อย่าทอดทิ้ง ‘คนแก่’

ผู้สูงอายุคนหนึ่งอยู่ในอาการหลงลืม นั่งแท็กซี่แล้วบอกไม่ได้ว่าให้ไปส่งที่ไหน เลยถูกพามาทิ้งไว้ริมถนนที่แปดริ้ว มีคนพยายามไปช่วยแต่ช่วยอะไรไม่ได้มากกว่าซื้อข้าวให้กิน

กระทั่งเช้าคนแถวนั้นพบว่าแกถูกรถชนตายเสียแล้ว

ข่าวนี้หายไป ไม่มีใครติดตามรายละเอียด แม้กระทั่งแกเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน ลูกหลานรับรู้หรือไม่ว่าแกตายไปแล้ว กระทั่งใครจัดการศพแกอย่างไร

ไม่มีข่าวความคืบหน้าให้ติดตาม

 

ก่อนหน้านั้นทางการประเทศเราประกาศการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”

คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ”

ข้อมูลกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็น 19.5% ของประชากรทั้งหมด คาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะแตะ 20 ล้านคนในปี พ.ศ.2570

รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ เช่น แผนแม่บทผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 การจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ กองทุนผู้สูงอายุ และอื่นๆ

แต่เหมือนเป็นแค่เสนอมาเพื่อเป็นเหตุของการใช้งบประมาณ ขณะการสร้างสำนึกให้หน่วยงานในทุกระดับตระหนักถึงภารกิจนี้ ดูจะมีคำถาม

ยิ่งมองผ่านข้อมูลต่อไปนี้ ยิ่งน่าจะต้องเรียกหาคำตอบกันจริงจังมากขึ้น

 

ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 คือผู้เสียชีวิต 7,526 คน, บาดเจ็บ 179,978 คน เป็นเพศหญิง ร้อยละ 3.41 เพศชาย ร้อยละ 6.01

ยังมีข่าวอีกมุมที่ยังกระจัดกระจาย เพราะบ้านเรายังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นการเป็นงาน คือการเสียชีวิตอย่างโดดเดียว บ่อยครั้งที่สื่อนำเสนอว่ามีผู้เสียชีวิตผ่านมาหลายวันจึงพบศพ ไม่เหมือนกับญี่ปุ่นที่เก็บสถิติความตายอย่างโดดเดี่ยวของผู้เสียชีวิตอย่างละเอียด

สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นรายงานว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวกว่า 17,000 ราย คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่บ้านในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงลำพังในปี 2567 จะสูงถึงราว 68,000 ราย

ขณะที่สิงคโปร์ มีครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวกว่า 900,000 คน

การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นและสิงคโปร์ทำกันอย่างจริงจังด้วยมาตรการที่เป็นระบบ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยเฉพาะครอบครัว

นโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล รวมไปถึงความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมที่ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่

มีตัวอย่างของการจัดการสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพในประเทศต่างให้เป็นอย่างมากมาย หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบของประเทศเรา มีความตั้งใจจะรับมือแบบเอาจริง ไม่น่าจะยากที่จะจัดการให้เกิดขึ้น เพราะเรามีหน่วยงานมากมายที่น่าจะพร้อมจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นที่มีบุคลากรกระจายไปในทุกพื้นที่ค่อนข้างทั่วถึง

หากทำงานกันจริงจัง เรื่องราว “คนแก่หลงลืมถูกทิ้งไว้ข้างถนน โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดการ” คงไม่เกิดขึ้น