เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระไตรปิฎกนานาภาษา – พระไตรปิฎกฉบับสันสกฤต

พระไตรปิฎกนานาภาษา (๓) พระไตรปิฎกฉบับสันสกฤต

1.หลักฐานเก่าแก่ที่สุดโยงไปถึงการทำสังคายนาสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ที่เมืองชลันธร มีพระปารศวะเป็นประธาน เมื่อ พ.ศ.300 การสังคายนาครั้งนี้เป็นฝ่ายสรวาสติวาท (สัพพัตถิกวาท) พระสงฆ์จำนวน 500 รูป เข้าร่วม นัยว่ามีพระสงฆ์นิกายอื่นเข้าร่วมด้วย

หลายท่านกล่าวว่าการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นฝ่ายมหายาน ความจริงมิใช่ เพียงแต่สรวาสติวาท ใช้ภาษาสันสกฤตเท่านั้น สรวาสติวาท เป็นแขนงของหินยาน หรือเถรวาท

สมณะเฮี่ยงจัง (ถังซำจั๋ง) เล่าว่า ได้มีการร้อยกรองคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก อันเรียกว่า ภาษยะ คือ

คัมภีร์ อธิบายพระสุตตันตปิฎก เรียกว่า อุปเทศศาสตร์ 1 แสนโศลก

คัมภีร์ อธิบายพระวินัยปิฎกชื่อ วินยภาษาศาสตร์ 1 แสนโศลก

คัมภีร์ อธิบายพระอภิธรรมปิฎกชื่อ อภิธรรมภาษาศาสตร์ 1 แสนโศลก

รวม 3 แสนโศลก โปรดให้จารึกลงแผ่นทองแดง บรรจุหีบศิลาใส่ไว้ในสถูป นิกายนี้นับถืออภิธรรมวิภาษาศาสตร์มาก จึงมีชื่อเรียกนิกายว่า “ไวภาษิกะ” ซึ่งตามคัมภีร์ปรัชญาอินเดีย ถ้าแบ่งนิกายทางความคิดจะแบ่งเป็น 4 เท่านั้นคือ เสาตรานติกะ, ไวภาษิกะ, มาธยมิกะ หรือสุญญวาท และวิชญานวาท (วิญญาณวาท)

2. พระไตรปิฎกสันสกฤต มี 3 ปิฎก คือ พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม เช่นเดียวกันกับพระไตรปิฎกฝ่ายบาลี

ก. พระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น 4 หมวด เรียกอาคม หรือทีรฆาคม, มัธยมาคม, สังยุกตาคม, เอโกตตราคม

– ทีรฆาคม มี 30 สูตร น้อยกว่าทีฆนิกายของฉบับบาลี 4 สูตร ส่วนนี้มีชื่อและเนื้อหาของพระสูตรคล้ายกันมาก

– มัธยมาคม มี 222 สูตร (บาลี 152 สูตร) ตรงกับฉบับบาลี 82 สูตรเท่านั้น ที่เหลือเนื้อหาตรงกับทีฆนิกายบ้าง มัชฌิมนิกายและที่อื่นๆ บ้าง บางสูตรก็เนื้อหาแตกต่างออกไปมาก

– สังยุกตาคม แบ่ง 50 ภาค มี 318 สูตร ที่มีสูตรน้อยเพราะที่เหลือไปจัดไว้ในทีรฆาคม, มัธยามาคม และเอโกตตราคม (บาลี 7,762 สูตร)

– เอโกตตราคม มี 52 ภาค ไม่ระบุว่ามีกี่สูตร (บาลี 169 สูตร)

– กษุทราคม ไม่อ้างถึง ไม่มีเนื้อหาแน่นอน จึงสันนิษฐานว่า นิกายสรวาสติวาทนี้มี 4 อาคมเท่านั้น หรือมีแต่ตอนต้น แต่เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจมาก จึงหายไปในภายหลังก็อาจเป็นได้

ข. พระวินัยปิฎกฝ่ายสันสกฤต แบ่งดังนี้

– วินยวิภังคะ ตรงกับสุตตวิภังค์ของเถรวาท

– วินยวัสตุ ตรงกับขันธกะของเถรวาท

– วินยกษุทระ และอุตตรครันถะ ตรงกับปริวารวรรคของเถรวาท

ค. พระอภิธรรมปิฎก ของฝ่ายสันสกฤต แบ่งดังนี้

– ชญานปรัสถานะ พระกาตยานีบุตรแต่ง

– สังคีติปรยายะ พระสารีบุตรแต่ง

– ปกรณปาทะ วสุมิตระแต่ง เฮี่ยงจังตอนไปอินเดียได้ศึกษาคัมภีร์นี้ กลับจีนแล้วแปลสู่ภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.1202

– วิชญานกายะ ท่านเทวศรมันแต่ง เฮี่ยงจังแปลสู่ภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.1192

