‘กาบบัว’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กาบบัว เป็นชื่อของนกน้ำชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นนกแปลกหน้าของคนหรอก เพราะในประเทศไทยนั้น อยู่ในทำเลที่มีที่ราบลุ่ม มีห้วยหนอง คลองบึง ทะเลสาบ หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำ ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่มากมาย เช่น นกตะกรุม, นกตะกราม, นกกระเรียน, นกกระทุง รวมทั้งนกกาบบัว เป็นนกซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่

นกเหล่านี้อยู่ในชนิดที่เรียกว่า “นกน้ำ”

นกถูกแบ่งประเภทตามลักษณะของขน หรือโครงกระดูก และตามลักษณะแหล่งอาศัย พูดง่ายๆ นกน้ำก็คือนกซึ่งมีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร หรือใช้เป็นที่สร้างรังวางไข่

 

นกกาบบัว ไม่แตกต่างจากเพื่อน อย่างนกปากห่าง นกแขวก นกยาง เพราะไม่ได้สร้างรังสำหรับวางไข่บนพื้นน้ำ แต่เลือกทำรังบนต้นไม้สูง รวมกันอยู่เป็นชุมชนใหญ่ นกกาบบัวบางตัวเลือกไปทำรังไกลจากแหล่งน้ำ อาจเป็นเพราะบินได้ไกล ไม่จำเป็นต้องทำรังใกล้ที่กิน หรือที่ทำงานมาก

ครั้งที่ผมเริ่มต้นดูนก แรกๆ นั้น รังของนกกาบบัว รวมทั้งตัวนกกาบบัวเอง อยู่ในสถานภาพพบเห็นได้ยาก แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์

สาเหตุจากนกน้ำขนาดใหญ่ ตกเป็นเป้าหมายของการล่ามาบริโภค และต้นไม้ใหญ่สำหรับทำรัง ถูกตัดโค่น เหลือจำนวนไม่มาก แหล่งอาศัยถูกมองว่าเป็นพื้นที่รกร้าง ต้องพัฒนา แหล่งอาศัยส่วนใหญ่ กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร นกตะกรุม นกตะกราม ซึ่งใช้ต้นไม้ในป่าชายเลน ป่าโกงกางเป็นที่สร้างรังวางไข่ ก็หายไปเช่นกัน เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราทำลายป่าชายเลนไปจำนวนมหาศาล

นกน้ำหลายชนิด จากไปและกลับมาให้พบเจออีก แต่บางชนิดจากไปตลอดกาล

นกชนิดหนึ่งสาบสูญไป มันย่อมไม่ใช่เพียงเรื่องน่าสงสาร เวทนา หรือน่าเห็นใจในชะตากรรม

 

เรื่องบางเรื่อง เราก็พูดกันมา กระทั่งคล้ายเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่เรื่องราวเหล่านี้ ก็เป็นความจริงอันปฏิเสธไม่ได้

หากมองสัตว์ มองนก ด้วยสายตาอันผ่านหัวใจ ภาพที่เห็นจะชัดเจน เห็นชีวิตอย่างที่พวกมันเป็น

นกหากิน หรือพูดให้ถูก มันทำงานตลอดวัน การกินคือผลพลอยได้ นกต้องใช้พลังงานในการดำรงชีวิตสูง เป็นอันดับต้นๆ ของห่วงโช่อาหารในระบบนิเวศน์ นกน้ำเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมดูแลปริมาณของพืชน้ำ สัตว์น้ำ แมลง ตามแหล่งน้ำให้อยู่ในระดับสมดุล

ทำความเข้าใจกับตัวเองอีกสักนิด ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพืชน้ำตามแหล่งน้ำเจริญเติบโต แย่งออกซิเจนในน้ำไปจนหมด ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ย่อมเดือดร้อน สัตว์น้ำเล็กๆ ที่เป็นอาหารของปลาลดจำนวน ผลนี้ขยายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นปัญหาใหญ่โต เป็นปัญหาที่คนจะต้องเผชิญ

ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกจัดการให้หมดไปโดยเหล่านกน้ำมาเป็นเวลานานแล้ว

เป็นการจัดการที่เรามองไม่เห็น อีกทั้งไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขโดยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบึงน้ำให้เป็นแค่ที่เก็บกักน้ำ

ธรรมชาตินั้น มีการปรับตัว มีหนทางไป เพียงแต่คนต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเปิดโอกาสให้เป็นไปอย่างที่ธรรมชาติต้องการ

นกกาบบัว – ในช่วงที่ถิ่นอาศัยขาดแคลน นกกาบบัวจำนวนหนึ่งเดินทางมาพักพิงบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหลือในภาคกลางของประเทศไทย

แม้ว่าตามแหล่งอาศัยที่เหลือ จะได้รับการคุ้มครองแล้ว แต่พื้นที่รอบๆ มีกิจกรรมของคนมากมาย รอบๆ พื้นที่ไร้ต้นไม้ใหญ่ อันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสร้างรังวางไข่

อีกทั้งพฤติกรรมของนกน้ำขนาดใหญ่ ส่วนมากเรียกได้ว่า รักเดียวใจเดียว หากคู่ครองตายจาก ตัวที่อยู่จะไม่จับคู่ใหม่จนกระทั่งตาย

แต่สิ่งอันน่ากังวล และทำให้สถานภาพของนกน้ำไม่เคยปลอดภัย คือ ความไม่เข้าใจ และ “ใส่ใจ” ของคน

 

ในช่วงเวลาที่เหล่านกน้ำเดินทางย้ายถิ่น หลบความขาดแคลนอาหารในถิ่นอาศัย มาพักพิงในพื้นที่ชุ่มน้ำของบ้านเรา

มีนกน้ำหลายชนิดซึ่งหายไป หรือเหลือจำนวนไม่มาก มาให้พบเจอบ่อยๆ

นับเป็นเรื่องน่ายินดี แต่อีกนั่นแหละ การพบเจอเพียงชั่วคราวย่อมไม่น่ายินดีเท่ากับเหล่านกประจำถิ่นมีสถานภาพที่ดีในการอยู่อาศัย ในบ้านของตัวเอง

 

ครั้งหนึ่ง ใกล้กับสวนสัตว์เปิดขนาดใหญ่ ในกรงมีนกกาบบัวจำนวนมาก ข้างๆ กรงผมเห็นนกกาบบัวหลายตัวมาเกาะข้างนอกกรง

นกกาบบัวข้างนอกนั้น มีอิสระ บินไปไหนมาไหนได้ตามใจปรารถนา แต่ตอนเย็นพวกมันบินกลับมาเกาะต้นไม้ใกล้กรงเพื่อพักผ่อน

นกกาบบัวในกรง ถูกกักขัง ไร้อิสระ แต่พวกมันไม่ต้องดิ้นรนทำงาน ไม่เหนื่อยกับการหากิน มีอาหารมาให้ นี่อาจเป็นข้อดี แม้ว่าต้องแลกกับอิสรภาพ

ผมมองพวกมัน ผมไม่รู้หรอกว่า นกในกรงจะปวดร้าวเพียงใด ที่เห็นนกข้างนอกบินไปไหนๆ ได้ตามใจ

และก็ไม่รู้หรอกว่า นกข้างนอกกรงคิดอย่างไร ที่เห็นนกในกรงมีอาหารกินโดยไม่ต้องเหนื่อยยาก

พวกมันรู้ดีว่า การมีอิสระ มีโอกาสได้ใช้ปีกเป็นเครื่องมือบินไปมา ไม่ได้เป็นหลักประกันของการมีชีวิตที่ดีอันใด

ด้วยความรู้สึกของ “นก” ในฐานะของนกน้ำตัวหนึ่ง หากจะมีความรู้สึกปวดร้าว ขมขื่น

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเพราะต้องยอมรับความยากลำบาก ต้องยอมรับชะตากรรม

เป็นชะตากรรมที่คนทำให้พวกมันต้องตกอยู่ในสภาพนี้ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