สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน…เยือน ร.ร. I see U ความงามบนความต่าง ที่แม่สามแลบ (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

คนพร้อม รถพร้อม เสบียงในย่ามพร้อม คาราวานการศึกษา กพฐ. เยือนโรงเรียนไอซียูบนยอดดอย 5 สาย เคลื่อนตัวออกจากแม่สะเรียงตั้งแต่เช้าตรู่ แยกย้ายกันไปตามสภาพทางของใครของมัน

จากถนนคอนกรีตเปลี่ยนเป็นยางมะตอยราบเรียบ ค่อยๆ เป็นลูกรัง ดินอัดบดเป็นหลุมเป็นบ่อ โยกคลอน ลัดเลาะ ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไปตามไหล่เขา สองข้างทางสภาพป่าทึบยังปรากฏร่องรอย ผ่านหมู่บ้านพี่น้องชนเผ่า เรื่อยไปจนถึงเป้าหมายโรงเรียนแรกของสาย

สายที่ 5 นำโดย ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน กพฐ. บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. และ นุชากร มาศฉมาดลา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กรรมการ กพฐ. นักการศึกษาหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง มุ่งหน้ามาตามเส้นทางจนถึงริมแม่น้ำสาละวิน ฝั่งตะวันตกเป็นชายแดนไทย ฝั่งตะวันออกเป็นชายแดนพม่า มองข้ามไปเห็นค่ายทหาร วางกำลังรักษาการณ์อยู่บนเนินเขา

รถวิ่งผ่านชุมชนมุสลิมหลายสิบหลังคาเรือน อดีตเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนพากันอพยพหนีภัยกระสุนปืนและระเบิดที่กองกำลังทหารพม่าบุกเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อย กระเจิดกระเจิงข้ามแม่น้ำมาฝั่งไทย ตั้งรกราก ทำมาหากิน มีลูกหลานกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่บ้านแม่สามแลบ

ที่ตั้งของโรงเรียนบ้านแม่สามแลบ ซึ่งเริ่มมาจากชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นเอง เพื่อให้ลูกหลานมีการศึกษา เปิดการเรียนการสอนปลายปี 2520 ถึงปี 2532-2535 ต้องปิดลงเหตุจากการสู้รบในฝั่งพม่า กระทบข้ามมาถึงฝั่งไทย

ต่อมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง ด้วยนโยบายและสายธารแห่งมนุษยธรรม การศึกษาไร้พรมแดน โรงเรียนรับเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ข้ามฝั่งจากพม่ามาตั้งรกราก จนนักเรียนร้อยละ 95 เป็นบุตรหลานของผู้อพยพ

มีทั้งไทยพุทธ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ มุสลิม หลากหลายชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม แต่พวกเขาก็อยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น กลมกลืน

จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน “ความงามบนความต่างของชาติพันธุ์”

 

ปี2560 มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งสิ้น 157 คน เป็นชาย 74 คน หญิง 83 คน ครูผู้สอน 8 คน และผู้อำนวยการ 1 คน เป็นหนึ่งในต้นแบบของการจัดการศึกษาระหว่างเด็กต่างชาติพันธุ์ การศึกษาบนความต่าง

โรงเรียนบ้านแม่สามแลบพัฒนามาตามลำดับ ทั้งการสนับสนุนจากทางการและขอความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศล องค์กรธุรกิจ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานงานกลางระหว่างโรงเรียนใกล้เคียง ในนามของศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาสาละวิน

รวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแม่สามแลบ โรงเรียนบ้านกอมูเดอ โรงเรียนบ้านซิวาเดอ โรงเรียนบ้านบุญเลอ โรงเรียนบ้านสบเมย 5 โรง มีผู้บริหารตำแหน่งผู้อำนวยการ กับอีก 6 โรงไม่มีผู้อำนวยการ คือ โรงเรียนบ้านห้วยกองก้าด โรงเรียนบ้านแม่แคะ โรงเรียนบ้านเครอะบอ โรงเรียนบ้านห้วยกระต่าย โรงเรียนบ้านแม่ตอละ โรงเรียนบ้านกลอเซโล

ทำเนียบข้อมูลโรงเรียน สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แม่ฮ่องสอน เขต 2 ระบุชัด โรงเรียนเหล่านี้ผู้บริหารเป็น 0

นี่เฉพาะศูนย์เครือข่ายเดียวของเขต ยังมีอีกหลายแห่งจาก 21 ศูนย์ 21 ตำบล สภาพไม่ต่างกัน โรงเรียนขาดผู้นำเป็นทางการ มีแต่รักษาการ ยาวนานแค่ไหน ไม่มีใครตอบได้

สาเหตุจากปัจจัยเชิงกายภาพ ความห่างไกล ลำบาก ยากแค้น ลำเค็ญ ไม่มีใครอยากไปอยู่ หรืออยู่ไม่นานก็ขอโยกย้าย และปัจจัยเชิงระบบ กฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ ธรรมาภิบาลการบริหารงานบุคคลฯ ไม่เอื้ออำนวยให้คนที่พร้อมทำหน้าที่ได้มีโอกาส

