ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
แม้คอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) จะเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่เข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ความแพร่หลายในวงกว้างก็ยังค่อนข้างจำกัด ณ ช่วงนั้น เพราะวัสดุหลักที่สำคัญ คือ ปูนซีเมนต์ ยังไม่สามารถผลิตใช้ได้เองในประเทศ
จนเมื่อมีการก่อตั้งบริษัทผลิตปูนซีเมนต์ขึ้นใช้เองในสมัยรัชกาลที่ 6 ความเปลี่ยนแปลงในวงการก่อสร้างแบบสมัยใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
การก่อสร้างอาคารด้วยคอนกรีตเริ่มขยายตัวมากในช่วงรัชกาลที่ 7 และกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สิ่งปลูกสร้างภาครัฐทั้งหมดในยุคนี้ล้วนก่อสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างประเภทนี้ และไม่เพียงแค่อาคารของภาครัฐ อาคารบ้านเรือนภาคเอกชน ไม่เว้นแม้กระทั่งศาสนสถานก็เริ่มหันมาใช้คอนกรีตเป็นวิธีการก่อสร้างแทน
ด้วยราคาที่ถูก มีความคงทนถาวร และสามารถนำไปออกแบบก่อสร้างในรูปแบบที่สามารถพลิกแพลงแปลกใหม่ออกไปจากอดีตได้เยอะซึ่งการก่อสร้างโดยใช้โครงสร้างแบบจารีตไม่สามารถให้ได้ ทั้งหมดทำให้คอนกรีตได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
บทความของสถาปนิกในปี พ.ศ.2477 ชิ้นหนึ่ง บรรยายภาพบรรยากาศของความนิยมในวิธีการก่อสร้างนี้ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้อย่างชัดเจน ความว่า
“…คอนกรีต เป็นของที่ต้องเข้าอยู่ประจำคู่บ้านคู่เมือง เช่นเดียวกับโต๊ะเก้าอี้ ซึ่งต้องมีประจำอยู่ในบ้านเรือนเราในสมัยนี้เสียแล้ว ไม่มีของสำหรับก่อสร้างอย่างใด ที่ได้มาตีตลาดแตกอย่างรวดเร็ว และเด็ดขาดเท่ากับคอนกรีต ไม่มีของสำหรับใช้ก่อสร้างอย่างใดที่ได้รับความนิยมเห่อเหิมใช้กันอย่างแพร่หลายดังคอนกรีต…คอนกรีตมีเสน่ห์ล่อให้ช่างก่อสร้างลุ่มหลง…” (ส. สุภัง, “คอนกรีต-คุณอนันต์ โทษมหันต์,” จดหมายเหตุสมาคมสถาปนิกสยาม, หน้า 2.)
แน่นอนว่า การใช้คอนกรีตในช่วงแรกจำเป็นต้องอาศัยผู้มีทักษะสูง เนื่องจากเป็นของใหม่ แต่ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปี สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ช่างก่อสร้างทั่วไปที่แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนวิชาในมหาวิทยาลัยก็สามารถทำเองได้ และไม่เกินไปนักหากจะสรุปว่า เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคหลัง พ.ศ.2500 คอนกรีตก็มีสถานะไม่ต่างจากยาสามัญประจำบ้านที่หาง่าย ใช้คล่อง ราคาถูก และแก้ไขปัญหาการก่อสร้างได้สารพัดอย่าง

ที่มาภาพ : เพจ Unseen Tour Thailand
คุณลักษณะะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอดีกับช่วงเวลาที่วัดพุทธศาสนากำลังต้องการแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ในการออกแบบก่อสร้างรูปเคารพและอาคารประเภทใหม่ๆ ภายในเขตธรณีสงฆ์เพื่อสร้างแรงศรัทธาชุดใหม่ภายใต้พลังสนับสนุนของระบบทุนนิยม
การเกิดขึ้นของ “พระกกุสันโธ” คอนกรีต สูง 58 เมตร รวมถึงประติมากรรมเปรตขนาดใหญ่ ภายในวัดไผ่โรงวัวในช่วงทศวรรษ 2510 คือตัวอย่างที่ชัดเจน
