ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“พบกันใหม่ เมื่อชาติต้องการ”
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
คำประกาศการสิ้นสุดบทบาทของผู้บัญชาการฝ่ายทหาร
ในการควบคุมการประท้วงในวันที่ 2 มีนาคม 2500
กล่าวนำ
ความพยายามของผู้นำทหารไทยในการมีบทบาททางการเมืองในเงื่อนเวลาที่ “ระบอบรัฐประหาร” สิ้นสุดลง พร้อมกับการเดินทางสู่ “ระบอบเลือกตั้ง” นั้นมักจะตามมาด้วยการจัดตั้ง “พรรคทหาร” ขึ้น การเตรียมการเพื่อรองรับต่อบทบาทในสถานการณ์ใหม่เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากย้อนดูอดีตของประวัติการเมืองไทยก็ยิ่งตอกย้ำถึงปรากฏการณ์เช่นนี้
และถ้าพิจารณาถึงแนวโน้มการเมืองไทยปัจจุบันควบคู่กับบทเรียนจากอดีตแล้ว ก็ยิ่งตอบชัดถึง “ความเป็นไปได้” ที่จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อรองรับบทบาทของผู้นำทหาร คสช. ที่อาจจะต้องผ่องถ่ายตนเองออกจากความเป็น “รัฐบาลรัฐประหาร” ไปสู่การเป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” ตามคำสัญญาที่รัฐบาลทหารจะต้องเดินไปตาม “โรดแม็ป” ที่ได้ประกาศไว้ทั้งต่อสังคมไทยและสังคมระหว่างประเทศ
ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจถึงกำเนิด พัฒนาการ และปัญหาของการจัดตั้ง “พรรคทหาร” ที่เกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทย
ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นทิศทางหลักของการเมืองไทยในอนาคตอย่างแน่นอน และน่าสนใจว่าพรรคนี้จะปรากฏตัวในรูปแบบใดหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว
กำเนิดพรรคทหาร
หากถือเอาการเมืองไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาในฐานะของความเป็น “การเมืองไทยสมัยใหม่” แล้ว อาจกล่าวได้ว่า กำเนิดของพรรคทหารที่อาจจะถือว่าเป็นตัวแทนของการที่ผู้นำทหารไทยอยากมีบทบาทผ่านระบบพรรคการเมืองนั้น คงต้องถือว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในวันที่ 29 กันยายน 2498 คือ “ต้นแบบ” ของพรรคทหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ ความชัดเจนว่าพรรคนี้คือพรรคทหารก็เพราะมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค
ความน่าสนใจของการแข่งขันของพรรคการเมืองในขณะนั้นก็คือ เมื่อผู้นำทหาร-ตำรวจของ “สายราชครู” จัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นนั้น ผู้นำทหารสาย “สี่เสาเทเวศร์” อย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สนับสนุนแนวทางเดียวกันด้วยการจัดตั้ง พรรคสหภูมิ ขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2500 พรรคนี้มี นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสงวน จันทรสาขา น้องชายต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์ เป็นเลขาธิการพรรค
ถ้าพรรคเสรีมนังคศิลามีนโยบายสนับสนุนจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคสหภูมิก็มีนโยบายสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำทหารในยุคนั้นยอมรับกฎกติกาของระบอบการเลือกตั้งว่าการมีอำนาจของพวกเขาจะต้องดำเนินการผ่านระบบพรรคการเมือง ดังนั้น จึงมีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าที่ผู้นำทหารจะ “เล่นการเมือง” ภายใต้กรอบกติกาของการเลือกตั้ง ไม่ใช่การใช้วิธีรัฐประหารแบบเก่า
และคู่แข่งที่สำคัญขณะนั้นก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2498 โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายใหญ่ ศวิตชาติ เป็นเลขาธิการพรรค
การเลือกตั้งสกปรก
การต่อสู้ของพรรคการเมืองในปี 2500 มีความเข้มข้นอย่างมาก เพราะสำหรับจอมพล ป. และกลุ่มราชครูแล้ว ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการ “สืบทอด” อำนาจโดยตรงของคณะรัฐประหาร 2490 จอมพล ป. และกลุ่มแกนนำสายราชครูจึงจำเป็นต้องทำทุกอย่างโดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้
แล้วในที่สุด พรรคเสรีมนังคศิลาก็ชนะ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ “การเลือกตั้งสกปรก” ดังจะเห็นได้ว่ามีการใช้บัตรเลือกตั้งปลอม มีการโกงการนับคะแนน มีการดับไฟนับคะแนน การนับคะแนนล่าช้าไปถึง 2 วัน 2 คืน จนเกิดการชุมนุมและเดินประท้วงขนาดใหญ่จากการนำของบรรดานิสิตนักศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการลดธงลงครึ่งเสาที่หน้าหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น
การประท้วงขยายตัวไปทั่ว นิสิตนักศึกษาและประชาชนเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวใหญ่ขึ้นจนอาจกลายเป็นการประท้วงด้วยความรุนแรงได้
