วิกฤติศตวรรษที่21 : ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติของทรัมป์ – ความระส่ำระสายในความมั่นคง

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (5)

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติของทรัมป์ : ความระส่ำระสายในความมั่นคง

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติของทรัมป์ สามารถปรุงขึ้นมาจนสำเร็จในปีแรกของการบริหาร แสดงถึงความคล่องตัวของคณะทำงานผู้ร่างแผนนี้ แต่ก็เกิดขึ้นในท่ามกลางความระส่ำระสายในเกือบทุกมิติ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติของทรัมป์ได้รับความสนใจวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่

(1) ลงท้ายแล้วเป็นเหมือนกับประธานาธิบดีคนอื่นๆ ก่อนหน้านั้นอย่างน้อยตั้งแต่สมัยเรแกนเป็นต้นมา บนเสาหลักสี่ข้อคือการปกป้องประชาชนและประเทศอเมริกา ส่งเสริมความไพบูลย์ สันติภาพโดยผ่านกำลังเข้มแข็ง การรุกคืบค่านิยมและผลประโยชน์ของอเมริกา

(2) เคลือบคำขวัญอเมริกันก่อนชาติอื่น ด้วยคำว่า “สัจนิยมเชิงหลักการ” นั่นคือนโยบายต่างประเทศ “อเมริกันก่อนชาติอื่น” เป็นการแสดงอิทธิพลของสหรัฐในด้านบวก ในการสร้างเงื่อนไขเพื่อสันติภาพและความไพบูลย์ และเพื่อการพัฒนาสังคมที่ประสบความสำเร็จ ลดความแข็งกร้าวต่อการพูดถึงผู้อพยพและอุดมการณ์ของกลุ่มก่อการร้ายลง

(3) เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ค่อนข้างมองด้านลบ นั่นคือเน้นภาวะที่สหรัฐถูกรุมเร้าจากการแข่งขันและการเอาเปรียบรอบด้าน ทั้งจากศัตรูและหุ้นส่วน เช่น จีนเอาเปรียบทางการค้า ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น กล่าวได้ว่า ตกอยู่ในความหวาดกลัว ได้แก่ ความกลัวผู้อพยพ ความกลัวอิสลาม ความกลัวรัสเซียและกำลังปรุงแต่งความกลัวจีนอยู่ แม้จะมีข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์บ้างก็มีข้อจำกัด

(4) ข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์มีอย่างจำกัด ในทางสร้างสรรค์สหรัฐต้องสร้าง “ฐานนวัตกรรมทางความมั่นคงแห่งชาติ” ขึ้น เป็นเครือข่ายทางความรู้ ความสามารถของประชาชนทั้งหลาย ช่วยกันสร้างนวัตกรรม เปลี่ยนการค้นพบให้เป็นผลผลิตเชิงพาณิชย์ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อป้องกันและส่งเสริม “วิถีชีวิตแบบอเมริกัน” ซึ่งในทางปฏิบัติมันไม่สามารถทำภายในชาติหนึ่งได้ ต้องถือตัวแบบ “อุตสาหกรรม 4.0” หรือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่” ของเยอรมนี

(5) มีสิ่งที่ขาดไปหรือกล่าวไม่เต็มที่ ได้แก่ การเน้นเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย การค้าเสรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ภาวะโลกร้อน ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สหรัฐใช้เปิดเกมรุกทางเศรษฐกิจ-การเมือง

(6) ปัญหาว่าจะทำให้บรรลุได้อย่างไรในบรรยากาศที่เกิดความแตกแยกภายในชาติสหรัฐ เช่น ความขัดแย้งระหว่างลัทธิปลีกตัวกับลัทธิการค้าข้ามชาติ ความไม่พอใจของประชาชนอเมริกันพุ่งสูง เนื่องจากช่องว่างที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่ขัดสน ทรัมป์เองก็เดินยุทธศาสตร์ “ข่มมิตร สร้างศัตรู” อย่างคงเส้นคงวา ด้วยการทวีตหรือการปราศรัย การพูดจาที่พลิกไปมา

พฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และสุ่มเสี่ยง พันธมิตรสำคัญได้แก่ยุโรปตะวันตก ก็เริ่มไม่เกรงใจ แสดงออกหลายครั้ง

เช่น กรณีการลงคะแนนเสียงวาระเยรูซาเลมที่ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ นายมาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ตั้งโครงการ “ทำให้ดาวเคราะห์โลกของเรายิ่งใหญ่อีกครั้ง” เป็นการเสียดสีทรัมป์ที่ถอนตัวจากข้อตกลงภูมิอากาศที่ปารีส

