สุจิตต์ วงษ์เทศ / ใครๆ ก็พูดภาษาไทย เป็นภาษากลางของดินแดนภายใน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ใครๆ ก็พูดภาษาไทย เป็นภาษากลางของดินแดนภายใน

ภาษาไทยไม่มีกำเนิดเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในของภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์

เพราะง่ายต่อการสื่อสารและการเรียนรู้ของบรรดาผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้ใครๆ ก็พูดภาษาไทย แล้วกลายตนเองเป็นคนไทย

[ไม่เกี่ยวกับชนชาติไทยและเชื้อชาติไทย เพราะไม่มีจริง]

ความเป็นไทย มาจากตระกูลภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท กลืนกลายคนนานาชาติพันธุ์ที่เคยอยู่มาก่อนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ให้เป็นคนไทย

ภาษาไทยเก่าสุด

ภาษาไทยเก่าสุด มีหลักแหล่งทางภาคใต้ของจีน ราว 2,500 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง จัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได หรือตระกูลไต-ไท

[จีนเรียกตระกูลภาษาจ้วง-ต้ง ปัจจุบันยังมีชาวจ้วง พูดภาษาจ้วง (ไท-กะได) มากกว่า 10 ล้านคน แต่ไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย]

[จากหนังสือ จ้วง : พี่น้องเผ่าไทยเก่าแก่ที่สุด ของ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2536 หน้า 5-34]

ภาษาเคลื่อนไป คนไม่ต้องไป

ภาษาไทย เป็นภาษากลางทางการค้าทางไกลภายในภาคพื้นทวีป และเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกา

มีบริเวณกว้างขวางมาก เช่น ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงลุ่มน้ำสาขาต่างๆ เพราะมีแรงผลักดันจากการค้าของป่าทางไกลของกลุ่มไต-ไท

[มีคำอธิบายอย่างละเอียดในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549 หน้า 44-46]

ภาษาเคลื่อนที่ไปไกลมากด้วยเหตุผลทางการค้า โดยไม่จำเป็นที่คนเจ้าของภาษานั้นๆ ต้องโยกย้ายไปด้วย (หรือจะไปก็ได้ ไม่ผูกมัด)

[มีรายละเอียดในบทความเรื่อง “ภาษาตระกูลไท เบื้องหลังแนวคิดแบบอุปลักษณ์” ของ แอนโทนี่ ดิลเลอร์ หนังสือ “คนไทย (เดิม) ไม่ได้อยู่ที่นี่” สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533 หน้า 136-137]

ดังนั้น คนไทยพูดภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่กวางสี, กวางตุ้ง หรือที่หนึ่งที่ใดทางภาคใต้ของจีน เพราะใครๆ ก็เป็นไทยได้

ไม่ไทย

คนพูดภาษาไทยเหล่านั้น (ในลุ่มน้ำต่างๆ) ไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย แต่มีชื่อเรียกตัวเองหลากหลาย เช่น ลาว, ลื้อ, จ้วง, ผู้ไท ฯลฯ แล้วต่างเคลื่อนไหวไปตามเส้นทางการค้าภายใน 2 สาย ได้แก่

(1) เส้นตะวันตก ถึงลุ่มน้ำสาละวิน ออกเสียง ท เป็น ต และ พ เป็น ป

(2) เส้นตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถึงคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ออกเสียงตรง ท เป็น ท และ พ เป็น พ

ภาษาพูด ไม่ชี้ขาดตัดสินว่าไผเป็นไผ? ใครเป็นใคร? เพราะภาษาเคลื่อนที่ได้ แล้วหยิบยืมกันได้

เพราะคนในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปเป็นเครือญาติกัน (ดังนิทานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง มีคน 5 จำพวก) จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เรียกตระกูลภาษาได้ราว 5 ตระกูล ล้วนเป็นเครือญาติกันหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เครือญาติชาติพันธุ์, เครือญาติชาติภาษา

