‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ลงสนามเลือก ส.ว. ท่ามกลางกระแสผู้สมัคร ‘ฮั้ว-จัดตั้ง’

สนามการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยตลอดสัปดาห์ ช่วงระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม เปิดให้ผู้ประสงค์ลงแข่งขันชิงเก้าอี้ ส.ว.ในครั้งนี้ ได้ยื่นใบสมัคร เอกสารแนะนำโปร์ไฟล์ ประวัติการศึกษา รวมทั้งข้อมูลประสบการณ์การทำงานต่างๆ

จากนั้น จึงจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก โดยวันที่ 9 มิถุนายน เป็นการเลือกระดับอำเภอ วันที่ 16 มิถุนายน เลือกระดับจังหวัด และวันที่ 26 มิถุนายน เลือกระดับประเทศ โดยคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อ ส.ว. 200 คน และสำรองอีก 100 คน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ทว่า การเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกกำหนดและออกแบบกติกาให้ผู้สมัคร ส.ว.ต่างคัดเลือกกันเอง 3 ระดับ ไล่ตั้งแต่ระดับชั้นอำเภอ ระดับจังหวัด จนกระทั่งระดับประเทศ เพื่อเฟ้นหา ส.ว. 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ เข้าไปทำหน้าที่ในสภา โดยประชาชน “ไม่มีสิทธิเลือก” เป็นแค่เพียงผู้สังเกตการณ์ ช่วยตรวจตราความผิดปกติ แจ้งเบาะแสการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น

อีกทั้งรัฐธรรมนูญ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ ได้วางกฎ กติกา ควบคุมผู้สมัครไว้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการห้ามหาเสียง ห้ามพูดขอคะแนน ห้ามแลกคะแนน หรือรวมกลุ่มจัดตั้งเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดห้ามไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทำได้แค่เพียงพรีเซนต์แนะนำประวัติและคุณวุฒิประสบการณ์การทำงานของตัวเอง ผ่านช่องทางตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

ฉะนั้น การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ จึงค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะเป็นการเลือกกันเอง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางกติกาไว้ เท่ากับว่าเป็นการใช้ระบบนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บุคคลสำคัญ คนเด่น คนดัง ผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศ จะให้ความสนใจมาร่วมลงสมัครคัดเลือกกันอย่างคึกคัก

 

ที่ฮือฮาและน่าจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้นบิ๊กเนมคนสำคัญระดับประเทศ อดีตนายกรัฐมนตรี “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” สามีของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจกระโดดลงสนามแข่งขันชิงเก้าอี้ ส.ว.ในครั้งนี้ด้วย

โดยนายสมชาย เดินทางมาลงทะเบียนยื่นใบสมัคร ส.ว. ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการเปิดให้ยื่นใบสมัครเลย ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถือเป็นฐานที่มั่นและฐานเสียงสำคัญของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยา

ประกอบกับโปร์ไฟล์ระดับ “บิ๊กเนม” มีดีกรีเคยนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น โอกาสที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย มีชื่อติดโผเป็น 1 ใน 200 คน จึงมีความเป็นไปได้สูง

แน่นอนว่า การหวนคืนสนามกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งของนายสมชาย ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองใดหรือไม่ อีกทั้งไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นการวัดพลังสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ แข่งขันระหว่าง 2 พรรค คือ เพื่อไทย กับ ก้าวไกล ฉะนั้น ความเข้มข้นไม่แพ้การเลือกตั้งสนามใหญ่แน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น มีการวิเคราะห์ข้ามช็อตมองไปถึงขั้นมีการวางตัวให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวเต็งในการคว้าเก้าอี้ประธานวุฒิสภาไปครอบครองเลยทีเดียว

 

แม้ว่า ส.ว.ตามบทบัญญัติปกติของรัฐธรรมนูญ จะไม่มีอำนาจออกเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย มีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อำนาจตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฯลฯ

ย้อนกลับไป เมื่อการเลือก ส.ว.ครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตามบทเฉพาะกาล คือ เลือกระดับจังหวัดเพียงระดับเดียว 200 คนจาก 10 กลุ่มอาชีพ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกอีก 50 คน รวม 250 คน แต่ครั้งนี้จะมี 200 คน ซึ่งการเลือกครั้งแรกก็ยังมีการฮั้ว แต่ไม่เยอะ พอมาครั้งนี้ประเมินว่าจะมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก เพราะมีกลุ่มสาขาอาชีพมากขึ้นเป็น 20 กลุ่ม ฉะนั้น ความน่าสนใจและความท้าทายจะทำให้มีผู้สมัครจำนวนมาก

แต่ทว่า การเลือกครั้งนี้ ต้องผ่านด่านทั้ง 3 ระดับ เปรียบเสมือนด่านหินที่ยากจะฝ่าไปได้โดยง่าย แม้ว่าจะมีชื่อเสียง “บิ๊กเนม” มากแต่ไหน โอกาสที่จะหลุดร่วงตั้งแต่ระดับอำเภอก็เป็นได้ เพราะนอกจากเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันแล้ว ยังต้องเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันอีกด้วย จึงมีการประเมินว่าโอกาสที่จะมีการจัดตั้งและฮั้วกันระหว่างผู้สมัครย่อมมีความเป็นไปได้สูงแน่นอน

แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะวางกฎเหล็กคุมเข้ม วางเครือข่ายตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คนไว้เป็นชุดเคลื่อนที่เร็วในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงป้องกันปราบปรามการทุจริต ติดตามกระบวนการเลือกทุกระดับ

วางเจ้าหน้าที่จับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สมัครที่ไม่มีคะแนน และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 1-5 ลำดับแรก เพื่อสกัดกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งหรือฮั้วกัน

แต่หากคนที่เขาจะฮั้วกันเขามีวิธีการหลบหลีกไม่ให้ผิดกติกาได้อยู่แล้ว

โดยเฉพาะหากผ่านระดับอำเภอ เข้ามาสู่ระดับจังหวัด จะมีคนผ่านการคัดเลือกเข้ามา 55,680 คน จาก 77 จังหวัด 20 กลุ่มอาชีพ ตรงนี้น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะตัวเลขผู้สมัครจะเหลือน้อยลงจากระดับอำเภอ เริ่มเห็นภาพว่ามีใครผ่านเข้ามาแล้วบ้าง อีกทั้งขณะนี้เริ่มมีการข่าวรายงานว่าพบความเคลื่อนไหวการจัดตั้งกลุ่ม การรวมกลุ่ม เพื่อฮั้วลงคะแนนเลือก ส.ว.ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับบทลงโทษการกระทำความผิดนั้น นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ระบุว่า หากผู้สมัครไปจับกลุ่มขอคะแนน หรือฮั้วกัน ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสิทธิการเลือกตั้งได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย และในการเลือก ส.ว.ทุกระดับ ทั้งอำเภอ จังหวัด และประเทศ จะมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือจัดพื้นที่สังเกตการณ์ เพื่อให้ประชาชนร่วมติดตามตรวจสอบได้ด้วย และหากประชาชนพบการทุจริตก็สามารถร้องเรียนได้ ผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรดของ กกต. ซึ่งจะมีรางวัลชี้เบาะแสด้วย

ทั้งนี้ หากพบการกระทำเข้าข่ายฮั้ว บทลงโทษจะมีทั้งจำและปรับ รวมทั้งการตัดสิทธิทางการเมือง แต่คำถามก็คือ กกต.จะมีประสิทธิภาพในการทลายเครือข่ายฮั้วได้จริงหรือไม่!

 

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024