นิสิต มก.จมน้ำ-ปอดติดเชื้อ บทเรียนซ้ำซากปัญหารับน้องโหด

แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะออกมาย้ำนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ดูแลการจัดกิจกรรมรับน้อง และคาดโทษ ไล่ตั้งแต่อธิการบดีถึงอาจารย์ที่ดูแลเด็ก หากปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้นิสิต นักศึกษา ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

แต่ก็ไม่วาย ยังเกิดเหตุสลดจากปัญหารับน้องป่าเถื่อนแบบไร้สติ ให้เห็นกันทุกปี ไม่ว่าจะเป็นรับน้องไฟรนก้น ใช้นํ้าตาเทียนหยดตามร่างกายรุ่นน้อง จนเป็นแผลพุพองทั้งตัว หรือปล่อยน้องทิ้งดิ่งจนเลือดคั่งในสมอง แถมซ้อมจนน่วมเอากันถึงขั้นไม่เจ็บหนัก ก็เสียชีวิตกันมาตลอด

เรียกว่า แก้เท่าไรก็ไม่หมด!!!

ปีนี้หวยไปตกที่คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ หลักสูตรขนส่งทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี

โดยรุ่นพี่ให้น้องนิสิตชั้นปีที่ 1 ลงไปล้างตัว และสั่งให้ว่ายน้ำข้ามฝั่งในบ่อที่มีความกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร และลึกประมาณ 3 เมตร หลังเสร็จจากกิจกรรม “พี่พบน้อง” เพื่อเฉลยสายรหัส ซึ่งเป็นกิจกรรมของคณะที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เป็นสาเหตุให้มีนิสิตจมน้ำ ถึงขั้นเข้ารักษาตัวที่ห้องไอซียู จากภาวะปอดติดเชื้อ

งานนี้มหาวิทยาลัยชี้แจงว่า กิจกรรมเฉลยสายรหัส ไม่ใช่การรับน้อง แต่เป็นกิจกรรมของคณะที่จัดขึ้นบริเวณสนามซอฟต์บอล ซึ่งเป็นลานดินกว้าง มีรุ่นพี่และรุ่นน้องประมาณ 400 คนร่วม และหลังจากเสร็จกิจกรรมแล้ว กลุ่มรุ่นน้องและรุ่นพี่ประมาณ 6-7 คน และหนึ่งในนั้นนิสิตที่จมน้ำ ได้เดินไปล้างตัวที่บริเวณบ่อพักน้ำฝน ที่ห่างจากจุดจัดกิจกรรมประมาณ 20-30 เมตร โดยเป็นสระที่ทางมหาวิทยาลัยขุดไว้ เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา เป็นการชะลอน้ำไม่ให้ทะลักเข้ามาท่วมพื้นที่บริเวณด้านล่างและยังใช้ในการทดสอบเรือที่นักศึกษาประดิษฐ์ขึ้นด้วย

และในช่วงที่ล้างตัวอยู่นั้น มีรุ่นพี่ให้น้องปี 1 ว่ายข้ามฝั่งไปหารุ่นพี่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโดยไม่ได้บังคับ ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าน้องมีอาการป่วยไม่สบาย และเกิดจมน้ำ แต่รุ่นพี่ที่เห็นเหตุการณ์ก็ลงไปช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาลชลบุรีเป็นการเร่งด่วน

ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญทั้งของมหาวิทยาลัยที่ต้องกลับไปทบทวนการจัดกิจกรรมที่ดำเนินการกับนิสิต และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำ ที่จะต้องมีอาจารย์ดูแลให้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน ทำให้เกิดอันตราย ขณะที่รุ่นพี่เองคงได้บทเรียนจากความห่าม เล่นสนุกจนไร้สติ ซึ่งคราวนี้โชคยังดี ที่ไม่ถึงขั้นมีใครต้องสูญเสียชีวิตเหมือนที่ผ่านมา เพราะหากเป็นเช่นนั้น แม้มหาวิทยาลัยจะออกมาบอกว่า พร้อมรับผิดชอบมากเท่าไร ก็คงไม่ช่วยให้ใครฟื้นขึ้นมาได้…

