อภิญญ ตะวันออก : แห่งคำสารภาพ และพันธนาการ

ราว 3 ปีก่อน ฉันคงได้พบเขา-ฟร็องซัวส์ บิโซต์ (Francois Bizot) ที่ กทม. อย่างบังเอิญ แต่ตอนนั้น ฉันไม่ทันสังเกตว่าเขาได้มาที่ห้องสมุดแห่งหนึ่ง นั่งอยู่ตรงเก้าอี้โซฟาตัวนั้น ซึ่งอยู่ด้านหลังของฉันถัดไป

จนราวไม่กี่สัปดาห์ก่อน พอฉันนึกถึงฟร็องซัวส์ ป็องโชด (Francois Pontchaud) หรือบารัง สะพานร้อน ชื่อสกุลตามแบบเขมรที่เขาปรารถนาจะใช้มัน หากสมเด็จฮุน เซน จะอนุญาตให้ถือสัญชาติแขฺมร์ แต่นั่นแหละจนเข้าปลายไม้ใกล้ฝั่งแล้ว แต่คุณพ่อบารัง สะพานร้อนก็ยังไม่ได้สัญชาติเขมรดังปรารถนา

และพบว่า มันอาจจะเป็นคุณสมบัติพิเศษของบาทหลวงคาทอลิก กล่าวคือ มีทั้งความบู๊ บุ๋นแฝงด้วยอารมณ์ขันและความกรุณาอย่างที่ฉันพบจากศาสนาจารย์-คุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร ผู้ล่วงลับ ตามที่ทราบ นอกจากมีวีรกรรมบู๊กับคอมมิวนิสต์แถวอีสานใต้แล้ว คุณพ่อยังมีโครงการช่วยเหลือด้านมนุษย์ที่พระตะบอง-พนมเปญ-รัตนคีรีที่ซึ่งฉันได้มีโอกาสถูกส่งไปทำงานในฐานะอาสาสมัคร

ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้ฉันค่อนข้างจะรื่นรมย์ต่อสำนวนคำให้การของคุณพ่อสะพานร้อน/ป็องโชด

แม้จะรู้สึกว่า ฉันรู้สึกจืดและเฉื่อยชาต่อคตินิยมแบบฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และการให้คุณค่าต่อบุคคลที่คุกรุ่นไปด้วยอุดมการณ์นำพาเหล่านั้น ซึ่งก็น่าแปลกใจที่คุณพ่อบารัง ยังมีความยึดมั่นต่อความเชื่อเช่นใด ก็ยังคงเช่นนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้มันได้อยู่ในคำให้การต่อศาลเขมรแดง และจากหนังสือ Cambodia : Year Zero/กัมพูชาแห่งปีศูนย์ (1977)

ซึ่งเมื่อไปให้การที่ศาลแล้ว พออีกปีถัดมา คุณพ่อบารัง สะพานร้อน ก็ผุดหนังสือออกมาอีกเล่มหนึ่ง คือ L”impertinent du Cambodge/กัมพูชาอหังการ์ (1913)

สมกับเป็นนักเขียนสายพันธุ์นักรบ นักบวชและนักเขียน อดีตหน่วยทหารพลร่มในสมรภูมิแอลจีเรียถึง 3 ปีก่อนจะตัดสินใจอบรมเป็นมิชชันนารีเพื่อประจำการตามภารกิจแห่งโพ้นของปารีสสมาคม ตอนมาถึงพนมเปญนั้น ป็องโชดเพิ่งถือบวชและอายุเพียงผ่านเบญจเพส

เป็นนักบวชที่รักการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและไม่นิยมระบบพวกพ้อง มีความสนใจเป็นนักอ่านและความเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในหมู่คนที่ป็องโชดชมชอบ คือนักการเมืองหัวก้าวหน้าคือฮู นิม-ฮู ยุน และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ L”Observateur อย่างเขียว สัมพัน

 

พลันภาพของนักมานุษยวิทยาวัย 25 ปีแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศที่ชื่อ ฟร็องซัวส์ บิโซต์ ก็ผ่านซ้อนเข้ามาและขังฉันไว้ในความคิด เขามาถึงกัมพูชาใน ค.ศ.1968 และเริ่มศึกษาพุทธวิทยาเป็นด่านแรก ก่อนที่จะถูกส่งไปทำงานที่กรุกองการอนุรักษ์เมืองพระนคร ซึ่งอยู่ในเมืองเสียมเรียบ เนื่องจากขณะนั้นกัมพูชาในบางเขตเริ่มถูกยึดครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์