ชาติภาษาเปลี่ยนได้

คนมีกำเนิดในวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่ง ครั้นนานไปก็ปรับเปลี่ยนเป็นคนในวัฒนธรรมอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้

การปรับเปลี่ยนนั้นทั้งด้วยความสมัครใจของตนเอง และโดยความเข้าใจของคนอื่น แสดงว่าไม่มีอะไรตายตัว เหมือนคนไม่ไทยก็เป็นไทยได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

คนพูดตระกูลภาษาเดียวกัน แต่ถูกคนอื่นจำแนกให้เป็นคนละพวกก็ได้ ดังมีพยานอยู่ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ (หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่งสมัย ร.3) ว่าคนชั้นนำยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จำแนกคนอื่นๆ เท่าที่รู้จักเป็นกลุ่มๆ เหล่าๆ แล้วเรียกชาติภาษา ดังนี้

คนพูดตระกูลภาษาไต-ไท (หรือไท-กะได) จำแนกเป็นหลายชาติภาษา ได้แก่ ไทย, ลาว, ลาวน้ำหมึก, ลาวลื้อ, ลาวเงี้ยว, ลาวทรงดำ, ลาวทรงขาว, ไทยใหญ่

คนพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร จำแนกเป็นหลายชาติภาษา ได้แก่ เขมรกัมพุช, เขมรดง, เขมรละมาด, เขมรส่วย, รามัญ, ทวาย, กระแซ, ม้อย, ละว้า, ข่าบก ฯลฯ

มีหลักฐานเกี่ยวกับคนที่สูงกลุ่มหนึ่งในเวียดนาม ล้วนผิวคล้ำ แต่ใส่เสื้อผ้าย้อมฝาดสีแดง มีกำเนิดในตระกูลภาษามอญ-เขมร ถูกเรียกอย่างเหยียดๆ จากชาวอานำ (อันนัม, ญวน) ว่า ม้อย หมายถึง ผี (คือไม่ใช่คน) แต่พวกลาวๆ เรียกตามเครื่องแต่งตัวว่า ผู้ไทแดง หมายถึง คนชุดแดง

เรื่องนี้มีบอกในหนังสือนิราศเมืองหลวงพระบาง ของ ร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) [แต่งเมื่อไปราชการในกองทัพ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) แม่ทัพใหญ่ยกไปปราบฮ่อเมืองแถง พ.ศ. 2428] มีความตอนหนึ่งดังนี้

ม้อยนี้หมายฝ่ายอานำเขาร่ำเรียก ลาวสำเหนียกนึกจำนรรจ์จึงหันเหียน

เห็นใช้ผ้าย้อมฝาดทั้งคาดเคียน จึงเรียกเพี้ยนแผกไปผู้ไทยแดง

คนพวกนี้มีอนันต์หัวพันห้า เคยอยู่มาก่อนเก่าเล่าแถลง

ครั้นคบฮ่อต่อเติบกำเริบแรง บ้างก็แปลงปลอมตัวไว้หัวเปีย

หัวเหมือนฮ่อฮ้อไม่เป็นเล่นข้าวเหนียว จนพุงเขียวขึ้นป่องเป็นท้องเหี้ย

เมื่อตั้งทัพกลับรอมาคลอเคลีย ได้พูดเกลี้ยกล่อมให้กลับใจคืน

ในทางวิชาการด้านมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์ อาจมีข้อถกเถียงยังไม่ยุติกรณีกลุ่มคนเรียก ม้อย กับผู้ไทแดงหรือไทแดง ว่าจริง หรือไม่จริง

จึงยิ่งเป็นพยานว่าความเป็นไทยในยุคดั้งเดิม เป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา (ไม่ใช่ชนชาติเชื้อชาติ)

การปรับเปลี่ยนประสมกลมกลืนจากคนไม่ไทยเป็นคนไทย มีต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนทุกวันนี้ มีหลักฐานวิชาการจำนวนมากยืนยัน (ผมเคยเขียนเล่าไว้นานแล้วในหนังสือไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534 หน้า 153-154)