ยิ่งเมื่อ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ถือกำเนิดขึ้นในราวทศวรรษ 2520 ซึ่งนำพาสังคมไทยไปสู่การนับถือเทพเจ้าแบบผสมปนเปข้ามลัทธิและศาสนาจนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพุทธศาสนาแบบไทยๆ ในปัจจุบัน คอนกรีตยิ่งเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะขาดไปไม่ได้
เมื่อวัดพุทธศาสนาต้องการสร้างประติมากรรมเทพเจ้าแห่งโชคลาภและความร่ำรวยตามลัทธิความเชื่ออันหลากหลายทั่วทุกมุมโลก สิ่งที่จะโน้มนำศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างที่ประทับของเหล่าเทพเจ้าที่เดินทางมาจากนานาศาสนาและนานาชาติให้ได้อย่างสอดคล้องไปกับที่ประทับต้นแบบดั้งเดิมตามความเชื่อของเหล่าเทพเจ้าเหล่านั้น
เจ้าแม่กวนอิมภายใต้วิมานแบบจีน พระพิฆเนศภายในเทวสถานแบบฮินดู พญานาคองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงเทพเจ้าสมัยใหม่ที่เรียกร้องสถาปัตยกรรมที่ก้าวพ้นไปจากรูปแบบเดิมๆ เพื่อสร้างความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ที่แปลกใหม่น่าประทับใจแก่ผู้มาเยือน ทั้งหมดนี้ก่อนหน้าที่จะมีคอนกรีต เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้
ในอดีต หากต้องการสร้างเก๋งจีนให้ได้ตามรูปแบบที่สวยงาม ต้องสร้างขึ้นจากโครงหลังคาไม้ที่เรียกร้องทักษะการก่อสร้างเฉพาะของช่างจีน แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยากและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
หรือการก่อสร้างเทวสถานแบบฮินดูก็เรียกร้องทักษะการก่อสร้างเฉพาะที่ยากมากเกินกว่าช่างไทยจะทำได้
แต่ทั้งหมดคอนกรีตสามารถทำให้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
ช่างไม่จำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างที่แท้จริงภายในว่าสร้างอย่างไร ช่างสนใจเพียงแค่ทำหน้าตาและเปลือกภายนอกอาคารให้เหมือนต้นแบบก็พอ ส่วนโครงสร้างภายใน คอนกรีตสามารถทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในวิธีการที่ง่ายและประหยัดขึ้นหลายเท่าตัว

ที่มาภาพ : เพจ CBT Thailand
ยิ่งไปกว่านั้น หากวัดต้องการสร้างประติมากรรมเทพ สัตว์หิมพานต์ หรือจำลองพื้นที่สวรรค์ นรก ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาหรือนิมิตพิสดารของเจ้าอาวาส (ซึ่งทั้งหมดล้วนยากเกินกว่าเทคโนโลยีการก่อสร้างในอดีต) คอนกรีตก็ช่วยบันดาลให้เกิดขึ้นได้ภายใต้งบประมาณที่ไม่แพงจนเกินไป
วัดดอนขนาก จ.นครปฐม เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญของปรากฏการณ์นี้
แต่เดิมวัดดอนขนากเป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2450 ต่อมายกสถานะเป็นวัด (วัดมหานิกาย) พร้อมทำการก่อสร้างอาคารในเขตพุทธวาสขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2499 ตัววัดไม่มีอะไรสามารถดึงดูดผู้คนได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาตั้งวัดใหม่ในเขตพื้นที่เมืองนครปฐมซึ่งเต็มไปด้วยวัดใหญ่ เก่าแก่ และมีโบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันวัดแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญที่คนสายทำบุญสายมูห้ามพลาด
พื้นที่วัดเป็นไปตามสูตรวัดปาฏิหาริย์พาณิชย์ คือ เขตพุทธาวาสมีขนาดเล็กและมิได้มีความสำคัญมากนัก พื้นที่หลักคือเขตธรณีสงฆ์ทางทิศใต้ที่มีพื้นที่มากกว่าและเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่จากคอนกรีตที่สอดคล้องกับ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง”