ดังนั้น ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 รัฐบาลจอมพล ป. จึงประกาศภาวะฉุกเฉิน และแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็น “ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร” ให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมบังคับบัญชากองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ เพื่อเข้าควบคุมและและสลายการชุมนุมของประชาชน
แต่จอมพลสฤษดิ์กลับแสดงบทบาทใหม่ด้วยการออกเดินตรวจแนวของกลุ่มผู้ประท้วงด้วยท่าทีที่เป็นมิตร
และทั้งยังสั่งให้ทหารและตำรวจ “ตรึง” แนวประท้วงไว้ โดยกำชับว่า “จะต้องไม่ทำร้ายประชาชน”
ผลจากการแสดงออกเช่นนี้ทำให้ทัศนคติของกลุ่มผู้ประท้วง “เทใจ” ให้จอมพลสฤษดิ์อย่างมาก
ในที่สุด ผู้ชุมนุมก็ยอมที่จะสลายตัว และรัฐบาลประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และประกาศยุบตำแหน่งของจอมพลสฤษดิ์
สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เขากลายเป็น “วีรบุรุษสะพานมัฆวาน” และก่อนจะยุติบทบาทตามคำสั่งของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ไปประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศว่า “พบกันใหม่ เมื่อชาติต้องการ”…
สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ และจอมพลสฤษดิ์ในขณะนั้นได้กลายเป็น “วีรบุรุษทางการเมือง” ของประชาชนไปโดยปริยาย และต้องไม่ลืมว่า ขณะนั้นเขาเป็น “คู่แข่ง” ทางการเมืองคนสำคัญกับการเติบโตของพลตำรวจเอกเผ่า ที่เป็นฐานกำลังหลักของสายราชครู และมีตำรวจเป็นกำลังสำคัญ และการแข่งขันเช่นนี้ถูกแทนด้วยภาพของการต่อสู้ระหว่าง “ทหารบก” กับ “ตำรวจ” หรือในภาพรวมก็คือการแข่งขันระหว่าง “ผู้นำทหาร” กับ “ผู้นำตำรวจ”
อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกตั้งสกปรกจะถูกประท้วงอย่างหนัก แต่เมื่อสถานการณ์สงบลง พรรคเสรีมนังคศิลาได้รับการประกาศว่าเป็น “ผู้ชนะ” การเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล และมีการเสนอชื่อจอมพล ป. ให้เป็นนายกฯ
น่าสังเกตว่าการเสนอชื่อครั้งนี้มิได้มีการประชุมหารือกับสภาผู้แทนราษฎรดังเช่นที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติในทางการเมืองมาแต่เดิม
การสรรหานายกฯ กลายเป็นเพียงการหารือระหว่างประธานสภาและรองประธานสภากับหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ซึ่งแม้จะถูกทักท้วง แต่ในที่สุด จอมพล ป. ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ดูเหมือนการได้รับการยอมรับในเวทีสาธารณะและความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจะลดลงไปอย่างมาก
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลจึงจำต้องแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองจากกองทัพ จอมพลสฤษดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทถนอม กิตติขจร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลตรีประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งระหว่างสายราชครูและสายสี่เสาเทเวศร์ไม่ได้หมดไป… การเมืองดำเนินไปบนความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้นำทหารและผู้นำตำรวจที่คุมกำลังของทั้งสองฝ่าย
เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
การเมืองเช่นนี้เป็นการเมืองที่รอเวลาของการ “แตกหัก” ของกลุ่มผู้นำ ในการต่อสู้ครั้งนี้ยังมีการอาศัยสื่อเป็น “กองเชียร์” โดยต่างฝ่ายต่างจัดตั้งหนังสือพิมพ์ “สารเสรี” และ “ไทรายวัน” ส่วนพลตำรวจเอกเผ่าก็จัดตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ “2500” และ “ไทยรายวัน” เป็นเครื่องมือของการต่อสู้และการโจมตีซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งชุดนี้เดินทางมาถึงจุดสุดท้ายในวันที่ 10 กันยายน 2500 เมื่อนายทหารสายจอมพลสฤษดิ์จำนวน 46 นาย จากสามเหล่าทัพประกาศลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา และในวันเดียวกันนี้เอง จอมพลสฤษดิ์เรียกนายทหารจำนวนหนึ่งมาประชุมด่วนที่กองบัญชาการกองพลที่ 1 และประกาศถึงผลสรุปการประชุมว่ารัฐบาลบริหารไม่มีประสิทธิภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