อาจจะกล่าวได้ว่า บิโซต์นี้เองที่ทำให้ฉันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก สำหรับนักมานุษยวิทยาผู้เผชิญหน้ากับหัวหน้าแคมป์เอ็ม-13 (อัลลองแวง) ที่ชื่อ “ดุช” หรือเก็ง เก็ก เอียว ในปี 1971/2514

และนี่คือการชำระสะสางให้แก่ตัวฉัน คนที่ไม่เคยอ่าน ฟังหรือแตะต้องใดๆ ในความเป็นไปเกี่ยวกับ “ดุช” อดีตผู้คุมนักโทษที่คุกโตลสแลงและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตหรือ 35 ปีโดยศาลเขมรแดง และฉันเองที่ได้จำคุกเขาไปล่วงหน้า จากความอคติที่มีข้อมูลนานาอันเกี่ยวกับอาชญากรคนนี้

ที่ไม่เป็นธรรม คือ ฉันน่ะ อ่านเกือบจะทุกตัวอักษรในวิทยานิพนธ์ของเขียว สัมพัน ตามมาด้วยงานในยุคต่อมา รวมทั้ง L”Observateur ที่แม้จะไม่เคยอ่าน แต่ยังอุตส่าห์มโนไปว่า น่าจะดีงามในประเทศเขมร เช่นเดียวกับวารสาร “ต้องปฏิวัติ” และงานชุดวรรณกรรมชุดหนึ่งของนวน เจีย ที่ฉันไม่เคยอ่าน แต่ยังให้เครดิตในแง่งามของความคิด

ส่วนดุช-เก็ง เก็ก เอียว น่ะรึ ฉันคิดว่าเขาไม่มีอะไรเลยที่จะพิสูจน์ตัวเองแต่หนหลัง นอกจากครูคณิตศาสตร์ผู้ใช้แต่ทักษะอันโหดร้ายต่อนักโทษโตลสแลงทุกคน

 

กระทั่งเมื่อรำลึกถึงบิโซต์ นั่นเองที่ความสัมพันธ์อันขันขื่นระหว่างเขากับดุชในปี 1971 จากกรณีที่เขาถูกจับตัวและกล่าวหาว่าเป็นซีไอเอ

บิโซต์ถูกส่งไปอัลลองแวงตลอด 3 เดือนเต็มที่เขาถูกสอบสวนโดยชายหนุ่มรุ่นคราวเดียวกันคนหนึ่ง

ดุชทำรายงาน “ขมัง” ฝรั่งชนคนนี้ไปยังเบื้องบน และนั่นทำให้บิโซต์ได้อิสรภาพปลายปีเดียวกัน แต่เพื่อนร่วมงานชาวเขมรอีก 2 คนถูกสังหาร

กรณีดังกล่าวอาจเป็นเพียงกลุ่มคอมมิวนิสต์ทั่วไป จนเมื่อบทสรุปของยุคเขมรแดงเคลื่อนเข้ามาปกครองประเทศ โดยทั้ง ฟร็องซัวส์ ป็องโชด, ฟร็องซัวส์ บิโซต์ และทุกคนในสถานทูตฝรั่งเศส ต่างถูกบังคับให้ออกจากกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม 1975/2518

บารังทั้งสองต่างบันทึกความทรงจำของตน สำหรับบิโซต์ เขาเขียนเป็นบันทึกตอนหนึ่งใน Le Portail/ทางออก (1977) และถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Gate (2014) ซึ่งมุ่งจะตีแผ่ความโหดร้ายเลวทรามของกลุ่มเขมรแดง ในเขตกักกันของบิโซต์และหลังเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ

นำมาด้วยการไต่สวนในฐานะที่ดุชกลายเป็นผู้คุมนักโทษคุก การทรมาน ความอดอยาก และการสังหารนักโทษจำนวนนับหมื่นที่ต่างสังเวยชีวิตหลังจากเขียนคำสารภาพ

“ผมจะทำอะไรหรือไม่นั้น เป็นไปตามหลักฐาน ตอนปี 1971 ผมก็ยึดหลักการนี้ ที่ผมจะต้องอบรมนักโทษ ถ้าหากใครถามผมว่า คำสารภาพอันไหนจริงอันไหนเท็จ ผมไม่รู้หรอก ท่านต้องวิเคราะห์เอง”

น่าเสียดายที่ตัดประเด็นอันลุ่มลึกระหว่างนักโทษและผู้คุม ในภายหลังที่พวกเขาต่างตกผลึกความคิด

