ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทางสายไหม ไปขี่อูฐกัน

ถ้าไปเส้นทางสายไหมแล้วไม่ได้ขี่อูฐก็กระไรอยู่นะคะ

ระยะทางจากโรงแรมที่เราค้างคืนที่เมืองจิ่วฉวน จนถึงกำแพงเจียอี้กวน ห่าง 21 ก.ม. เนื่องจากเราต้องผ่านทางนี้ ทัวร์ก็คิดว่า เราควรได้สัมผัสกำแพงเจียอี้กวนด้วย

เป็นซุ้มประตูด่านสุดท้ายของกำแพงเมืองจีนหมื่นลี้ ถือเป็น 1 ใน 7 ของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง

ด่านนี้ได้รับสมญานามว่า “เทียนเซี่ยโฉวงก่วน” แปลว่า ด่านหน้าเกรงขามอันดับหนึ่งในใต้หล้า

เริ่มสร้าง ค.ศ.1372 ในรัชกาลของหมิงไท่จู

ตัวด่านมีความยาวจากเหนือไปใต้ 160 เมตร ด้านตะวันตก 166 เมตร และด้านตะวันออก 154 เมตร สูง 10 เมตร

ด้านบนประตูทางเข้ามีหอสังเกตการณ์ 3 หอ

หอสร้างด้วยไม้ 3 ชั้น ความสูง 17 เมตร ฝีมือการสร้างเครื่องไม้งดงาม

นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกำแพงเมืองจีน เพื่อเป็นปราการป้องกันการรุกรานของชนเผ่าทางตอนเหนือ และตะวันตก

ลูกทัวร์ที่มีแรงขึ้น ก็พากันปีนบันไดขึ้นไปชมกำแพงจากด้านบน รับชมวิวบริเวณด้านนอกกำแพงจากด้านบน มีที่รออยู่ข้างล่างก็สำรวจร้านค้า และมีร้านยิงเป้าด้วยธนู ให้ลูกศรเป็นไม้ด้ามยาวกว่าเมตร 10 หยวน 10 ดอก กว่าจะจับจนเข้าท่าเข้าทางก็หมด 10 ดอกนั่นแหละค่ะ

บริเวณทะเลทรายที่นี่ใช้อูฐสองหนอก พอเข้าเขตทะเลทรายมา ตามร้านขายของเล็กๆ มีอูฐตัวใหญ่ขนาดสูงสัก 1 ฟุต ราคา 20 หยวน

พอไปดูในโรงแรมที่พักราคาขึ้นไป 50 หยวน

ถ้าเป็นตัวเล็กทำห้อยพวงกุญแจก็ตัวละหยวนเดียว พวงหนึ่งให้ 10 ตัว รายการนี้ดูจะขายดีกับลูกทัวร์ของเรา

ปัญหาคือ แต่ละคนเอาของเครื่องหนาวมาเต็มกระเป๋า เลยไม่ค่อยได้ซื้อของกันนัก จนวันสุดท้าย

 

พอออกไปนอกด่าน สมัยก่อนก็ถือว่าหมดเขตของประเทศจีนแล้ว เราลองเดินออกไปนอกด่าน มีอูฐให้เช่าขี่เล่นแถวนั้น มีรถล้อโตๆ ที่เรียกว่ารถไอวีให้เช่าเพื่อขับลุยทราย

ภายในกำแพงของด่าน มีโรงงิ้วและโรงละครเพื่อความบันเทิงของทหารที่มาอารักขาด่าน ที่ฉากบนโรงงิ้วมีรูปที่น่าสนใจ เป็นผู้หญิงกำลังเปลื้องนมเลี้ยงลูก

อีกฝั่งหนึ่ง เป็นพระอาจารย์กำลังสอนศิษย์ แต่ศิษย์กลับแอบดูผู้หญิง

ไกด์เล่าว่า เป็นการแสดงความดูถูกพระในศาสนาพุทธ ว่าแม้จะออกบวช ก็ยังสนใจในกามวิถี ประมาณนั้น

โดยภาพรวมของกำแพงนี้น่าประทับใจ เมื่อขึ้นไปอยู่ด้านบนจะพบว่า เวลามีศึก สามารถส่งม้าเร็ววิ่งดาหน้ากันไปได้ถึง 3 ตัว

แสดงถึงความกว้างของกำแพง

 

จากด่านนี้ เราเดินทางอีก 360 ก.ม. ผ่านเมืองอวี้เหมิน และเมืองกวอโจว เราแวะที่หมิงซาซาน เป็นภูเขาที่เกิดจากการทับถมของทราย ทรายที่นี่ละเอียดมาก และมี 5 สี คือ แดง เหลือง เขียว ขาว ดำ ชาวบ้านหัวใสเลยนำมาบรรรจุขวดเล็กๆ ขายเป็นของที่ระลึก