แต่ครู ผู้บริหาร นักเรียน ชุมชน ทุกแห่งก็ยังสู้ไม่ถอย แต่ละโรงเรียนจัดซุ้มแสดงนิทรรศการ ผลการจัดการเรียนการสอน อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของโรงเรียนให้คณะผู้เดินทางได้รับรู้ พร้อมตอบข้อซักถามได้อย่างน่าชื่นชม

 

ผมถามครูสุวลักษณ์ ประดิษฐ์ชัย ครูประจำชั้นประถม 6 เป็นครูที่โรงเรียนบ้านแม่สามแลบมาแล้ว 8 ปี การเดินทางจากบ้านพักที่ อ.แม่สะเรียง มาโรงเรียนมาอย่างไร

“ขี่มอเตอร์ไซค์มาค่ะ อาจารย์ จากแม่สะเรียงถึงโรงเรียนไปกลับ ปกติ 1 ชั่วโมง”

“ถนนขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงเป็นดินโคลน ต้องห้อขึ้นไหล่เขา หน้าฝนทำอย่างไร” ผมซักต่อ

“ก็สวมเสื้อกันฝนซิคะ” เธอตอบพร้อมหัวเราะ ก่อนเล่าจริงจัง

“มอเตอร์ไซค์ครูทุกคัน ทุกคนต้องมีโซ่สำรอง โซ่พิเศษเส้นที่สองไว้สำหรับมัดดึงให้รถวิ่งขึ้นต่อไปข้างหน้าให้ได้หากตกหลุมตกบ่อ ต้องไปคู่กัน ไปด้วยกัน เพื่อคอยช่วยกันเวลาเกิดปัญหา เชื่อมั้ยคะ บางวันฝนตกออกจากบ้านตั้งแต่เช้า มาถึงโรงเรียนเกือบบ่ายโมง ต้องฝากเพื่อนครูอีกห้องช่วยสอนเด็ก มอบงานล่วงหน้าไปก่อน หรือไม่ก็เอาไปเรียนรวมกับอีกห้อง ถ้าไม่มาวันนั้น เด็กก็ขาดครู ขาดการเรียน”

เธอเล่าถึงการจัดการเรียนการสอน เด็กมีหลายชาติพันธุ์ เด็กมุสลิมพูดภาษาพม่า เด็กไทยพูดภาษาไทยกลาง เด็กไทยใหญ่พูดภาษาไทยใหญ่ เด็กกะเหรี่ยงพูดภาษากะเหรี่ยง แต่ครูสอนภาษาไทยเป็นภาษากลาง แรกๆ เด็กก็เข้าใจยาก เพราะความหมายของแต่ละภาษาที่เด็กพูดคุยกับพ่อแม่ทางบ้านต่างกัน ครูก็ต้องใช้สื่อช่วยในการสอนทุกกลุ่มสาระ

“บางทีเด็กอ่านได้ อ่านออกแต่ไม่เข้าใจ เพราะพื้นฐานความเคยชินของแต่ละชนเผ่าไม่เหมือนกัน ภาษาต่างกัน โยกย้ายพื้นที่บ่อย แต่งงานในหมู่ครอบครัวเดียวกันก็มีปัญหาสมองบ้างเหมือนกัน”

“เด็กอนุบาลยิ่งยากมากเพราะตอนอยู่บ้านใช้ภาษาถิ่นของแต่ละครอบครัว พอมาโรงเรียนก็อีกภาษาหนึ่ง ภาษาที่สอง คุยกับเพื่อนๆ ก็อีกภาษาเป็นภาษาที่สาม ไปๆ มาๆ เด็กสื่อสารกัน รวมถึงภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาถิ่นของแต่ละชาติพันธุ์ พูดคุยกันได้ 5 ภาษา ครูกับเด็กเลยเรียนรู้ไปด้วยกัน ครูสอนเด็ก เด็กสอนครู”

“แม้เรามีความต่างเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา แต่เราไม่เคยแบ่งแยกกัน เรารักที่จะเรียนรู้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง”

 

ถามถึงนโยบายคูปองครู ครูในโรงเรียนเข้าร่วมโครงการอบรมหลักสุตรพัฒนาครูหัวละหมื่นบ้างไหม”

ครูสุวลักษณ์ว่า ครูทุกคนอยากพัฒนาตัวเอง แต่หลักสูตรการอบรมที่เราต้องการต้องไปไกลถึงลำปาง การเดินทางได้เป็นค่ารถประจำทาง ไปรถส่วนตัวเบิกตามจริงไม่ได้ เลยต้องไปด้วยกันทำให้ต้องทิ้งเด็ก ทิ้งชั่วโมงสอน แต่ก็ต้องพยายามหาทางไปให้ได้ นำสิ่งที่ได้จากการอบรมมาพัฒนา มาสอนเด็ก”

คุยกับครูยังไมทันจบ ระหว่างรอการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ขาดหายไปชั่วครู่กลับสู่ภาวะปกติ การแสดงฟ้อนรำของเด็กๆ เริ่มขึ้นในจังหวะท่วงท่า “รำนกกิ่งกะลา” ตามวัฒนธรรมไทยใหญ่อันงดงาม และจบลงท่ามกลางเสียงปรบมือต่อเนื่อง

เสมือนหนึ่งคำตอบรับ หลักฐานเชิงประจักษ์ผลการจัดการศึกษาให้ทักษะชีวิต ความกล้าและมั่นใจในการแสดงออกของนักเรียน อย่างน่าประทับใจ