ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
กฎหมายเป็นเรื่องของมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า กฎหมายจึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามกฎหมายที่ดีนั้นควรที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับกาลสมัยอยู่เสมอ
การตีความกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติม การยกเลิกเปลี่ยนแปลง หรือความเห็นต่างในทางกฎหมายเป็นเรื่องปกติในโลกมนุษย์ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดที่คนเราเชื่อถือศรัทธากราบไหว้บูชา
ความเห็นต่างกันในทางกฎหมายจึงไม่ใช่การนอกรีต
ถ้าจะว่า “นอกรีต” ก็เช่น การใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าฉีกรัฐธรรมนูญ
ลำพังการถกเถียงกันในเวทีการเมืองระบอบประชาธิปไตย สภาจะไม่ไว้วางใจ หรือสภาจะถูกยุบ ให้เลือกตั้งกันใหม่ก็ไม่ใช่งการนอกรีต เพราะอำนาจการปกครองยังคงอยู่ในมือของประชาชน
แต่ในประเทศไทยมักชวนเชื่อให้เห็นผิดเป็นชอบ ชื่นชมทรราชเป็นพระเอกขี้ม้าขาว ยกย่องการใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ชอบใช้กำลังเข้าหักหาญสติปัญญา บางทีแค่นักการเมืองถกเถียงกัน ถ่วงดุล ตรวจสอบ หรือแฉกัน ก็หาว่า สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง
ทีรัฐประหาร แล้วกินกันเงียบกริบ ไม่ถ่วงดุล ไม่ตรวจสอบ ไม่สกัดกั้น ไม่ห้ามปราม
ตัวอย่างที่เห็นๆ ก็คือ การซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจที่พูดกันมาเกือบ 20 ปี ไม่เคยมีผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จคนใดคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ที่ปรากฏให้เห็นและที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็คือ ผลพวง!
เคยมีอยู่จริงๆ ที่ยุคหนึ่งผู้มีอำนาจทางการเมืองกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ยศสูง สมคบกัน “ขายเก้าอี้” และหาผลประโยชน์ทุกทางจากการใช้อำนาจหน้าที่ของความเป็นตำรวจ
เคยเห็นผู้นำรัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องใดยับยั้งห้ามปรามหรือไม่
คนทำชั่วจึงย่ามใจ!
จึงรู้สึกชื่นชมในคำปรารภของ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ท่านว่า
“ตำรวจเก็บส่วย ทำไมเติบโตในหน้าที่ ส่วนตำรวจที่ตั้งใจทำงานกลับไม่โต เป็นเพราะปฏิรูปไม่ถูกจุด และมีผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดี”
พูดความจริงก็ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน!
เงินเดือนทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีราษฎร แต่ไม่มีคำว่า “ประชาชน” อยู่ในหัวใจและแผนงาน
แม้กระทั่งทุกวันนี้ สำรวจกันดูได้ว่า ตำรวจที่นั่งเก้าอี้มีฤทธิ์ทั้งหลาย กำลังคิดทำอะไร
บางหน่วยถึงขั้นเกณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ไปทำหน้าที่ “น่าอับอาย” รับใช้นักท่องเที่ยวแลกกับค่าตอบแทนรวมกันแล้วกลายเป็น “กองส่วย” มหาศาล
ระบบที่ดีๆ ของตำรวจพังไปนานแล้ว ยากที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 กับระบบข้างเคียงที่สร้างขึ้นมาจะเอาอยู่
ตำรวจจำนวนมากในวันนี้ไม่เลื่อมใสในกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมาย ไม่รักษากฎหมาย ทั้งยังขลาดกลัวและจำนนต่ออิทธิพลและอำนาจที่เหนือกว่า
ถ้าจะตั้งโจทย์กันใหม่ก็ต้องหาวิธีว่า จะสร้างระบบอย่างไรเพื่อที่จะเกื้อกูลแก่ตำรวจที่ดีๆ ได้เจริญเติบโตมี “ที่ยืน” อยู่ในทุกระดับของหัวหน้าหน่วย
ไม่ใช่ปล่อยให้ทำผิดกันจนเป็นปกติ ผิดพลาดแล้วยังช่วยให้ได้กลับมาเป็นใหญ่ แล้วไล่เช็กบิลฝ่ายตรงข้าม ซึ่งชอบเรียกกันว่า แมวเก้าชีวิตสิบชีวิต
ไม่ได้เป็น “ชีวิต” ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมแต่ประการใด
ที่กล่าวนี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงรายการ “ค้างชำระ” ของตำรวจ 2 นายใหญ่ “ต่อ” กับ “โจ๊ก” ที่ต่างก็ต้องขวนขวายพิสูจน์ความกันต่อไป
แต่ถ้าให้กล่าวสำหรับ “ต่อ” เวลาน่าจะมีไม่พอ หรือถ้าให้กระชับก็ต้องว่า “หมดเวลา”
ไม่น่าจะได้กลับมาอีก
ส่วน “โจ๊ก” เวลายังมีทอดยาวไปจนถึงปี 2574!