ที่เรียกว่า หมิงซาซานนั้น หมิง แปลว่า เสียง และซา แปลว่า ทราย เกิดเสียงเม็ดทรายที่จะมีเสียงต่างกันเป็นปรากฏการณ์ของเสียงธรรมชาตื

เมื่อโดนแสงแดดเม็ดทรายจะเก็บอุณหภูมิสูงถึง 70 องศา เมื่อมีลมพัดมากระทบเม็ดทรายเมื่อเกิดการเสียดสี ทำให้เกิดเสียงขึ้น

ทรายเม็ดหยาบจะมีเสียงดังกว่าทรายเม็ดเล็ก

ลองนึกภาพว่า หากเรามานอนกลางทะเลทรายในความมืด แล้วได้ยินเสียงที่ว่านี้ ชวนขนหัวลุกเหมือนกันนะ

 

พวกเราได้ขี่อูฐที่นี่ เมื่อซื้อตั๋วแล้ว ก็ต้องใส่ถุงเท้าสวมลงไปบนรองเท้าที่ใส่ เพื่อกันทราย สูงขึ้นมาถึงหัวเข่า

ถุงเท้านี่สีแสดสดใส พวกเราดูเทอะทะอุ้ยอ้ายไปทันทีที่ใส่ถุงเท้าวิเศษที่ว่า แล้วก็เดินไปขึ้นอูฐ จะเดินไปเป็นแถว โดยที่เจ้าของอูฐจะเป็นคนจูงอูฐนำไป

ผู้เฒ่าไม่ได้ขึ้นอูฐค่ะ เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนกระดูกไขสันหลัง

เจ้าของอูฐแต่ละคนจะกำชับให้ลูกทัวร์ขึ้นนั่งระหว่างหนอก เท้าทั้งสองข้างใส่อยู่ในบังโกลน

ตอนสั่งให้อูฐลุก คนที่อยู่บนหลังก็จะหงายหน้า แล้วอูฐก็ยกขาหลังทั้งสองข้างขึ้น คนที่อยู่บนหลังจึงจะเข้าระนาบตรง

อูฐเป็นสัตว์ที่น่ารัก จังหวะเดินเนิบๆ เท้าใหญ่ เวลาเหยียบบนทราย เท้าจึงไม่จมลงไป ขนนิ่ม

ที่หนอกสองหนอกนั้น เวลามันอดอยาก หรือไม่สบาย หนอกจะล้ม ดูสุขภาพของอูฐได้จากการสังเกตที่หนอกของเขานั่นเอง

อูฐเป็นสัตว์มหัศจรรย์ในทะเลทราย สันกระดูกเหนือดวงตาจะใช้ป้องกันแสงแดด

มีเปลือกตา 3 ชั้น สองชั้นนอกมีขนยาวเพื่อป้องกันไม่ให้ทรายเข้าตา

ชั้นในสุดเพื่อปัดทรายออกจากตา เป็นเปลือกตาที่บางมาก เวลามีพายุทรายมันจะปิดเปลือกตาชั้นใน และสามารถเดินทางต่อไปได้

หูและรูจมูกเล็กมาก ยากที่ทรายจะเข้าไปได้

เป็นสัตว์ที่ทนสภาพ และมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 450 ก.ก. สามารถเดินได้ถึงวันละ 40 ก.ม. หากวิ่งตัวเปล่า จะได้ถึง 60 ก.ม.

ในช่วงอากาศไม่ร้อน มันสามารถเดินทางในทะเลทรายได้เป็น 3-4 เดือน โดยไม่ดื่มน้ำ

แต่หากอากาศร้อนจัด มันสามารถดื่มน้ำ 35 แกลลอน ภายในชั่ว 6 นาที

มีความเข้าใจผิดว่ามันเก็บน้ำไว้ในหนอก อันที่จริงหนอกเป็นที่สะสมไขมัน หากขาดสารอาหารนานๆ หนอกจะล้ม และอูฐจะล้มป่วยได้ หลังจากได้รับการเยียวยา หนอกก็จะกลับตั้งขึ้นเหมือนเดิม

ลูกทัวร์ขี่อูฐขึ้นเขาวนไปเป็นรอบ เมื่ออยู่บนเนินเขา เจ้าของอูฐจะขอกล้องไปถ่ายรูปให้ ต้องให้ทิปเขาพิเศษ 20 หยวน

