อมวลชนเสมอ การวางตัวของเขาได้รับความชื่นชมจากคนรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว

เฟดเดอเรอร์แต่งงานกับอดีตนักเทนนิสที่กลายมาเป็นผู้จัดการส่วนตัวและภรรยาคนเดียวของเขาคือ “เมอร์ก้า” มีครอบครัวที่อบอุ่นด้วยลูก 4 คน

ตลอดเวลาที่ครองชีวิตคู่กัน เฟดเดอเรอร์ไม่เคยมีข่าวคราวเสียหายเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงและครอบครัวเลย

ต่างกับเพื่อนสนิทของเขา “ไทเกอร์ วู้ด” ที่ครอบครัวพัง โดนเมียหย่า เพราะนอกใจมีหญิงอื่น จากนั้นผลงานด้านกีฬาก็ตกต่ำลงพร้อมอาการบาดเจ็บ

เรื่องนี้ส่งผลให้เขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างต่อเนื่องจากเจ้าของสินค้าต่างๆ ที่ยินดีเป็นสปอนเซอร์ให้กับเขา เพราะชื่อเสียงที่ดีของเขาช่วยให้ภาพลักษณ์สินค้าดีตามไปด้วย

ดังจะเห็นได้จากสปอนเซอร์นาฬิกา “โรเล็กซ์” และชุดกีฬา “ไนกี้” ที่อยู่คู่กับเขามายาวนาน

ไม่เท่านั้น เขายังเป็นนักกีฬาใจบุญ โดยตั้งมูลนิธิของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ต่างๆ อย่างเด็กพิการในแอฟริกาใต้ หรือผู้ประสบภัยจากสึนามิ

การได้แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น ครั้งนี้ เขายังได้กล่าวยกเครดิตให้กับทีมงานของเขาด้วยที่ช่วยกันวางแผนการซ้อม การรักษาดูแลร่างกาย และการต่อสู้กับคู่แข่งแต่ละแมตช์อย่างดี จนทำให้เขาประสบผลสำเร็จได้

อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ยกย่องว่าเป็นสุภาพบุรุษลูกสักหลาดได้ยังไง

ถ้าดูตัวอย่างจากเขา ผมว่าไม่แต่นักกีฬาเท่านั้น แต่คนทำงานทุกสาขาก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่ต่างกัน แน่นอนที่การทำงานใดๆ ของคุณต้องเกิด “ความสำเร็จ” ขึ้นมาก่อน ต้องมีผลงานอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับ

เท่านั้นไม่พอ “การยืนระยะ” ก็สำคัญ นั่นคือการรู้จักเรียนรู้ตัวเองเพื่อให้เรามีความพร้อมต่อการทำงานสม่ำเสมอ ไม่โหมงานหนักเกินไปจนอายุการใช้งานสั้น รู้จักยืดหยุ่นปรับตัวกับสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ และต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ เพื่อให้เรายืนระยะในสนามการทำงานได้นานๆ ไม่ตกยุค

ส่วน “การวางตัว” ก็เช่นกัน เพราะคนเก่งที่อีโก้ ไม่ให้เกียรติคนอื่น เอาตัวเองเป็นใหญ่ ก็มักจะไม่มีใครเอา ไม่มีใครอยากส่งเสริม อยากทำงานด้วย และหากมีปัญหาเรื่องครอบครัวขึ้นมาก็พังเมื่อนั้น ดูอย่าง ผอ.นักรัก กับคนรัก ม.2 เป็นตัวอย่าง

มาเป็น “เฟดเดอเรอร์” ในโลกของแต่ละคนกันดีไหม