ถึงแม้จะถูกคำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” ในระหว่างที่รอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย แต่พลันที่ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” คณะที่ 2 ทำบันทึกตอบข้อหารือแก่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ก็มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง
สำนักเลาธิการนายกฯ มีหนังสือด่วนหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 ข้อ
ประการที่ 1 กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ “รอง ผบ.ตร.” ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น นายกรัฐมนตรีต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายนั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่
ประการที่ 2 นายกรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการเมื่อใด
ทั้ง 2 ข้อไม่ใช่ “คำถาม” ที่สลับซับซ้อน เพราะกฎหมายบัญญัติชัด
แต่ที่ “ซ่อนคม” ชวนคิดคือ “อนึ่ง”!
“อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของการสั่งการให้ข้าราชการรายดังกล่าว ออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติเสียก่อน”
มีหน้าที่/ต้องตรวจสอบ/รับรองความถูกต้องของการสั่งการ/อย่างรอบคอบ/เป็นที่ยุติเสียก่อน
คําคมค้ำคอเล่นเอา “เศรษฐา” ผงะ!
เคยมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ คบ.17/2559 เป็นบรรทัดฐานว่า…
“ข้อสังเกตอื่นๆ ของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานของรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติ การดำเนินการจึงย่อมเป็นไปตามดุลพินิจและนโยบายของแต่ละหน่วยงาน”
คำเหล่านี้ไม่มีความคม
เป็นตำรวจต้องรักษากฎหมาย เป็นตำรวจต้องมีวินัย เป็นตำรวจทำผิดกฎหมายเสียเองต้องรับโทษหนักกว่าชาวบ้าน เป็นตำรวจทำผิดวินัย ต้องตัดไฟแต่ต้นลมก่อนจะลุกลามขั้นร้ายแรง
โทษทางวินัยของตำรวจ จึงมีลำดับขั้น ตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง ตัดเงินเดือน ปลดออกและไล่ออก
น่าจะเข้าใจตรงกันว่า “นโยบาย” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลเศรษฐา คงเข้มงวดกวดขันกับตำรวจทุกระดับ ไม่ให้ประพฤติตัวเป็นโจรเสียเอง จึงต้องทำความสะอาดบ้านเพื่อปูทางไปสู่ “การปฏิรูปตำรวจ”
แต่ที่ผ่านมาสื่อหลายช่องหลายสำนักล้วนก็เลอะ ตำรวจก็เละ ยูทูบเปอร์บางรายก็เฟอะฟะ ไม่รู้เนื้อความ ไม่จำแนกแยกแยะถูกผิดดีชั่ว
ซ้ำร้าย “ตัวแบบ” นักกฎหมายที่ซื่อตรงต่อประชาชนผู้ทรงอำนาจก็หาไม่ได้ จะมีก็แต่ “ตัวอย่าง” การใช้กฎหมายบิดเบือนช่วยเหลือพวกพ้อง หาประโยชน์เข้าตัว หรือไม่ก็ใช้เป็น “อาวุธ” ประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022