และชอบพูดว่า “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ในเดือนธันวาคม 2017 ได้ประกาศผู้ได้รับทุนมูลค่าหลายล้านยูโร ซึ่งเป็นบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากสหรัฐและชาติอื่นให้มาทำงานวิจัยในฝรั่งเศส

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พันธมิตรตะวันตกของสหรัฐเริ่มเตรียมพร้อมในการก้าวไปสู่ “โลกหลังอเมริกา”

เบื้องลึกของยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติของทรัมป์เป็นอย่างไร

มีนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเห็นว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติสหรัฐล่าสุดนี้ เบื้องลึกคือการทำสงครามการเงินระดับโลก การเดินนโยบายกึ่งป้องกันการค้า ผสมกับการใช้แสนยานุภาพและการปฏิบัติการลับ เพื่อรักษาความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐไว้ เป็นสิ่งที่ควรสนใจติดตาม ยิ่งกว่าประเด็นความขัดแย้งอื่น เช่น การสร้างกำแพงที่ชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก การรับรองเยรูซาเลมเป็นนครหลวง การขับไล่ผู้อพยพจากประเทศ “รูขี้” ออกไป

การเข้าควบคุมการเงินโลก การแซงก์ซั่นทางการค้าและทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่สหรัฐได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและเข้มข้นขึ้นโดยลำดับ

ซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล

การไม่ได้ผลบีบให้สหรัฐจำต้องวางแผนสงครามการเงินโลกให้ละเอียดซับซ้อนขึ้น ลำดับการทำสงครามการเงินโลกของสหรัฐ สรุปได้ดังนี้

1)การทำระบบเบรตันวูดส์ (1945) ทำให้ยุโรปตกอยู่ในความควบคุม ไม่สามารถเดินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของตนอย่างเป็นอิสระได้

การใช้อิทธิพลทางการเงินผสมกับแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐนี้ กวาเม เอ็นครูมา เรียกว่าเป็น “จักรวรรดินิยมแผนใหม่” เสนอปี 1965 ก่อนถูกคณะทหารที่หนุนหลังโดยซีไอเอรัฐประหารในปี 1966

มีนักประวัติศาสตร์สหรัฐผู้สนใจทฤษฎีอารยธรรมมนุษย์ คือ แคร์โรล ควิกลีย์ (Carroll Quigley เกิด 1910) ศึกษาทุนการเงินในสหรัฐเป็นเวลายี่สิบปี เขียนหนังสือชื่อ “โศกนาฏกรรมและความหวัง” (Tragedy and Hope : A History of the World in Our Time เผยแพร่ครั้งแรกปี 1964) ชี้ให้เห็นการสร้างรัฐบาลเงาโดยกลุ่มทุนการเงิน และระบุว่าอำนาจของทุนการเงินมีเป้าหมายกว้างไกล ได้แก่ การสร้างระบบโลกที่ควบคุมโดยทุนการเงินที่อยู่ในมือของเอกชน เพื่อควบคุมระบบการเมืองของประเทศต่างๆ และเศรษฐกิจของโลกโดยรวม

ระบบนี้จะถูกควบคุมคล้ายสมัยฟิวดัล (คือไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ตัดสินใจไม่ได้มาจากหรือต้องตอบสนองต่อการเลือกตั้งทั่วไป) เป็นการควบคุมโดยธนาคารกลางในประเทศทั่วโลกที่ปฏิบัติร่วมกัน จากข้อตกลงลับที่ได้มาจากการประชุมส่วนตัวระหว่างกันอยู่เนืองๆ การครอบงำของทุนการเงินนี้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS ก่อตั้งปี 1930)

2)การสร้างระบบดอลลาร์น้ำมัน (1973) แทนระบบเบรตันวูดส์ เพื่อรักษาการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ

โดยระบบนี้สหรัฐได้ทั้งจากการพิมพ์ดอลลาร์ออกสู่ตลาด และได้จากการกู้

โดยผู้ที่ได้เปรียบดุลการค้า กลับมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ หรือทรัพย์สินอื่น สามารถย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมออกนอกประเทศ และสร้างกำไรจากการควบคุมการไหลเวียนของเงิน

ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือเครือข่ายทางข่าวสารของสถาบันการเงินโลก ในปี 1973 เรียกว่าเครือข่ายระบบสวิฟต์ (SWIFT – Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) เป็นเครือข่ายที่ช่วยให้สถาบันการเงินทั่วโลกสามารถส่งข่าวสารเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่มีความมั่นคง ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ในปี 2015

ปรากฏว่าสถาบันการเงินมากกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศเขตแคว้น ได้แลกเปลี่ยนข่าวสารเฉลี่ยวันละกว่า 15 ล้านชิ้น

