จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) : อินโดฯ

จรัญ มะลูลีม

การขยายตัวของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อิสลามได้รับการนำเสนอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรมาเลย์ซึ่งครอบคลุมอินโดนีเซียปัจจุบัน มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ภาคใต้ของไทย และฟิลิปปินส์ ผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่มีความต่อเนื่องและซับซ้อน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิสลามเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุด เป็นศาสนาที่มีบทบาทครอบคลุมอยู่ในบางประเทศในภูมิภาคนี้อย่างอินโดนีเซีย

และมาเลเซียและเป็นศาสนาสำคัญของชนกลุ่มน้อยในบางประเทศ อย่างเช่น ไทย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเส้นทางตัดผ่านทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของเอเชียที่วัฒนธรรมจีน ฮินดู อิสลาม และอารยธรรมตะวันตกพบกันและมีปฏิสัมพันธ์กันมามากกว่าร้อยปี

ชื่อของภูมิภาคได้รับการตั้งขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 แต่เดิมรู้จักกันในชื่ออินเดียที่กว้างออกไป (Further India) ซึ่งตรงข้ามกับอนุทวีปอินเดีย (Indian Subcontinent) เป็นดินแดนที่ย่อยลงมารวมเป็น 11 ประเทศ ทั้งดินแดนที่เป็นพื้นที่หลัก ซึ่งเรียกกันว่าคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออินโดจีน และดินแดนบางดินแดนที่เป็นคาบสมุทรทั้งหมด

อินโดจีนหรือผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรวมพม่าหรือเมียนมาร์ทั้งหมดในปัจจุบันและดินแดนสยามซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศไทย รวมทั้งกัมพูชา เวียดนาม และลาวหรือลาว PDR คาบสมุทรมาเลย์ (มาเลย์ นูซันตารา) ซึ่งเป็นโลกมาเลย์ที่หลากหลายหรือทะเลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบไปด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออก และฟิลิปปินส์

การแผ่ขยายตัวของอิสลามไปสู่ส่วนต่างๆ ของชายฝั่งอินเดียเป็นการเริ่มขั้นตอนการขยายตัวไปสู่หมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พ่อค้าอาหรับและนักเดินเรือได้มาเยือนท่าเรือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในฐานะที่เป็นชายฝั่งของคาบสมุทรมลายา สุมาตราตะวันออก และส่วนหนึ่งทางเหนือของชะวาในเวลาต่อมา

อาหารจากประเทศจีนถูกส่งต่อจากเรือของเอเชียไปยังเรือของอาหรับหรืออินเดีย และสินค้าต่างๆ ซึ่งมาไกลจากตะวันตกอย่างโรม (Rome) ได้ถูกบรรทุกลงเรือของชาวจีนที่ว่างเปล่าเพื่อบรรทุกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในศตวรรษที่ 7 และ 8 นักเดินเรือและเรือจากดินแดนที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุมาตราและมลายามีความตื่นตัวอยู่ในการค้าที่มีสินค้าบรรทุกมาทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สินค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างไม้หอมจากป่าฝนของบอร์เนียวและสุมาตราและเครื่องเทศ อย่างเช่น เครื่องเทศต่างๆ รวมทั้งเปลือกไม้ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งใช้ผสมกับขนมหวานหรือน้ำปรุงรสที่มาจากดินแดนไกลโพ้นของคาบสมุทรอินโดนีเซียก็กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญทั้งในประเทศจีนทางตะวันออก อินเดีย และดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนในทางตะวันตก

เส้นทางเชื่อมโยงทางการค้าเป็นการพิสูจน์ถึงการขยายตัวของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งกว่าการขยายตัวของศาสนาพุทธและฮินดู

ด้วยทรรศนะข้างต้นว่าด้วยที่มาของการแผ่ขยายของอิสลามในพื้นที่ของเอเชียและด้วยปัจจัยที่มีส่วนก่อรูปความเจริญเติบโตและการพัฒนาของอิสลามและผู้นับถือศาสนานี้จึงขอเริ่มต้นด้วยอิสลามในรัฐอิสลามแห่งท้องทะเลดังต่อไปนี้

อิสลามในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก มุสลิมอินโดนีเซียอาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่มได้แก่

กลุ่มทันสมัย (Modernist) ซึ่งยึดโยงอยู่กับอิสลามที่เคร่งครัด ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความก้าวหน้าและการศึกษาสมัยใหม่และกลุ่มจารีตนิยม (Traditionalist) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับตัวเข้ากับผู้นำศาสนาของท้องถิ่น