ต่อมาในวันที่ 12 กันยายน “ห้าเสือ” กองทัพไทย ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ พลโทถนอม พลโทประภาส พลตรีศิริ สิริโยธิน และ พลอากาศโทเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และอีกวันถัดมา จอมพลสฤษดิ์และคณะทหารเรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออก และให้รัฐบาลปลดพลตำรวจเอกเผ่าออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ อีกไม่กี่วันถัดมา มีการเปิดการชุมนุมบนถนนซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และผู้ชุมนุมเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออก และให้ปลดพลตำรวจเอกเผ่า
เมื่อสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองเดินมาถึงจุดนี้ คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าพรรคเสรีมนังคศิลาในฐานะพรรคทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับต่อการสืบทอดอำนาจของผู้นำทั้งจอมพล ป. และสายราชครูนั้น กำลังถึงจุดสิ้นสุดลง เพราะด้านหนึ่งพรรคไม่สามารถประสานความขัดแย้งระหว่างผู้นำที่มีอำนาจในขณะนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป. จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลสฤษดิ์ พลตำรวจเอกเผ่า และอีกด้านหนึ่งพรรคก็ไม่สามารถประนีประนอมผลประโยชน์ของผู้นำเหล่านี้ได้ สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าจึงมีแต่เพียงสถานการณ์แตกหักเท่านั้นเอง
ดังคำกล่าวของสุภาษิตไทยที่ว่า “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้”
การตัดสินใจสุดท้าย
ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยึดอำนาจ แต่ก็เล่ากันว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ฤกษ์ยึดอำนาจเวลา 24.00 น. และจอมพล ป. ได้กำหนดเวลา 03.00 น. ของวันที่ 17 กันยายน 2500 [อ้างใน ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดินประวัติการเมืองไทย, 2543]
และสถานการณ์ความขัดแย้งชุดนี้จบลงด้วยชัยชนะของจอมพลสฤษดิ์ด้วยการตัดสินใจเคลื่อนกำลังยึดอำนาจก่อนในวันที่ 16 กันยายน 2500 ระบอบพิบูลสงครามสิ้นสุดลง และพรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็นพรรคทหารพรรคแรกก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วย
ความฝันของผู้นำทหารที่จะจัดตั้งพรรคและมีบทบาททางการเมืองด้วยการใช้กลไกของระบอบรัฐสภาที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่มีกองทัพเป็น “ผู้กำกับ” ไม่ประสบความสำเร็จ พรรคเสรีมนังคศิลาจึงเป็นบทเรียนแรกของความล้มเหลวของผู้นำทหาร
หลังจากความสำเร็จของรัฐประหาร 2500 แล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมี นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พลโทถนอมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทประภาสเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
ตัวแบบของคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงความเป็น “ครม.นอมินี” ของทหาร เพราะคณะรัฐประหารไม่สามารถเข้ามารับตำแหน่งได้เอง ไม่แตกต่างกับรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2490 ที่มี นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ ที่มีสภาพเป็น “ตัวแทน” ของคณะรัฐประหาร ต่อมาเมื่อผู้นำทหารมองเห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ในระดับหนึ่งแล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็เปิดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง
คาดเดาได้ไม่ยากว่า พรรคสหภูมิซึ่งเป็นพรรคทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงจำนวน ส.ส. 44 คน และพรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งลงแข่งขันด้วย ได้เสียง ส.ส. เพียง 4 คน (จาก 86 คน ของการเลือกตั้งในปี 2500) แม้จะไม่มีแกนนำหลักเหลืออยู่
แต่การบริหารประเทศของผู้นำทหารภายใต้ระบบพรรคการเมืองก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเปลี่ยนให้พลเอกถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ในระยะเวลาเพียง 8 เดือน รัฐบาลก็ประสบปัญหาอย่างมาก อีกทั้งหลังการเลือกตั้งแล้ว กลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจทิ้งพรรคสหภูมิ และจัดตั้ง พรรคชาติสังคม เป็นพรรคทหารใหม่ แต่ในที่สุดผู้นำทหารก็ไม่สามารถควบคุมพรรคและการเมืองในสภาได้ และการเมืองชุดนี้ก็เดินสู่ถนนสายเก่าของการเมืองไทยที่จบลงด้วยการยึดอำนาจ โดยในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ก็ตัดสินใจทำรัฐประหาร พรรคทหารจบลงอีกครั้ง
จากพรรคสหภูมิสู่พรรคชาติสังคม สะท้อนให้เห็นบทเรียนเดิมที่เป็นความล้มเหลวของพรรคทหาร ไม่แตกต่างจากพรรคเสรีมนังคศิลาเดิม จากยุคจอมพล ป. สู่จอมพลถนอมและจอมพลสฤษดิ์ พรรคทหารล้วนเดินไปสู่จุดจบของความล้มเหลวเดียวกันทั้งสิ้น!