ลูกทัวร์ไปขี่อูฐกันเกือบชั่วโมงจึงลงมา ไม่มีใครรายงานว่าเมาคลื่นค่ะ

ยังไม่จบค่ะ มีบางคนปีนขึ้นไปบนเขาอีกด้านหนึ่งแล้วสไลด์ลงมา สนุกสนานกันพอควร

ผู้เฒ่าค่อยๆ เดิน และนั่งจิบชารออยู่ที่ข้างล่าง

เลยออกไปเป็นทะเลสาบรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ชาวจีนเรียก “เยวี่ยหยาเฉวียน” เป็นที่รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยจักรพรรดิฮั่นอู๋ตี้ หรือกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เล่าขานกันว่า มีปลา “เถี่ยเป้ย” อยู่ในทะเลสาบนี้ และหญ้าซิซิน ถ้าใครได้กินก็จะมีอายุยืนยาว

ที่น่าอัศจรรย์ใจคือ แม้ว่าจะอยู่กลางทะเลทราย แต่ทะเลสาบนี้ไม่เคยเหือดแห้งทั้งที่มีความลึกเพียง 6 เมตร อธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่า ลักษณะของภูมิประเทศด้านยาวจากตะวันตก 218 เมตร ตั้งอยู่ในที่ต่ำ ช่วงกว้างสุดเหนือจรดใต้ 54 เมตร ตั้งอยู่ในที่สูง เวลาเกิดพายุหมุน จะเริ่มทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลมหอบเอาทรายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ปะทะกับหมิงซาซานพอดี เลยไม่มาทับถมทะเลสาบพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวที่เราเห็น

ธรรมชาติก็มักจะมีความพิเศษที่ทำให้เราประทับใจเสมอ

 

เราค้างคืนที่เมืองตุนฮวง ทุกคนหลับสนิท หลังจากถูกโยกและคลึงบนหลังอูฐ

เช้าวันรุ่งขึ้น เรากระปรี้กระเปร่าเป็นพิเศษ เพราะเราจะได้ชมถ้ำตุนฮวาง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางทริปนี้ของเรา

เมืองตุนฮวางเป็นเมืองโอเอซิสกลางทะเลทรายโกบี อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกานซู่ พูดถึงกานซู่ แล้วลืมเล่าไป ทันทีที่เข้ามณฑลใหม่ เราก็เปลี่ยนไกด์ค่ะ

ไกด์ผู้หญิงของเรา ที่ชื่อคุณเสี่ยวลู่ เป็นไกด์ให้เรา พอเข้ามณฑลใหม่ก็เป็นไกด์คนใหม่ คนนี้เป็นผู้ชาย ลืมถามชื่อไปแล้ว แต่ไกด์คนแรกของเรา คือคุณสุลิน พอเข้ามณฑลใหม่ เขาเปลี่ยนหน้าที่เป็นล่าม อยู่กับเราตลอดทริปเลยค่ะ

ตุนฮวางแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะที่เป็นศาสนศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของจีน และมีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ตุนฮวางเป็นศูนย์กลางสำคัญบนเส้นทางสายไหม เป็นทางผ่านและจุดแวะพักของกองคาราวานพ่อค้า

เป็นเส้นทางของการเผยแผ่ศาสนาจากอินเดียมาสู่ประเทศจีน

นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชนหลายชาติ โดยเฉพาะจีน อินเดีย กรีก และอาหรับ หลอมรวมและสร้างวัดในถ้ำไว้เป็นที่สักการบูชาพระพุทธเจ้า

ปรากฏหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีอันล้ำค่า ที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่มาก

ในปัจจุบัน ตุนฮวางเป็นเพียงเมืองเล็กๆ เงียบสงบ มีประชากรระหว่าง 1-2 แสนคน

มีอาชีพกสิกรรมเป็นหลัก ที่ดินที่แห้งแล้งมาก ปีหนึ่งมีฝนเพียง 2-3 นิ้ว

แต่อาศัยการชลประทานที่ได้น้ำจากหิมะที่ละลายลงมาจากเทือกเขาฉีเหลียงซานเป็นหลัก

ผลไม้ของเมืองนี้ ที่มีชื่อคือ ผล “ซิ่ง” หรือแอปปริคอต ที่ปลูกที่นี่มีผลใหญ่กว่าดินแดนอื่นๆ

หลังจากทางการเปิดถ้ำโมเกา ให้เป็นสถานท่องเที่ยว ตุนฮวางจึงเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

อดใจรอคราวหน้า เราจะไปชมถ้ำโมเกาค่ะ