นายสืบพงษ์ ม่วงชู รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรงในการแก้ปัญหารับน้องโหด ยอมรับว่า การแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องยาก โดยในส่วนของอุเทนฯ พยายามทำความเข้าใจกับนักศึกษาและศิษย์เก่า ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างมากว่าการจัดกิจกรรมรับน้องควรทำอย่างสร้างสรรค์ และต้องทำให้น้องรัก ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงทำให้น้องเกลียดหรือกลัว

ยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีนักศึกษาบางกลุ่ม ยึดติดกับการรับน้องรูปแบบเดิม ที่ต้องใช้ความรุนแรง เพื่อฝึกความอดทน ดังนั้น นอกจากทำความเข้าใจกับนักศึกษาแล้วยังมีระบบติดตาม และมีการข่าวตรวจสอบว่านักศึกษาออกไปรับน้องที่ไหน เมื่อทราบก็ให้อาจารย์ติดตามไปดูแล ไม่ให้จัดกิจกรรมจนเกินเลย กลายเป็นความรุนแรง

ส่วนจะต้องถึงขั้นยกเลิกการรับน้องเลยหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานั้น คิดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น จุดเริ่มต้นของประเพณีรับน้องเป็นสิ่งที่ดี น้องเข้ามาเรียนพี่ก็รับมาดูแล แต่ช่วงหลังมีคนคิดพิเรนทร์ จนกลายเป็นใช้ความรุนแรง แต่บางมหาวิทยาลัยก็จัดได้สร้างสรรค์ ซึ่งในส่วนที่ทำดี ก็ควรให้ทำต่อไป ส่วนที่ยังมีความเชื่อเรื่องการรับน้องรุนแรง มหาวิทยาลัยต้องทำความเข้าใจ และมีมาตรการลงโทษที่จริงจัง อย่างที่อุเทนฯ ตกลงกันไว้ก่อนเลยว่าหากทำให้น้องได้รับบาดเจ็บรุนแรง โทษสถานเบาคือพักการเรียน หนักสุดคือไล่ออก

ส่วนโทษทางกฎหมาย จะปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรงนี้ทำให้เด็กเกิดความเกรงกลัว

ขณะที่ นายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) บอกว่า มศก. กำหนดให้นักศึกษาจัดกิจกรรมรับน้องเพียง 1 เดือนเท่านั้น และก่อนเริ่มกิจกรรมได้เชิญรุ่นพี่และแกนนำนักศึกษามาทำความเข้าใจ รวมถึงกำชับให้จัดรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่อย่างเด็ดขาด หากพบว่านักศึกษาคณะ/สาขาใดไม่ดำเนินการตาม มหาวิทยาลัยจะยกเลิกไม่ให้จัดกิจกรรมรับน้องอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหา

“ผมยอมรับว่าในช่วงกิจกรรมรับน้องทุกปี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่อธิการบดีจนถึงอาจารย์ที่ดูแลนักศึกษานอนไม่หลับ เพราะกังวลว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับนักศึกษา แต่คงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นยกเลิกการรับน้อง เพราะหากเลิกเด็กก็อาจไปแอบทำ ทั้งนี้ การแก้ปัญหารับน้องอาจจะทำได้ในลักษณะของการทำความเข้าใจ หรือเปลี่ยนชื่อกิจกรรมนี้ คืออาจเปลี่ยนจากรับน้อง เป็นชื่ออื่น เพื่อไม่ให้เด็กยึดติด และให้จัดกิจกรรมระหว่างพี่น้องอย่างสร้างสรรค์ เพราะทุกวันนี้นักศึกษาไปยึดติดคำว่า รับน้อง ซึ่งภาพคือการใช้ความรุนแรงให้น้องเกรงกลัว ซึ่งไม่ถูกต้อง” นายชัยชาญ กล่าว

เชื่อว่า บทเรียนซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปี คงไม่ทำให้ปัญหารับน้องโหดหมดไปจากสังคมไทยง่ายๆ ตราบใดที่นิสิต นักศึกษายังมีค่านิยมในเรื่องการรับน้องแบบผิดๆ จนฝังรากลึก มหาวิทยาลัยในฐานะที่มีบทบาทในการดูแลนักศึกษา เร่งทำความเข้าใจ รวมถึงหามาตรการป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้น

ไม่เช่นนั้นจะกลายประเด็นที่ต้องปวดหัว และแก้กันไปทุกปี!!