รายงานพิเศษ : อ่านทัศนะ “คนไม่เอาคอร์รัปชั่น” หลังกระแสข่าวไทยถอนตัว จัดอันดับความโปร่งใส

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

“การคอร์รัปชั่น” ถือว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังต่อสังคมไทยอย่างยาวนาน ไม่ว่าผ่านรัฐบาลทั้งจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร การคอร์รัปชั่นถือเป็นเรื่องใหญ่อันดับต้นๆ ที่พูดถึงจนยกระดับเป็นวาระแก้ไขปัญหาระดับชาติ

และการแก้ไขปัญหาของไทยนี้ ก็เป็นที่จับตามองของหลายประเทศ

เพราะถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์และประโยชน์ทั้งต่อไทยและต่างประเทศ จึงได้มีการจัดอันดับความโปร่งใสทั่วโลกขึ้น ซึ่งไทยก็เข้าร่วมมาหลายปี

แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นภาพรวมการต่อต้านการต่อต้านทุจริตในประเทศว่า ในปีนี้ยังไม่มีผลการประกาศจากทีไอซึ่งจะประกาศภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

และในส่วนของกระแสข่าวที่ว่าไทยลาออกนั้น ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่ประสานงานของไทยได้ออกจากการเป็นสมาชิกของเครือข่ายหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และเชื่อว่าจะไม่กระทบภาพลักษณ์ไทย

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทีไอไทยลาออกเพราะว่าผลจากการประเมินชี้วัดไม่ตรงกับความเป็นจริงนั้น นายปานเทพกล่าวว่า การประเมินนั้นจะชี้วัดประเทศไทยในหลายมิติ แต่ในเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันจึงถอนตัวออกไป แต่ผลยังมีเหมือนเดิมโดยจะประกาศในเดือนหน้า

จากนั้นในวันถัดมา เมื่อ 25 มกราคม นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ไทยไม่เคยถอนตัวจากการจัดอันดับทุจริตโลก (CPI) การประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชั่นของประเทศทั่วโลก เป็นการสำรวจข้อมูลอย่างอิสระโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกประเมินและจัดอันดับทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา และเชื่อว่าจะยังคงมีต่อไป

โดยการประกาศผลการประเมินและจัดอันดับประจำปี 60 จะมีขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 นี้

เดิมที “มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย” เป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติด้วย แต่เมื่อราวสองปีที่แล้วได้ “ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก” เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ โดยจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชั่น

ดังนั้น ประเด็นที่ว่า ไทยถอนตัวจากการจัดอันดับการทุจริตโลก จึงเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

 

แม้ต่างออกมายืนยันว่าไทยไม่ได้ถอนตัวการจัดอันดับการทุจริตโลก แต่การถอนตัวจากการเป็นสมาชิก ของมูลนิธิเพื่อความโปร่งใส่ในประเทศ สำหรับบางคน ถือว่าไม่อาจมองข้ามไปได้

โดยนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น มองเรื่องนี้ว่า มันจะทำให้ คสช. ได้ประโยชน์ เพราะการที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยถอนตัว ไม่ต้องไปรายงานผลของประเทศไทยที่จะจัดอันดับ นี่จึงเป็นเหตุผล ไม่รู้ว่าใครไปบีบให้ลาออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล

และส่งผลอย่างรุนแรงถ้าผลการจัดอันดับตกลงจากตำแหน่งเดิมซึ่งไทยก็สอบตกทุกปีอยู่แล้ว

อย่างปีที่แล้วไทยได้ 3.5 มันอาจจะเหลือ 1 เพราะนักธุรกิจที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยเป็นผู้ให้คะแนนและส่งผลโหวตไปยังหน่วยงานต่างประเทศ

และยังพบว่า รัฐบาล คสช. ยังเต็มไปด้วยการทุจริต การเรียกเงินใต้โต๊ะ ซึ่งตรงนี้มันถูกอ้างว่าได้รับการปฏิบัติอย่างอคติ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสประเทศไทยไม่เอาผลออกมายืนยันว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติมีอคติอย่างไร ทำไมถึงไม่ออกมาเปิดเผย อ้างแต่ว่าหน่วยงานต่างประเทศมีอคติ

แต่ต้องอย่าลืมว่า เขาเป็นองค์กรเอกชน ไม่ใช่องค์กรของรัฐที่ต้องเกรงใจรัฐบาล เขาตรงไปตรงมาเพื่อต้องการส่งเสริมความโปร่งใส เพื่อให้นานาประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยหรือทั่วโลก

พวกเขาต้องการให้โลกมีความโปร่งใส เพื่อเกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ส่งเสริมให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ส่งเสริมให้ประชาชนและประเทศมีส่วนร่วมทางการเมือง

แต่การที่ไทยถอนตัวนั้น นายวีระมองว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะเสียโอกาส ประเทศไทยนอกจากถอยหลังเพราะรัฐประหารมา 4 ปีแล้ว ยังจะถอยหลังเรื่องความโปร่งใสระดับโลกอีก ต้องกล่าวตามตรงว่าน่าเป็นห่วง ทั้งๆ ที่รัฐบาลประกาศนโยบายต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น แต่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรง

ถ้ารัฐบาล คสช. อยากจะปฏิรูป แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น รัฐบาล คสช.ต้องรีบมาดูเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนกลับจะพอใจเสียด้วยซ้ำที่ถอนตัวออก ไม่ต้องนำผลรายงานมาให้คนไทยฟัง เท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน ปกปิดข้อมูลที่ประชาชนควรได้รับรู้

 

ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและบรรณาธิการเว็บไซต์ไทยพับลิก้ากล่าวว่า องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ถือว่ามีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ เพราะคนทำคือธนาคารโลก จัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นและนำดัชนีอื่นมาประมวลสังเคราะห์มาเป็นดัชนีตัวเดียวที่สะท้อนการคอร์รัปชั่นของแต่ละประเทศ ซึ่งน่าเชื่อถือเพราะได้รับการอ้างอิงจากทั่วโลก

“การที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสประเทศไทยถอนตัว แม้พวกเขาจะไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาล แต่ก็เกิดคำถามขึ้นแล้ว แล้วที่ชี้แจงไม่ว่าปัญหาในการจัดการภายในก็ดี หรือไม่เห็นด้วยว่าองค์กรต่างประเทศมีอคติ มันไม่มีรายละเอียดว่ามันมีอคติอย่างไร สมมติว่าเพราะหนึ่งในดัชนีที่มาสร้าง CPI (Corruption Perception Index) มันมองเรื่องธรรมาภิบาลหรือระบอบการปกครองหรือไม่ ท่านก็ต้องชี้แจงออกมาให้ชัด” น.ส.สฤณีกล่าว

น.ส.สฤณีกล่าวอีกว่า สมมติว่าคะแนนเราตกลงเพราะมีรัฐประหาร มันคือไม่ใช่ว่ามีรัฐประหารแล้วคะแนนจะตกลงโดยอัตโนมัติ แต่มันแสดงว่านานาชาติมีการเชื่อมโยง มีการค้นพบมาแล้วว่า ระดับการรัฐประหาร รัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ไม่สามารถมีกลไกในความรับผิด เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความโปร่งใสและการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งท่านก็ต้องชี้แจงอคติให้ชัด ถ้าอคติเพราะเรื่องรัฐประหารมันอคติยังไง

ดังนั้น จึงเหมือนกับว่า เราปฏิเสธมาตรฐานสากล มันจึงดูไม่ดีในขณะที่ คสช. ย้ำหลายครั้งเรื่องการปราบการคอร์รัปชั่น