วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (5)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฉ.การเมืองใต้เงานิตินิยม (ต่อ)

แต่ภายหลังทรงเป็นจักรพรรดิแล้ว หลักคิดนิตินิยมก็ถูกใช้อย่างเข้มข้นควบคู่ไปกับการทำให้จักรวรรดิมีเอกภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการปฏิรูปการปกครอง

จนเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางในระดับหนึ่งแล้ว แทนที่ฉินสื่อจะวางตนเป็นจักรพรรดิให้เหมาะสม พระองค์กลับทรงใช้ชีวิตที่เสพสุขเกินพอดี และคิดถึงชีวิตอมตะเพื่อที่จะปกครองจักรวรรดิไปชั่วกัลปาวสาน จากนั้นก็ทรงทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อสนองแรงปรารถนานี้

ชีวิตที่ลุ่มหลงในสุรานารีทำให้ฉินสื่อทรงมีบัญชาให้สร้างวังหลวงที่หรูหราใหญ่โตโอ่อ่าวังแล้ววังเล่า โดยเฉพาะวังเออฝางกงที่ใช้แรงงานเกณฑ์สูงถึง 700,000 คน และแรงงานจำนวนใกล้เคียงกันนี้ยังถูกเกณฑ์ไปสร้างสุสานของพระองค์อีกด้วย1

แรงงานที่เกณฑ์ราษฎรมาสร้างจึงมีมหาศาล

ครั้นงบประมาณไม่พอก็ทรงให้เพิ่มภาษีเอาจากราษฎรซึ่งส่วนใหญ่คือชาวนา จากการนี้เมื่อรวมเข้ากับแรงงานเกณฑ์ที่สร้างกำแพงเมืองจีนที่สูงถึง 300,000 คนด้วยแล้ว ก็ยากที่จะประมาณการทรัพยากรที่ได้ทุ่มลงไป

แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองที่ได้ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็คับแค้นใจ

ไม่เพียงความลุ่มหลงในสุรานารีเท่านั้น ฉินสื่อยังทรงเชื่อเรื่องชีวิตอมตะอีกด้วย โดยผู้ที่ทำให้พระองค์เชื่อก็คือ นักพรตผู้หนึ่งในลัทธิเต้า

นักพรตผู้นี้ถวายรายงานต่อพระองค์ว่า ที่ทะเลเบื้องบูรพาทิศมีเกาะสามเกาะ ในเกาะมีผู้วิเศษสถิตอยู่และมียาอายุวัฒนะ หากไปถึงสามเกาะนี้จักพึงได้ยานี้มา

จากเหตุนี้ ในปี ก.ค.ศ.219 ฉินสื่อจึงทรงให้เด็กชาย-หญิงนับพันคนลงเรือไปพร้อมกับนักพรตเพื่อหายาดังกล่าว แต่คนกลุ่มนี้ก็หายสูญไปไม่กลับมา

ครั้นถึง ก.ค.ศ.215 พระองค์ก็ทรงให้นักพรตอีกกลุ่มหนึ่งไปตามหายาที่ว่าอีก แต่ก็ล้มเหลวโดยอ้างว่าเป็นเพราะมีภูตผีปีศาจคอยขัดขวาง แล้วถวายคำแนะนำให้พระองค์หลีกลี้ผู้คนมิให้ภูตผีปีศาจเห็น

และฉินสื่อก็ทรงเชื่อด้วยการขุดอุโมงค์ใต้ตำหนัก 270 แห่งในเสียนหยาง เพื่อมิให้พระองค์ปรากฏตนบนพื้นพิภพ ยามจะเสด็จไปที่ใดก็ทรงใช้ช่องทางใต้ดินนี้ แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ทำให้พบยา

นักพรตกลุ่มนี้จึงหนีหายไปอีก จนยังความกริ้วมาสู่พระองค์อย่างถึงที่สุด ด้วยโมหจริตในเรื่องนี้ได้ทำให้ราชสำนักเสียงบประมาณไปมาก

 

แต่กระนั้นก็ยังไม่สำคัญเท่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ และเป็นเหตุการณ์ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน

กล่าวคือ ภายหลังจากที่ราชวงศ์ฉินได้ตั้งจักรวรรดิขึ้นแล้ว แม้องค์จักรพรรดิจักสมาทานหลักคิดนิตินิยมก็ตาม แต่ราชบัณฑิตในราชสำนักหลายสิบคนกลับสมาทานหลักคิดสำนักหญูของขงจื่อ ราชบัณฑิตเหล่านี้ย่อมรู้เรื่องราวของอดีตและปัจจุบันเป็นอย่างดี

แต่ด้วยความที่เป็นบัณฑิตสำนักหญู ราชบัณฑิตเหล่านี้จึงยกย่องอดีตมากกว่าปัจจุบัน และวิจารณ์แนวทางนิตินิยมที่ฉินสื่อนำมาใช้ในทางการเมืองว่าจักไม่ยั่งยืน และหมายที่จะให้ฉินสื่อหันมาสมาทานแนวทางของสำนักหญูแทน

เรื่องนี้ได้ยังความไม่พอใจให้แก่หลี่ซือเป็นที่ยิ่ง

หลี่ซือเห็นว่าราชบัณฑิตเหล่านี้กำลังให้ร้ายการปกครองในปัจจุบัน และยังความเสื่อมเสียพระเกียรติแก่จักรพรรดิ จากเหตุนี้ หลี่ซือจึงถวายคำแนะนำต่อฉินสื่อให้เผาตำราของสำนักหญูเสีย โดยให้เหลือแต่ตำราการแพทย์และการเกษตรเอาไว้

ฉินสื่อทรงเห็นด้วยกับหลี่ซือ จากนั้นก็มีบัญชาให้เผาตำราของสำนักหญูทั่วจักรวรรดิภายใน 30 วันเมื่อ ก.ค.ศ.213

ภายหลังเหตุการณ์ “เผาตำรา” ไปแล้วจึงได้เกิดเรื่องที่ฉินสื่อทรงถูกเหล่านักพรตหลอกให้สร้างช่องทางใต้ดินแล้วหนีไป อันทำให้พระองค์ทรงกริ้วเป็นที่ยิ่ง จากเหตุนี้ หลัง ก.ค.ศ.212 ไปแล้ว ฉินสื่อจึงทรงให้จารชนไปสืบดูว่า นอกจากเหล่านักพรตแล้วยังจะมีผู้ใดอีกบ้างที่หมิ่นเดชานุภาพของพระองค์

พอสืบแล้วจารชนก็เข้าถวายรายงานว่า มีเหล่าราชบัณฑิต 460 คนที่มีพฤติกรรมเช่นว่า เมื่อทรงทราบความ พระองค์ก็ให้ลงโทษราชบัณฑิตเหล่านี้ด้วยการฝังทั้งเป็นทั้ง 460 คน

กรณี “เผาตำรา ฝังบัณฑิต” (เฝินซูเคิงหญู) ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียทางภูมิปัญญาอย่างยากที่จะประมาณค่าได้

 

ช.อวสานราชวงศ์ฉิน

ห้วงระหว่างที่โมหจริตเข้าครอบงำฉินสื่ออยู่นั้น พระองค์มีกรณียกิจหนึ่งที่ถือปฏิบัติเป็นบางครั้งบางปี

นั่นคือ การเสด็จประพาสไปยังเมืองต่างๆ ทั้งเพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร

และเพื่อเซ่นบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ต่างๆ สนองความเชื่อเรื่องชีวิตอมตะของพระองค์

โดยก่อน ก.ค.ศ.210 ฉินสื่อเคยเสด็จประพาสมาแล้วสี่ครั้ง ในสี่ครั้งนี้มีบางครั้งที่มีเหตุอันเป็นอัปมงคลเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดขึ้นด้วยไม่ทรงรู้เรื่องจารีตพิธีกรรมของฉินสื่อเอง

และเกิดขึ้นจากการตีความของนักพรตที่ตามเสด็จไปด้วย

ครั้นถึง ก.ค.ศ.210 อันเป็นการเสด็จประพาสครั้งที่ห้า เหตุทำนองนี้ก็เกิดขึ้นอีก

ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อฉินสื่อเสด็จไปถึงเมืองหลางเย๋ที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งมณฑลซานตงในปัจจุบัน ณ ที่นี้นักพรตที่ตามเสด็จไปด้วยได้ถวายรายงานว่า ถัดจากชายฝั่งออกไปมีปลายักษ์ตัวหนึ่งแหวกว่ายอยู่