ดังนั้น ธนาคารแห่งใดที่ถูกตัดออกจากเครือข่ายนี้ก็แทบว่าจะทำธุรกรรมไม่ได้

An electronic board showing stock movements is pictured at a securities firm in Bangkok on August 24, 2015. At midday, Bangkok’s stock market had plunged 3.84 percent after jitters over China’s economy sent world share markets tumbling. AFP PHOTO / Christophe ARCHAMBAULT

สหรัฐและตะวันตกได้ใช้เครือข่ายสวิฟต์นี้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามเศรษฐกิจกับหลายประเทศ เช่น ต่ออิหร่าน เพื่อเป้าประสงค์การเมืองต่างๆ ได้แก่ ระงับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง เป็นต้น การแซงก์ชั่นนี้ยังดำเนินถึงปัจจุบัน

ในสหรัฐมีนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายคือ ไมเคิล ฮัดสัน (Michael Hudson เกิด 1939) ได้เขียนหนังสือชื่อ “อภิจักรวรรดินิยม” (Super Imperialism : The Economic Strategy of American Empire เผยแพร่ครั้งแรกปี 1972) ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐได้ใช้ความได้เปรียบทางการเงินขึ้นครองความเป็นใหญ่ในโลกอย่างไร

แต่ความได้เปรียบนี้เป็นสิ่งชั่วคราว และไม่ยั่งยืน

หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินใหญ่ปี 2008 มาได้ราวแปดปี ได้มีนักหนังสือพิมพ์นักเขียนสตรี ชื่อ รานา โฟรูฮาร์ (เกิด 1970 มีเชื้อชายตุรกี) ทำงานในนิตยสารกระแสหลักในสหรัฐและอังกฤษด้านเศรษฐกิจ เผยแพร่หนังสือในปี 2016 ชื่อ “ผู้ผลิตและผู้ได้ประโยชน์” (Makers and Takers : The Rise of Finance and the Fall of American Business) ชี้ว่า การทำให้ธนาคารและธุรกิจทั่วไปเป็นเชิงการเงิน ได้ขัดขวางการเติบโตและนวัตกรรมที่แท้จริง ทั้งยังเร่งขยายความเหลื่อมล้ำ

ในปัจจุบัน (ปี 2016) อุตสาหกรรมการเงินที่มีขนาดเพียงร้อยละ 7 ของเศรษฐกิจทั้งหมด และจ้างงานเพียงร้อยละ 4 แต่สร้างกำไรให้แก่บรรษัทถึงกว่าร้อยละ 25 ของกำไรทั้งหมด

บรรษัทใหญ่ทั้งหลายพยายามทำเลียนแบบเหมือนเป็นธนาคาร โดยแสวงหากำไรจาก “วิศวกรรมการเงิน” มากขึ้น

การปฏิบัตินี้เป็นการแยกแก่นแกนของภาคการผลิตกับมูลค่าออกจากกัน

บรรษัทอุตสาหกรรมถูกขับเคลื่อนด้วยการเงิน

บรรษัททั้งหลายทำตัวเหมือนธนาคารที่ไม่เอื้ออำนวยต่อภาคการผลิต เธอหวังว่าลูกตุ้มทางเศรษฐกิจที่แกว่งไปทางการเงินจะแกว่งกลับ

3)สหรัฐ-ซาอุดีอาระเบียร่วมกันกดราคาน้ำมันให้ต่ำในช่วงปี 1985-1986

กระทบต่อสหภาพโซเวียต

เป็นสงครามเศรษฐกิจใหญ่ที่ทำกับรัสเซียในช่วงนั้น

4)การแซงก์ชั่นจีน กรณีล้อมปราบเทียนอันเหมินปี 1989 ระงับการขายอาวุธต่อจีน ยกเลิกการติดต่อทางทหารกับจีน ตีกรอบการสนับสนุนทางการเงินต่อจีน ระงับการส่งสินค้าที่ช่วยสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ควบคุมสินค้าส่งออกไปยังจีนที่สามารถนำไปใช้ทั้งทางพลเรือนและทางทหารได้

การแซงก์ชั่นเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง

เกือบทั้งหมดถูกยกเลิก

แต่จีนก็ยังคงเป็นเป้าการแทรกแซงของสหรัฐอยู่จนถึงทุกวันนี้

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่จีนไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการแทรกแซงของสหรัฐ เช่น ต่ออิหร่าน

เพราะว่าตนเองก็ยังโดนแทรกแซง

5)หลังสงครามเย็น สหรัฐใช้การแซงก์ชั่นทางการค้าและเศรษฐกิจแก่กลุ่มองค์กรและประเทศต่างๆ จำนวนมาก