– ธาตุกายะ ท่านวสุมิตระแต่ง เฮี่ยงจังแปลเป็นจีน เมื่อ พ.ศ.1192

– ธรรมสกันธะ พระโมคคัลลานะ (บางท่านว่า พระสารีบุตร) แต่ง เฮี่ยงจังแปล พ.ศ.1193

– ปรัชญัปติศาสตร์ พระโมคคัลลานะ (เสถียร โพธินันทะ ว่า ท่านธรรมปาละแต่งน่าจะสับสนกับผู้แปลเป็นจีนมากกว่า ผู้แปลคนแรกชื่อ ฟาหู คงคนเดียวกับธรรมปาละ

พระไตรปิฎกภาษาจีน

1.ยุคตำนาน สมัยพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ (พ.ศ.601-618) เล่าว่า พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ ทรงพระสุบินนิมิตเห็นเทพยดากายสีเหลืองดังทอง เหาะมาหน้าปราสาทพระองค์ โหราจารย์ทำนายว่า มีมหาสมณะรูปหนึ่งเป็นเจ้าชายอินเดีย มีพระฉวีวรรณงดงามดังทอง มีคำสอนลึกซึ้ง คำสอนของท่านผู้นี้อาจมาถึงประเทศจีนก็ได้

พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ดีพระทัยมาก จัดส่งทูต 18 คน ไปสืบข่าวพระพุทธศาสนาในเขตเอเชียกลางโดยเฉพาะเมืองโขตาน (ปัจจุบัน อยู่ตะวันตกเฉียงใต้ แถบมณฑลซินเจียง)

คณะทูตได้พบกับพระกาศยปะมาตังคะ และพระธรรมรักษะ จึงนิมนต์มายังเมืองลั่วหยาง (ลกเอี๋ยง) พระเถระสองรูปนี้เป็นชาวเผ่ากุษาณ เชื้อสายเดียวกับกนิษกมหาราชแห่งอินเดีย)

ท่านทั้งสองได้บรรทุกคัมภีร์พระสูตร 1 แสนโศลกบนหลังม้าขาว เดินทางมาจีนผ่านเส้นทางสายไหม เมื่อ พ.ศ.602 พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ได้สร้างวัดแป๊ะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) เป็นอนุสรณ์ม้าขาวที่บรรทุกคัมภีร์พระไตรปิฎก (นัยว่าพอไปถึงม้าก็ตาย)

ท่านกาศยปะมาตังคะ และท่านธรรมรักษะ ซึ่งจีนเรียกว่า เชียฉี โมเต็ง และจูฟาลัน ช่วยกันแปลคัมภีร์พุทธศาสนา (โดยเฉพาะของนิกายสรวาสติวาท) นี้เป็นยุคแรกที่มีการพูดถึงพระพุทธศาสนาและคัมภีร์พระพุทธศาสนาในประเทศจีน

2. ในยุคสามก๊ก ราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.808-965) และราชวงศ์ตอนเหนือและตอนใต้ (พ.ศ.963-1124) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-13 พุทธศาสนาได้เจริญในประเทศจีนมาก กล่าวกันว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 มีวัดกว่า 3 หมื่นวัด มีพระภิกษุ-ภิกษุณี ประมาณ 2 แสนรูป ในทางภาคเหนือของจีน ทางภาคใต้พบว่ามีวัดมากกว่า 2 แสน 8 หมื่นวัด มีพระภิกษุ-ภิกษุณี 8 หมื่น 4 พัน 7 ร้อยรูป

3. เกี่ยวกับการแปลพระไตรปิฎกสู่ภาษาจีน

– แปลจากคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของนิกายสรวาสติวาทเป็นส่วนใหญ่

– ผู้แปลมีทั้งพระและฆราวาส ที่เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตและภาษาจีน

– การแปลเริ่มต้นตั้งแต่แรกพุทธศาสนาเข้าสู่จีน พ.ศ.602-1699 กินเวลาเป็น 1,000 ปี

– ผู้แปลที่ควรทราบ เช่น พระกัศยปะมาตังคะ พระธรรมรักษะ (สมัยราชวงศ์ฮั่น ราว พ.ศ.602, พระอันเสื้อเกา ชาวเปอร์เซียสังกัดนิกายสรวาสติวาท มาเมืองลกเอี๋ยง พ.ศ.691 สมัยราชวงศ์ฮั่น, พระสังฆเทวะ (พ.ศ.926), ท่านกุมารพุทธิ (926), พระธรรมนันทะ (927), คุณภัทระ (927)

จะลืมไม่ได้คือ สมณะเฮี่ยงจัง (ถังซัมจั๋ง) (ระหว่าง พ.ศ.1172-1188) เล่าว่าท่านตอนกลับสู่เมืองจีน ได้นำคัมภีร์มาด้วยถึง 657 คัมภีร์ มีพระสูตรมหายาน 224 คัมภีร์ พระอภิธรรมมหายาน 192 คัมภีร์ และคัมภีร์ของนิกายสรวาสติวาท 67 คัมภีร์

เฮี่ยงจังพักอยู่ที่วัดฮงฮกยี่ (ไท้จงฮ่องเต้สร้างถวาย และวัดอึ้งยี่ (ถังเกาจงสร้างถวาย) ณ นครลกเอี๋ยง ตลอด 19 พรรษา ผลงานแปลของท่าน 75 ชุด เป็นหนังสือถึง 1,335 ผูก

4. การพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาจีน

การพิมพ์พระไตรปิฎกในจีน ในระยะแรก คงใช้วิธีการเขียนลงบนกระดาษม้วนยาวๆ ที่เรียกว่า chuan แปลว่า บท, (Chapter) หรือภาค (Section) ม้วนกระดาษ (Chuan) นี้ ท่านนำกระดาษหลายๆ แผ่นมาต่อกัน แล้วพับเป็นพับๆ เขียนเพียงด้านเดียว มีนักบวชในลัทธิเต๋า เคยพบต้นฉบับเช่นที่ว่า ในเขตตุนฮวง (Tun Huang) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อไม่นานมานี้ (คริสต์ศตวรรษที่ 19) เป็นคัมภีร์พระวินัย มีอายุราว พ.ศ.949 ยาวถึง 23-29 ฟุต ปัจจุบันยังมีบางส่วนเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ

ต่อมาจีนได้คิดค้นระบบพิมพ์ (Block Printing) ขึ้นได้เมื่อศตวรรษที่ 8 และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกออกเผยแพร่ไปหลายฉบับ ขอนำมากล่าวโดยสรุปดังนี้

1. ในปี พ.ศ.1465 พระเจ้าจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง (Song) ได้มีพระบัญชาให้ทำแม่พิมพ์ (Block) ถึง 130,000 ชิ้น เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎกและงานนี้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.1526 ณ เมืองเฉิงตู (Cheng-tu) พระไตรปิฎกชุดแรกนี้เรียกว่า “ซูเผิง” (Shu-peng) หรือฉบับเสฉวน (Szechuan Edition) มี 1,076 คัมภีร์, 480 กล่อง 5,048 ผูก

2. ต่อมาในปี พ.ศ.1687-1718 เกิดพระไตรปิฎกฉบับเอกชนฉบับแรก ชื่อฉบับ วัดตุงฉาน (Tun-chan) พิมพ์ในเมืองฝูโจว (Fuzhou) ประกอบด้วยหนังสือ 595 กล่อง 6,434 ผูก

3. ฉบับต่อมาคือ ฉบับวัดฝูโจวไก้หยวน (Fuzhou Kaiyuan) เริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ.1655 เสร็จเมื่อปี พ.ศ.1715 พิมพ์ในเมืองฝูโจว เป็นหนังสือ 567กล่อง 6,117 ผูก

นอกจากนี้ ยังมีพระไตรปิฎก ซึ่งราชวงศ์ต่างๆ รับสั่งให้พิมพ์ขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับราชวงศ์ซ่ง (Song) 2 ฉบับ และฉบับราชวงศ์หยวน (Yuan) เรียกว่า ฉบับมงโกล อีก 3 ฉบับ

ยังมีของพระเจ้าเหลียว (Liao) อีก 1 ฉบับ (พ.ศ.1574-1607) มีฉบับของราชวงศ์ฉิน (Chin) (พ.ศ.1686-1716) พิมพ์ที่เมืองฉางซือ (Chang si) นอกจากนี้ ยังมีฉบับของราชวงศ์หมิง (Ming) 2 ฉบับ คือที่พิมพ์ที่เมืองนานกิงกับเมืองปักกิ่ง และมีฉบับราชวงศ์แมนจู (Manchu) อีก 2 ฉบับ คือ ฉบับ พ.ศ.2220 และฉบับ พ.ศ.2281

ฉบับล่าสุดพิมพ์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) เรียกว่า พระไตรปิฎกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ (Movable type) เริ่มพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2452 จบเมื่อ พ.ศ.2457

พระไตรปิฎกฉบับญี่ปุ่นและทิเบต

การพิมพ์พระไตรปิฎกของจีนและญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันก็มารวมกันที่พระไตรปิฎกชุดไทโช ซึ่งนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นได้จัดรวบรวมพิมพ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2465 ถึง พ.ศ.2476 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

พระไตรปิฎกชุดไทโชนี้ ได้รวมพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม พระสูตรมหายานและคำอธิบายของพระชาวญี่ปุ่น ฯลฯ รวมเป็น 85 เล่มใหญ่ (เล่มหนึ่งหนากว่า 1,000 หน้า) มี 3,053 เรื่อง

ขอแถมท้ายด้วยพระไตรปิฎก ฉบับภาษาทิเบต อีกเล็กน้อย นัยว่า พระไตรปิฎก ฉบับภาษาทิเบต นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับคือ

1. ฉบับกันชุร (Kanjur) หรือ Bkan hgyur แบ่งเป็น 7 ภาค คือ พระวินัย, ปรัชญา ปารมิตา, พุทธวตํสกะ, รัตนกูฏะ, พระสูตร, นิรวาณะและตันตระ และประกอบด้วย 1,108 คัมภีร์

2. ฉบับตันชุร (Tanjur) หรือ Bstah – hgyur แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคพระสูตร และภาคตันตระ บรรจุพระคัมภีร์ถึง 3,458 คัมภีร์

รวมพระไตรปิฎกทั้งสองชุด มีพระคัมภีร์ถึง 4,566 คัมภีร์