ปัจจุบันชาวมุสลิมในอินโดนีเซียคาดกันว่ามีอยู่ราว 224 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 88 ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 225 ล้านคน คริสต์ศาสนา ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู เป็นศาสนาหลักของชนกลุ่มน้อย

ด้วยจำนวนดังกล่าวอินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก โดยทั่วไปจำนวนมหาศาลของประชากรมุสลิมนี้ได้ทำให้อิสลามและผู้ปฏิบัติตามศาสนาอิสลามเป็นตัวแสดงหลักในหมู่ชาวอินโดนีเซียมุสลิมไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ของผู้นับถือพระเจ้าองค์เดียวหรือการรวมตัวกันทางศาสนา

อิสลามมาถึงอินโดนีเซียในศตวรรษที่ 12 ผ่านพ่อค้าและการพาณิชย์จากคุชาราต (Gujarat) ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งพวกเขาได้เข้ารับศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ต้น

ดังนั้น การเข้ามาของอิสลามในอินโดนีเซียจึงเป็นไปด้วยความสงบผ่านการค้าของผู้คนหลายรุ่นมิได้เข้ามาโดยผ่านการพิชิต การยึดครองอย่างที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางหรือแอฟริกาเหนือ

การเข้ามาโดยแนวทางสันติในหลายศตวรรษเริ่มจากพื้นที่ที่เป็นตลาดรอบๆ ดินแดนที่เป็นชายฝั่งและค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาในดินแดนที่เป็นพื้นดิน การพัฒนาหลักๆ เกิดขึ้นในตอนปลายของราชวงศ์ฮินดูแห่งราชวงศ์มัจปาหิตในชวาตะวันออก เมื่อกษัตริย์ได้เปลี่ยนศาสนาและเมื่ออิทธิพลของศาสนาอิสลามเจริญเติบโตจากศตวรรษที่ 15 เป็นต้นไป

ในการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านและการเผยแผ่ของอิสลามไปสู่สังคมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมที่สูงอยู่แล้วนั้นอิสลามจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้าหาอารยธรรมและวัฒนธรรมดังกล่าวไปด้วย

สิ่งนี้เป็นผลให้ผู้นับถือศาสนาอิสลามต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับดินแดนที่เต็มไปด้วยการนับถือผีสางนางไม้ (อันเป็นศาสนาธรรมชาติที่เกิดในพื้นที่)

ดังนั้น อิสลามในอินโดนีเซียในเวลาหนึ่งจึงรวมพื้นฐานเบื้องต้นหลายประการที่มาจากการผสมผสานเข้าด้วยกัน

ตลอดระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียได้มีความพยายามที่จะทำให้อิสลาม “บริสุทธิ์” ในช่วงเวลาสมัยใหม่ ความพยายามดังกล่าว มีขึ้นโดยองค์การมุฮัมมะดียะฮ์ (Muhammadiyah) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1912 เพื่อให้ความรู้และทำให้ชาวมุสลิมมีความทันสมัย และเอาชนะความเชื่อแบบผีสางนางไม้รวมทั้งจุดประสงค์ที่จะเผชิญหน้าและเอาชนะอาณานิคมดัตช์

คนมุสลิมอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นซุนนี แม้ว่าจะมีคนกลุ่มน้อยที่เป็นชีอะฮ์มุสลิมและมีขบวนการของซูฟี (รหัสยนัย) มุสลิมอยู่ในอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน คนซุนนีและชีอะฮ์มุสลิมจำนวนมากไม่พิจารณาว่าซูฟีเป็นชาวมุสลิมที่แท้จริง เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า ซึ่งถือเป็นการตั้งภาคีและค้านกับความเชื่อของอิสลาม

อะห์มะดียะฮ์เป็นสำนักคิดมุสลิมอีกสำนักคิดหนึ่งในอินโดนีเซียซึ่งผู้นำมุสลิมที่เป็นผู้นำทางศาสนาไม่ให้การยอมรับ โดยสำนักคิดอะห์มะดียะฮ์ถูกมองว่าเป็นเจ้าลัทธิ (cult) มากกว่าการปฏิบัติตามศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ยึดถือสำนักคิดอะห์มะดียะฮ์อยู่ถึง 242 กลุ่มในอินโดนีเซีย