การแซงก์ชั่นทางการค้าเป็นการเตือนอย่างเบาะๆ ได้แก่ การยกเลิกฐานะการเป็นประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์อย่างยิ่ง ซึ่งสหรัฐมอบให้แก่ประเทศทั้งหลาย และเรียกคืนเพื่อกดดันบางประเทศที่ไม่รับซื้อสินค้าจากสหรัฐ ขายอาวุธให้แก่ประเทศที่เป็นอริของสหรัฐ ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจเป็นการใช้ยาแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศนั้นถูกทำให้แปลกแยกจากตลาดโลกที่สหรัฐควบคุมอยู่ ได้แก่ การเลิกการค้า ห้ามการเคลื่อนย้ายเงินหรือรับเงินกู้จากสถาบันการเงินสหรัฐ ป้องกันไม่ให้เข้าถึงสินทรัพย์ของสหรัฐ

ถัดจากการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ก็คือการทำสงครามจริงๆ

ประธานาธิบดีคลินตันได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้การแซงก์ชั่นอย่างช่ำชองต่อหลายประเทศ ได้แก่ ยูโกสลาเวีย อิรัก อิหร่าน คิวบา เป็นต้น

(FILES) In this file photo dated October 9, 2016 Ken Bone (R) speaks to former President Bill Clinton (2nd L) following the second US presidential debate at Washington University in St. Louis, Missouri.
As the mud flew at Donald Trump and Hillary Clinton’s second presidential debate Sunday, the American everyman became an instant celebrity by calmly asking a question about energy policy. Bone — even his sturdy name has been a source of amusement on social media — had been picked to represent undecided voters at the town hall-style debate in St Louis, Missouri. His heft, poise and polite manner offered a brief but refreshing respite from the 90-minute slug-fest between the Republican and Democratic candidates.
/ AFP PHOTO / POOL / Robyn Beck / TO GO WITH AFP STORY “Ken Bone, everyman hero in a tawdry US campaign”

6)การยกระดับการแซงก์ชั่นในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ยุทธศาสตร์แซงก์ชั่นของสหรัฐยกระดับขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยของบุช โดยหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 บุชได้ใช้ข้ออ้างเรื่องการต่อสู้การก่อการร้าย ได้เข้าตรวจสอบการเคลื่อนไหวทางการเงินทั้งโลก

ใช้อำนาจทางการเงินนี้ “บิดแขน” ประเทศต่างๆ ให้เข้าร่วมทำสงครามยึดครองอิรัก

เมื่อถึงปี 2005 กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการคลังสหรัฐได้ร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์ทำสงครามเศรษฐกิจกับประเทศที่เป็นเป้าหมาย

7)การแซงก์ชั่นรัสเซียในปี 2014 และการกดดันต่อจีนอย่างหนักหน่วงในกรณีเกาหลีเหนือ การแซงก์ชั่นของสหรัฐโดยทั่วไปกระทำแก่ประเทศเล็ก หรือต่อบุคคล กลุ่มบุคคล

เมื่อถึงปี 2014 ได้ถึงจุดพลิกผัน เมื่อสหรัฐดำเนินการแซงก์ชั่นเศรษฐกิจแก่รัสเซียในหลายรูปแบบ หวังให้ล้มทั้งยืน

แต่รัสเซียยังรอดมาได้ แม้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทรัมป์ได้สืบทอดการสงครามพันทาง ที่ใช้สงครามเศรษฐกิจและสงครามเคลื่อนกำลังผสานกันจากประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ กระชับการแซงก์ชั่นต่อรัสเซียขึ้นอีก

มีข่าวถึงขั้นว่าจะตัดธนาคารในรัสเซียออกจากเครือข่ายสวิฟต์ ซึ่งนายธนาคารรัสเซียประกาศกร้าวว่า ถ้าสหรัฐทำเช่นนั้นจะเกิดการตอบโต้จากรัสเซียรุนแรง ถึงขั้นเกิดความหายนะในทางภูมิรัฐศาสตร์โลก

สำหรับต่อจีน ใช้การ “บิดแขน” อย่างหนัก แต่จีนก็พร้อมที่จะตอบโต้ เป็นสงครามที่ดูไม่จืด แต่ก็น่ากลัว เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ (ดูบทความของ Alastair Crook ชื่อ Behind Korea, Iran & Russia Tensions : The Lurking Financial War ใน strategic-culture.org 31.12.2017)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการแยกตัวจากดอลลาร์สหรัฐของแกนจีน-รัสเซีย-อิหร่าน