เทศมองไทย : จาก “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ถึง “ทัวร์บังคับช้อป”

ใกล้เทศกาลตรุษจีนของชาวจีน แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อระดับโลกอย่างเมืองไทย ย่อมต้องคาดหวังถึงการหลั่งไหลกันเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนจากประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือเป็นจำนวนมากกันอีกครั้ง

แต่แล้วปัญหาเก่าก็ปรากฏ ปม “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เรื่องที่เคยเป็นปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศเมื่อปีสองปีก่อน กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง

ทอม โทฮาย แห่งเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ เขียนบทความเรื่องนี้ไว้ยาวเหยียดเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา

 

ทอมบอกว่า เมืองไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่อย่างต่อเนื่อง สถิติแสดงให้เห็นว่า ในจำนวนคนต่างชาติมากถึง 34 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเมื่อปี 2016 นั้น เป็นนักท่องเที่ยวจีนเสียมากถึง 8.7 ล้านคน

จำนวน 8.7 ล้านที่ว่านี้ เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้า คือปี 2015 ถึง 10.3 เปอร์เซ็นต์

แน่นอน เหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ดังกล่าวมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องของการ “บูม” ของประชากรชนชั้นกลางในจีน ที่กระตือรือร้นต่อการท่องเที่ยว ผจญภัย เปิดหูเปิดตาต่อโลกกว้าง เรื่อยไปจนถึงภาพยนตร์ดังที่กลายเป็นหนังส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในจีนไปแบบนอกเหนือความคาดหมายอย่าง “ลอสต์ อิน ไทยแลนด์”

แต่ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นปัจจัยสำคัญและอื้อฉาวหนึ่งในหลายปัจจัยนั้น

 

ทัวร์ศูนย์เหรียญ เป็นกิจการท่องเที่ยวที่ลงทุนโดยคนจีน บริหารจัดการโดยคนจีน ในทางหนึ่งกิจการท่องเที่ยวแบบนี้จึงก่อให้เกิดรายได้แก่กิจการท่องเที่ยวและคนไทยที่ทำงานต่อเนื่องอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่น้อย ภาษีก็ไม่ต้องเสีย ดังนั้น รายได้ส่วนใหญ่ไหลกลับไปประเทศจีนแทบทั้งหมด

แต่ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น กิจการทัวร์นอกกฎหมายทำนองนี้หลอกล่อคนจีนด้วย “แพ็กเกจทัวร์ถูกๆ” แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว บรรดานักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็จะถูกกดดันให้ซื้อสารพัดสิ่งจากร้านค้าที่ตกลงกับเจ้าของทัวร์ไว้ก่อนแล้ว การปฏิเสธนั้นไม่ได้ลงเอยด้วยแค่เพียงถูกด่า ถูกโวยวายเท่านั้น ยังถูกลงโทษ “ตัวอย่างเช่น ลูกทัวร์เหล่านั้นอาจไม่ได้รับกุญแจห้องพักกลับมาจากไกด์ทัวร์” เป็นต้น

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ย้ำกับเอสซีเอ็มพี ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยกับทัวร์ศูนย์เหรียญก็คือ กิจการเหล่านี้ “ไม่ยอมให้ชาวจีนเข้าถึงผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ” ซึ่งนั่นหมายถึงการทำลายชื่อเสียงและสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับการท่องเที่ยวไทย

แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังเกิดปรากฏการณ์แบบเดียวกันขึ้นอีกอยู่ดี ทอมระบุว่ามีรายงานข่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนถูกบังคับให้ซื้อ “พระเครื่องนำโชค” ในราคา 20,000 บาทหรือกว่านั้นจากวัดแห่งหนึ่งที่ร่วมมือกับทัวร์จีน

 

กรณีการแบนทัวร์ศูนย์เหรียญ มีข้อถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ประกอบกิจการเอเย่นต์ทัวร์ ประเด็นน่าสนใจในการถกเถียงเรื่องนี้ก็คือ นี่เป็นการทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการทัวร์หรือไม่? ในเมื่อหลายประเทศก็ใช้วิธีการหาเงินอุดหนุนจากร้านค้า เพื่อลดราคาแพ็กเกจทัวร์ลงแบบนี้กันอยู่

ที่สำคัญก็คือ การกำหนดให้เรื่องนี้เป็น “ความผิดอาญา” นั้นส่งผลดีต่อทุกฝ่ายแล้วหรือ มีวิธีการอื่นใดหรือไม่

เช่น ใช้เครื่องมือด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ หรือการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แทนที่ได้หรือไม่?

น่าสนใจเช่นกันที่ ทอม โทฮาย ไม่ได้มีคำตอบชี้ขาดชัดเจนในเรื่องนี้ แต่หยิบยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน “ประเทศอื่นๆ” มาบอกเล่าประกอบเอาไว้

เขาบอกว่า กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยประเทศเดียว แต่ยังเคยเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ฮ่องกง รู้จักกันในชื่อ “ทัวร์บังคับช้อปปิ้ง” ซึ่งนักท่องเที่ยวได้สิทธิพักโรงแรมและรถรับส่ง “ฟรี” หรือ “ราคาถูก” แต่แทนที่จะได้เที่ยว กลับต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถูกบังคับให้ไปยังร้านค้าเป้าหมาย กดดันให้ซื้อสินค้า กลายเป็นเรื่องฉาวจนทางการจีนสั่ง “แบน” ทัวร์ประเภทนี้ไปยังฮ่องกงและมาเก๊า ในเดือนตุลาคม 2013

แต่ถึงอย่างนั้น อีก 2 ปีต่อมาก็เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมาจนได้เมื่อ เหมียว ชุนฉี นักท่องเที่ยวจากมณฑลเฮยหลงเจียง ที่ถูกบังคับให้ช้อปปิ้งในร้านอัญมณีแห่งหนึ่งแถวย่านห่งฮัม ของฮ่องกง แต่ปฏิเสธแล้วเกิดปะทะคารมกันขึ้น ลงเอยด้วยเหยื่อเคราะห์ร้ายถูกชาย 4 คนรุมทำร้าย เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

 

ทอมยังชี้เอาไว้ด้วยว่า แม้จะยังคงมีทัวร์ศูนย์เหรียญล่อหลอกคนจีนมาท่องเที่ยวไทยอยู่ต่อไป แต่มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวจีนเริ่ม “ปฏิเสธ” ทัวร์ทำนองนี้มากขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลของเอสซีเอ็มพี แสดงให้เห็นว่า ในนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังไทยทุกๆ 10 คนมีถึง 6 คนที่จัดว่าเป็น “นักท่องเที่ยวเสรีที่เป็นอิสระ” ซึ่งหลีกเลี่ยงการเดินทางกับกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ แต่จัดการจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พักและจองทัวร์ในประเทศเองผ่านทางสมาร์ตโฟน

เอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวพัทยา บอกกับ ทอม โทฮาย ว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้ในเขตพัทยาเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อปี 2016 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ส่อให้เห็นว่าอีกไม่นาน นักท่องเที่ยวอิสระจากจีนสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดตามความคาดหวังได้ไม่ยากครับ!