ที่สำคัญคือ พระนอนยาว 19 เมตร ที่มีพญามังกรอยู่บนพระเศียร และอาคาร “พญานาคราช 9 ตระกูล” ที่ออกแบบให้เป็นเสมือนภูเขาขนาดใหญ่รายล้อมไปด้วยพญานาค 9 ตระกูลและสัตว์หิมพานต์ต่างๆ โดยเราสามารถเดินเข้าไปภายในภูเขาซึ่งจำลองบรรยากาศของถ้ำพญานาคเอาไว้ ซึ่ง ณ จุดนี้เองคือไฮไลต์หลักของวัดสำหรับการขอโชคลาภ
วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์มิได้มีเฉพาะวัดมหานิกายเท่านั้นนะครับ วัดธรรมยุติกนิกายที่หลายคนมักคิดว่าเป็นวัดสายปฏิบัติที่เคร่งครัดและสมถะก็ตกอยู่ในกระแสดังกล่าวเช่นกัน
วัดสมานรัตนาราม จ.ฉะเชิงเทรา คือวัดตัวอย่างของกรณีนี้ที่ชัดเจนที่สุด
จากหลักฐาน ตัววัดก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ.2422 โดยเริ่มต้นเป็นวัดมหานิกาย แต่ต่อมาไม่นานได้เปลี่ยนเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย วัดแห่งนี้เป็นวัดชาวบ้านขนาดเล็กที่ไม่มีอะไรดึงดูดผู้คนเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในวัดที่คนสายมูจะต้องไม่พลาด ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายหลักของผู้ไปวัด ไม่ใช่การไปยังเขตพุทธาวาสของวัด แต่คือเขตธรณีสงฆ์นอกกำแพงแก้วของโบสถ์ที่มีขนาดใหญ่โตและเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างแบบผสมผสานหลากหลายความเชื่อเข้าด้วยกัน
ไฮไลต์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์หลักของวัดคือ องค์พระพิฆเนศ ปางนอนเสวยสุข ขนาดใหญ่สูง 16 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างจากคอนกรีต ด้านหน้ามีประติมากรรมหนูยืนทำท่าป้องหูตั้งอยู่ ซึ่งผู้มาทำบุญต้องเดินมากระซิบขอพรที่หูหนูจึงจะทำให้พรที่ขอสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังมีประติมากรรมท้าวเวสสุวรรณสำหรับขอพรเรียกทรัพย์เสริมวาสนา, พระพรหมขนาดใหญ่, องค์เจ้าแม่กวนอิม ปางประทานบุตรและโชคลาภ, จระเข้โหราเทพารักษ์ที่ให้โชคด้านการเงินและการงาน, ราหูขอพรคุ้มภัย แก้ปีชง, รวมไปถึงพระธาตุอินแขวนจำลองสำหรับคนที่ศรัทธา ฯลฯ
จาก 3 ตัวอย่างที่ยกมา (วัดไผ่โรงวัว, วัดดอนขนาก และวัดสมานรัตนาราม) เราจะมองเห็นลักษณะร่วมที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์มักเกิดขึ้นกับวัดขนาดเล็ก วัดอยู่ห่างไกลย่านชุมชนจนที่ดินไม่มีค่ามากนักในสายตานักลงทุน วัดไม่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและไม่มีโบราณวัตถุสำคัญระดับชาติ หรือพูดให้ชัดลงไปก็คือวัดที่ไม่มีจุดขายอะไรมากนักในการดึงดูดผู้คนและรายได้เข้าวัด
วัดที่มีพื้นฐานไม่ดีดังกล่าวเมื่อต้องหาเลี้ยงตนเองแบบ “คอมปะนี” ภายใต้ระบบทุนนิยม พุทธพาณิชย์ และเงื่อนไขการให้สมณศักดิ์สมัยใหม่ จึงเลือกที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเกิดขึ้นของ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ในการเปลี่ยนเขตธรณีสงฆ์ภายในวัดให้กลายมาเป็นพื้นที่ชนิดใหม่ที่หลอมรวมเงื่อนไขทั้งหมดเข้าด้วยกัน
และการจะทำให้วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์เกิดขึ้นได้จริง “คอนกรีตเสริมเหล็ก” คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ วัสดุประเภทนี้ได้ก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการแปลงจินตนาการใหม่ทางศาสนาให้เกิดกลายเป็นรูปธรรมจริงที่จับต้องได้ต่อหน้าต่อตาของผู้ศรัทธา