ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (7)

รัฐบาลของนาง Indira Gandhi ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปี 1977 หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1977 ผลปรากฏว่านาง Indira Gandhi และพรรคคองเกรสของเธอแพ้การเลือกตั้ง พรรค Janata ได้จัดตั้งรัฐบาลแทน ส่วนเธอก็ถูกจับกุม

เมื่อพรรค Janata ได้ครองเสียงข้างมากแล้ว จึงได้เร่งผลักดันให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 43 และครั้งที่ 44 เพื่อรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน และเพิ่มอำนาจให้แก่ศาล

อาจกล่าวได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองครั้งนี้ คือ การตอบโต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งก่อนๆ ในสมัยที่พรรคคองเกรสครองเสียงข้างมาก

ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 1980 นาง Indira Gandhi นำพรรคคองเกรสกลับมาชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากนั้น ศาลสูงสุดก็เริ่มตอบโต้กับรัฐบาลและรัฐสภาที่พรรคคองเกรสเป็นเสียงข้างมาก

ศาลสูงสุดของอินเดีย ในคดี Minerva Mills Ltd. v. Union of India ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 1980 ได้ใช้อำนาจตุลาการของตน “ชน” กับรัฐสภาในฐานะผู้ทรงอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยประกาศยืนยันว่าศาลมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 42 ในปี 1976 ที่ตัดอำนาจศาลในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับรองให้อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่มีข้อจำกัดนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ศาลสูงสุดให้เหตุผลว่า ข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจถูกทำลายได้ เมื่อกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 42 ปี 1976 ได้รับรองให้อำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีข้อจำกัดใด นั่นเท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งที่ 42 นี้ ได้ยกเลิกข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไป

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งดังกล่าวจึงไม่ชอบ เพราะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ

ผลจากคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Minerva Mills Ltd. v. Union of India นี้เอง ทำให้กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของอินเดียเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

จากเดิมที่ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ และศาลไม่มีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

กลายเป็น รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อจำกัดว่ากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลมีอำนาจในการตรวจสอบว่ากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

นักวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญจำนวนมากได้วิจารณ์คำพิพากษาในคดี Minerva Mills Ltd. v. Union of India ไว้ พอสรุปได้ 3 ประเด็น

ดังนี้

ประเด็นแรก ศาลสูงสุดของอินเดียได้ “ล้ำแดน” อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนใน (4) และ (5) ของมาตรา 368 ว่า ศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ถูกจำกัด แต่ศาลก็ยังเข้ามาตรวจสอบกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

Anuranjan Sethi เห็นว่า คำพิพากษาในคดีนี้ คือ “การแย่งชิงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยศาลสูงสุดของอินเดีย”

เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางเนื้อหา

ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญยังยืนยันชัดเจนว่า รัฐสภาทรงอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยปราศจากข้อจำกัด และศาลสูงสุดก็ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อศาลสูงสุดเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสิ้นผลไปเพราะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน

เช่นนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่ยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญและอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน มิใช่ศาล

ประเด็นที่สอง ความคิดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่อาจล่วงละเมิดได้นั้น รับอิทธิพลมาจาก “บทบัญญัตินิรันดร” (Eternity Clause) ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่อาจล่วงละเมิดได้ในระบบกฎหมายเยอรมนี โดยศาสตราจารย์ Dieter Conrad ชาวเยอรมันเป็นผู้นำเข้าสู่อินเดีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจรัฐธรรมนูญของอินเดียแล้ว พบว่าไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่กำหนดไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญห้ามกระทบต่อบทบัญญัติใดบ้างในรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่รัฐธรรมนูญเยอรมนีกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนส่งผลกระทบต่อมาตรา 1 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญรวมทั้งเรื่องการแบ่งอำนาจระหว่างสหพันธ์กับมลรัฐ

ดังนั้น หากอินเดียต้องการให้มี “บทบัญญัตินิรันดร” แบบรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน หรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดบทบัญญัตินิรันดรลงไป ถ้าหากไม่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ ก็ย่อมหมายความว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของอินเดียไม่มีข้อจำกัดทางเนื้อหา

ยิ่งไปกว่านั้น ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 42 ปี 1976 แทนที่รัฐสภาผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกำหนดบทบัญญัตินิรันดรลงไป หรือกำหนดข้อจำกัดทางเนื้อหาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบต่อเรื่องใดบ้าง

แต่รัฐสภากลับทำในทางตรงกันข้าม ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนดลงไปชัดเจนว่าอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่อาจถูกจำกัดได้

กรณีเช่นนี้ ยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้ทรงอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดในทางเนื้อหา

ประเด็นที่สาม ไม่มีความแน่นอนชัดเจนว่าเนื้อหาในเรื่องใดที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ ขนาดองค์คณะผู้พิพากษาในศาลสูงสุดอินเดียในคดี Minerva Mills Ltd. v. Union of India เอง ก็ยังเห็นไม่ตรงกันว่าเนื้อหาใดบ้างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ย่อมหมายความว่าโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามอัตวิสัยของผู้พิพากษา

เมื่อเกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่า “โครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ” ได้แก่เรื่องใดบ้างแล้ว แต่ศาลสูงสุดกลับสถาปนาให้ “โครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ” เป็น “กฎเกณฑ์” หรือ Norm ที่ใช้เป็นมาตรวัดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชอบหรือไม่ เช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง รัฐสภาไม่อาจทราบได้เลยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดทางเนื้อหาในเรื่องใดบ้าง รัฐสภาทำได้เพียงต้องรอลุ้นว่า หากเกิดเป็นประเด็นแห่งคดีในศาลสูงสุดแล้ว ศาลสูงสุดจะวินิจฉัยอย่างไร

กฎเกณฑ์ที่ไม่มีความแน่นอนชัดเจนและแปรเปลี่ยนไปตามอัตวิสัยของผู้ตีความได้เช่นนี้ ไม่สมควรจัดให้เป็นกฎเกณฑ์ มิฉะนั้น ในท้ายที่สุด ศาลสูงสุดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตีความในชั้นสุดท้ายว่า “โครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ” คืออะไร ก็จะกลายเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญตัวจริงแทนรัฐสภา

ต่อให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างไร หากศาลสูงสุดไม่เอาด้วย ก็ไม่มีวันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้