ปลานี้เป็นอุปสรรคขัดขวางการไปถึงเกาะอมตะ2 อันเป็นเกาะที่มีผู้วิเศษสถิตอยู่และมียาอายุวัฒนะที่พระองค์ปรารถนา

จากเหตุนั้น เหล่าผู้ตามเสด็จจึงวางแผนให้ผู้ฉมังธนูคอยเฝ้าดูปลายักษ์ เพื่อที่พบแล้วจะได้สังหารให้สิ้นอุปสรรค

แต่หลังจากรายงานเรื่องปลายักษ์ดังกล่าวก็ให้ปรากฏว่า ฉินสื่อก็สุบินว่าพระองค์ทรงต่อสู้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากทะเลที่มาในรูปของมนุษย์

เหล่าบัณฑิตที่โดยเสด็จถวายคำทำนายสุบินนี้ว่า การอธิษฐาน การเซ่นสรวง และการใส่ใจในราชกิจจากที่ผ่านมาของพระองค์กำลังขับไล่วิญญาณชั่วในทะเลให้พ้นไป อันจะนำแต่สิ่งดีๆ มาสู่พระองค์

หลังคำทำนายนี้ไม่นานนัก พลฉมังธนูก็พลันพบเข้ากับปลายักษ์ และใช้ธนูสังหารปลานั้นจนสิ้นใจ

แต่หลังสังหารปลายักษ์ไปไม่นาน ขณะที่ขบวนเสด็จที่ยิ่งใหญ่และยาวเหยียดมุ่งหน้ากลับสู่เมืองหลวงไปถึงเมืองซาชิว ที่ปัจจุบันอยู่ใกล้เมืองผิงเซียง มณฑลเหอเป่ย ฉินสื่อก็เกิดประชวรอย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ คือหนักจนทรงรู้พระองค์เองว่าอาจจะไม่รอด

ฉินสื่อจึงมีราชโองการเรียกโอรสองค์โตที่มีพระนามว่าฝูซู ซึ่งเฝ้าชายแดนทางเหนือกับเหมิงเถียนให้กลับไปยังเสียนหยาง เจตนารมณ์ของราชโองการนี้ก็คือจะให้ฝูซูเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป

อนึ่ง ฝูซูผู้โอรสนี้แต่เดิมก็ประทับอยู่ในวังที่เสียนหยางดังบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป แต่คราวที่เกิดเหตุ “ฝังทั้งเป็น” เหล่าบัณฑิตนั้น ฝูซูทรงคัดค้านการลงโทษครั้งนี้ ด้วยว่าเหล่าบัณฑิตนี้มีอยู่หลายคนที่เป็นพระอาจารย์ของฝูซู

แต่การคัดค้านของฝูซูแทนที่จะเป็นผลก็กลับนำความกริ้วมาสู่ฉินสื่อ

จากเหตุนี้ ฉินสื่อจึงทรงลงโทษเนรเทศฝูซูให้ไปเฝ้าชายแดนดังกล่าว โทษนี้มิใช่โทษหนัก จึงมิได้เปลี่ยนเจตนารมณ์ของฉินสื่อในอันที่จะให้ฝูซูเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์แต่อย่างไร

แต่ในขณะที่ราชโองการดังกล่าวยังมิได้ถูกส่งออก ฉินสื่อก็สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน ทั้งราชโองการและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์มีผู้รู้ที่สำคัญอยู่สามคนคือ หลี่ซือ มหาอำมาตย์ผู้เป็นที่ปรึกษาสำคัญดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงเขามาก่อนหน้านี้แล้ว จ้าวเกา ขันทีผู้ถวายใกล้ชิดของฉินสื่อ และหูไฮ่ โอรสองค์เล็กที่สนิทสนมกับฉินสื่อ นอกจากทั้งสามแล้วก็ยังมีขุนนางผู้ใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสที่ประกอบไปด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก

ทั้งยังเป็นขบวนที่ยาวเหยียดอีกด้วย