หนุ่มเมืองจันท์ : กำแพง-กังหัน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เจอ “ซีอีโอ” ขององค์กรใหญ่ 3 คน

ทุกคนล้วนเผชิญกับกระแสลมแห่ง “ความเปลี่ยนแปลง” แตกต่างกัน

คนแรก คือ “สมโภชน์ อาหุนัย” ซีอีโอของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA

EA เป็นบริษัทพลังงานทดแทนที่ใหญ่มาก

มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

มีโครงการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่

และตอนนี้เขากำลังจะทำสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

สิ้นเดือนมกราคม จะมี 100 สถานีทั่ว กทม.

และ 1,000 แห่งภายในสิ้นปี

แผนของเขาง่ายๆ คือ ทุก 5 กิโลเมตร จะต้องเจอสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า 1 แห่ง

“สมโภชน์” บอกว่าปัญหาหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า คือ เรื่องสถานีชาร์จไฟ

คนซื้อก็กลัวว่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วไม่มีสถานีชาร์จ

คนจะลงทุนสถานีชาร์จก็กลัวว่าจะไม่มีรถยนต์มาใช้บริการ

เขาตัดสินใจลงทุนสถานีชาร์จก่อนเลย

จะได้ไม่ต้องเถียงกันว่าอะไรจะมาก่อนกัน

ต้องยอมรับว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” คือ “อนาคต”

ทุกคนเชื่อว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” มาแน่นอน

ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

“สมโภชน์” เล่นกับ “อนาคต” ด้วยการทุ่มเต็มตัว

เพราะนอกจากสถานีชาร์จไฟและโรงงานผลิตแบตเตอรี่แล้ว

เขากำลังตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย

มีนาคมนี้คงได้เห็นรถต้นแบบในงานมอเตอร์โชว์

และสิ้นปีนี้เราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าของ “สมโภชน์”

เป็นช่วงเดียวกับที่สถานีชาร์จไฟครบ 1,000 แห่งใน กทม.

“สมโภชน์” เล่นกับ “คลื่น” ของ “ความเปลี่ยนแปลง”

ด้วยการกระโดดเข้าไปโต้คลื่น

“ซีอีโอ” คนที่สองที่ได้เจอ คือ คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ของ “เอไอเอส”

ผมสัมภาษณ์เขาในรายการ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ live”

สนุกมากครับ

เราคุยเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กร “เอไอเอส” ที่มีขนาดใหญ่

คุณสมชัยเปรียบ “เอไอเอส” เหมือนกับ “ช้าง”

ใหญ่จึงเคลื่อนตัวช้า

เขามีเป้าหมายตั้งแต่รับตำแหน่งซีอีโอเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่าจะทำให้ “ช้างบินได้”

การปรับเปลี่ยนองค์กรขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมายาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณสมชัยใช้คำว่า “เป็นปัญหาของความสำเร็จ”

คมมาก

เพราะคนที่ประสบความสำเร็จมายาวนานจะมีความเชื่อมั่นสูง

การปรับเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องยาก

ที่สำคัญผลประกอบการของ “เอไอเอส” ก็ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำอะไร

ไม่ได้อยู่ในกระแสธุรกิจที่ถูก Disrupt หรือทำลายล้าง

แถมยังอยู่บนยอดคลื่นด้วยซ้ำไป

ทำไมต้องเปลี่ยน…

คุณสมชัยรู้ว่าถ้าระบบงานของ “เอไอเอส” ยังเหมือนเดิม

คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม

วันหนึ่ง ถ้ากระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนทิศมาที่ธุรกิจมือถือ

“เอไอเอส” จะรับไม่ไหว

“สมชัย” ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของเอไอเอสใหม่เพื่อตอบรับกับ “คนรุ่นใหม่” มากขึ้น

เขาบอกว่าคนใน “เอไอเอส” เป็นคนรุ่นเบบี้บูมแบบเขาอยู่ 2%

ซึ่งอยู่บนยอดพีระมิด

อีก 98% เป็นคน Gen X และ Gen Y

คำถามก็คือ ระบบต่างๆ ควรจะเอื้อกับคน 2%

หรือ 98%

ตอนนี้ “เอไอเอส” มีการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจหลายเรื่อง