ในฐานะนักวิชาการ ฟร็องซัวส์ บิโซต์ ได้ก้าวผ่านความเป็นนักการศึกษา ที่พ้นไปจากอารมณ์และวิสัยอันเกลียดชัง ดังภายหลังจากที่เขาได้พบกับดุชในห้วงต่อมา ในความเป็นมิตรแห่งการแลกเปลี่ยนความคิด อีกความเป็นมิตรไมตรีที่ผูกติดไว้อย่างกลางๆ ตามข้อเท็จจริง

และนั่นคือสิ่งที่ ฟร็องซัวส์ บิโซต์ ให้การต่อศาล / 9 เมษายน 2552

ความหมายในเชิงมิตรภาพ การให้อภัยและความเป็นมนุษย์ที่พวกเขามอบต่อกัน ทำให้ภาพของนักมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ถูกเติมเต็มสมบูรณ์ในเชิงวิชาการ

ส่วนดุชนั้น ก็ปล่อยให้กรณีไต่สวนในศาลเขมรแดง เป็นเครื่องมือในการขูดเกลาจริตวิญญาณโดยกระบวนการหนึ่งซึ่งเรียกว่า การชำระสะสาง

แต่ละครั้งๆ ดูเหมือนจะทำให้เขาพบพานกับความจริงที่เจ็บปวด ขณะเดียวกัน มันคือส่วนช่วยคลี่คลายความคิด สติปัญญา และลักษณะบางประการในการเปลี่ยนแปลงตนเอง

 

สําหรับความเป็นมนุษย์ของดุชที่บิโซต์กล่าวว่าเขาเห็นมันจากแคมป์ M-13 เขตอัลลองแวง ทว่า บัดนี้มันได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเป็นดุชคนใหม่ที่ศาลเขมรแดง

ดูเหมือนว่า นักโทษแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศคนนี้ จะเรียนรู้วิธีแห่งการชำระสะสางจิตใจตนเองอย่างเป็นลำดับขั้น

ถ้าย้อนกลับไปตามที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยพัฒนาความก้าวหน้าของตน จากครูสอนคณิตศาสตร์ หัวหน้าเขต M-13 (อัลลองแวง) ผู้คุมนักโทษ T-31 และ S-21/โตลสแลง (พนมเปญ) ราวกับจาก “อหิงสกะ” ไปเป็น “องคุลิมาล” ตามทักษะต่างๆ ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้น อย่างสุดโต่ง เดียงสา สู่ผู้มีภาวะเข้าใจทางโลก

“ความจริง คำว่า ซีไอเอ เคจีบีอะไรนั่น ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการกำจัดกลุ่มที่เป็นอุปสรรคพวกตนเท่านั้น เพราะไม่ว่าคำสารภาพจะจริงหรือไม่ เพราะมันไม่ได้ถูกนำมามาพิจารณาเลย” (8-9 มิถุนายน 2559)

และว่า บทลงโทษอุกฤษฏ์ของพรรค ที่ห้ามการตั้งข้อสงสัยใดๆ เช่น ต่อกรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างวอน เวต ที่แม้จะถูกสังหารไปแล้ว กระนั้น ก็ยังเรียกตัวลูกชายซึ่งศึกษาอยู่ในประเทศจีนมา “กำจัด” ทิ้งอีกรอบหนึ่ง

เว้นแต่ หมอฟัน อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จากปารีสคนหนึ่ง ซึ่งบองพตสั่งให้ปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข (ยิ้ม)

“พี่บองเขาปวดฟัน”

ดุชเล่าเอื่อยๆ ไม่เพิ่มเติม ตัดต่อ และตัดพ้อต่อสิ่งใด ราวกับคำบอกเล่านั้น ในบุคลิกภาพเยือกเย็น ทแกล้วทกล้า อันต่างไปจากอดีต และทั้งหมดนั้น มันคือการชำระสะสางความผิดของตนเอง

ราวกับว่า ระหว่างทางการไต่สวนอันยาวนานของศาลเขมรแดง (อ.ว.ต.ก.) นั้น บัดนี้เล่าที่นักโทษคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดุช-เก็ง เก็ก เอียว กำลังทบทวนสติอารมณ์ของตนต่อครั้งแล้วครั้งเล่า

ต่อวิธีบีบคั้นทารุณในการเขียน “คำสารภาพ” ของเหยื่อแต่ละรายที่จบลงด้วยความตายทุกคน

และโดยวิธีนั้น มันได้กลายเป็นคำสารภาพที่เขาจะแบกมันติดตัวไปตลอดชีวิต