เขาค่อยๆ เติม “คนใหม่” เข้ามา

จัดหลักสูตรอบรมเพื่อทลายกำแพงระหว่างหน่วยงาน

ปรับห้องทำงานใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ๆ ดึงดูดใจคนทำงานรุ่นใหม่

ผู้บริหารไม่มีห้องส่วนตัว

ห้ามประชุมทุกบ่ายวันพฤหัสฯ เพื่อให้คนทำงานไปทำกิจกรรมอื่นๆ

หัวหน้าคนไหนประชุมโดนปรับคนละ 100 บาท

ประชุมลูกน้อง 10 คนก็ 1,000 บาท

วิธีการของคุณสมชัยไม่หักหาญ ค่อยเป็นค่อยไป

เล่นกับกระแสความเปลี่ยนแปลง

ด้วยการเปลี่ยนแปลงก่อน

ซีอีโอคนที่สาม คือ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB

ไม่ได้นั่งคุย แต่นั่งฟังการแถลงข่าว SCB VISION 2020

ตื่นเต้นเร้าใจกับแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลง SCB แบบ “ตีลังกา”

ต้องยอมรับว่าสถาบันการเงิน คือ ธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt อย่างรุนแรงด้วยเทคโนโลยี

ถ้าดูตัวเลขผลประกอบการ ทุกแบงก์ยังไม่มีปัญหา

กำไรลดเล็กน้อย

แต่ก็ยังเยอะอยู่เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ

คุณอาทิตย์บอกว่าคนเราถ้าจะตีลังกาได้

ต้อง “ผอม” ก่อน

เมื่อรายได้จาก “ค่าธรรมเนียม” จะหายไป

ก็ต้องลดต้นทุน

เอาเทคโนโลยีแทนคนมากขึ้น

และอื่นๆ อีกมากมาย

เป็นการแถลงข่าวที่สนุกมากครับ

มีคำคมมากมาย

ผมจดจนเมื่อยมือเลย

“ถ้าเทคโนโลยีเร็วกว่าการตัดสินใจขององค์กร องค์กรเจ๊ง”

“หลังการแถลงข่าววันนี้ ถ้าหุ้นขึ้นผมก็ไม่ดีใจ หุ้นตก ผมก็จะอดทน ผมไม่สนใจการตอบสนองของสังคมในระยะสั้น”

“เราจะไม่เถียงว่าอะไรถูกหรือผิดในอนาคต เพราะเราไม่รู้ เราต้องกล้าลองคิด ลองทำ ต้องลดอีโก้ลง”

“การเปลี่ยนแปลงของเราไม่ได้มีหน่วยเป็นปี แต่เป็นวันและนาที วันนี้โครงการไหนมีหน่วยเป็นปี ส่งมาเมื่อไร ผมโยนทิ้งทันที”

“ผู้บริหารต้องถามตัวเองว่าเราเป็นปัญหาขององค์กรหรือเปล่า ก่อนจะถามว่าเราจะนำได้หรือไม่”

“ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ในปีนี้ ไม่ต้องมีใครมาไล่ผม ผมไล่ตัวเองออก”

แต่สุดท้ายเมื่อ “อาทิตย์” บอกเป้าหมายการลดน้ำหนัก ทำองค์กรให้ผอม

คือ ลดสาขาจาก 1,153 สาขา เหลือ 400 สาขา

ลดจำนวนพนักงานจาก 27,000 คน เหลือ 15,000 คน

นักข่าวก็ลืม “คำคม” และ “วิธีคิด” ที่กล้าหาญของเขา

คำพาดหัวของสำนักข่าวต่างๆ กลายเป็นเรื่องปิดสาขาและลดพนักงาน

น่าเสียดาย

เพราะกลยุทธ์การรับมือกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ของ SCB ครั้งนี้ห้าวหาญมาก

เห็น “วิธีคิด” ของ “ซีอีโอ” 3 คน รู้สึกชื่นชมกับการรับมือกับ “ความเปลี่ยนแปลง” แบบไม่สร้าง “กำแพง”

ผมนึกถึงบทกวีจีนบทหนึ่ง

…ท่ามกลางสายลมของความเปลี่ยนแปลง

บางคนสร้างกำแพง

บางคนสร้างกังหัน…

ขอให้มีความสุขกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ครับ