โบราณคดี ก่อตั้งโดยคณะราษฎร

โบราณคดี ก่อตั้งโดยคณะราษฎร

 

โบราณคดีพบหลักฐานสำคัญเพิ่มอีก ว่าเป็นวิชาหนึ่งที่คณะราษฎรมีอยู่ก่อนแล้วในแนวคิดทางการศึกษาของประเทศ ด้วยเหตุนั้นจึงมีชื่อวิชาโบราณคดีในหลักสูตรเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์และการเมือง (ก่อนมีการเรียนการสอนเริ่มแรกในกรมศิลปากร)

แต่แล้วไม่นานโบราณคดีที่ธรรมศาสตร์ถูกบังคับสูญหายพร้อมวิชาอื่นๆ เมื่อคณะทหารบกทำรัฐประหาร

ข้อมูลเรื่องนี้ได้จากการสืบค้นของศาสตราจารย์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (เกษียณอายุราชการ) มีเนื้อหาเกี่ยวข้องเรื่องอื่นๆ อย่างย่อๆ พอสังเขป แล้วแบ่งปันเป็นวิทยาทาน ซึ่งจะคัดมา “บอกต่อ” ให้แพร่หลายดังนี้

“การจัดตั้งหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติปี 2479 ของคณะราษฎร ที่มุ่งจะปรับปรุงการศึกษาของราษฎรในทุกระดับให้สอดคล้องกับการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องจัดการศึกษาในระดับก่อนมหาวิทยาลัยให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย

ในตอนนั้นรัฐบาลจึงจัดตั้งแผนกเตรียมอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผนกเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือหลักสูตรเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.มธก.) รับนักเรียนมัธยมบริบูรณ์ หลักสูตร 2 ชั้น

ปีที่ 1 เรียนภาษาไทย บาลี ศีลธรรมและจรรยา ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ โบราณคดี พลศึกษา ดุริยางคศาสตร์ สุขวิทยา

ปีที่ 2 เรียนภาษาไทย ศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์แสดงชนชาติ ประวัติศาสตร์สากล ปรัชญา ส่งเสริมการเรียนภาษาอย่างลึก เช่น หลักภาษาละติน อังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อให้นักศึกษาสามารถอ่านภาษาต่างประเทศในการค้นคว้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังให้เรียนด้านเฉพาะทางที่อาจเป็นอาชีพการงานได้ เช่น พลศึกษา ดุริยางคศาสตร์ ชวเลขและพิมพ์ดีด

โครงสร้างและปรัชญาการศึกษามหาวิทยาลัยดังกล่าวถึงจุดจบและสลายไปแทบหมดสิ้นหลังการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 โดยคณะทหารบก ซึ่งในระยะยาวจะเข้ามาแทนที่คณะราษฎรในการปกครองและบริหารประเทศ

โครงสร้างและหลักสูตรรวมถึงชื่อของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาเป็น ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ไม่มีวิชาและการเมือง จัดตั้งปรับโครงสร้างคณะต่างๆ ให้เป็นแบบวิชาชีพที่แยกส่วนออกจากกัน ได้แก่ กำเนิดคณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ในปี 2492

ต่อมาในปี 2497 ภายหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ ได้ผลักดันให้จัดตั้งคณะสังคมสงเคราะศาสตร์ขึ้นมาจากความต้องการและความเชื่อในเรื่องการประชาสงเคราะห์ของท่านเอง

สุดท้ายในปี 2498 รัฐบาลอเมริกันผลักดันให้ตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ โดยให้ความสนับสนุนทั้งหมดไม่ว่าด้านเงินทุนและบุคลากรผู้สอน

น่าสนใจว่าพัฒนาการระยะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกอยู่ใต้อำนาจบีบบังคับทางการเมืองของรัฐบาลสูงมากและต้องดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายอันเป็นความต้องการของฝ่ายผู้มีอำนาจการเมืองทั้งจากในและต่างประเทศ

การจะรักษาและสานต่ออุดมการณ์และปรัชญาการศึกษาแบบความรู้รอบแต่เดิมนั้นแทบจะไม่มีพื้นที่และความคิดอะไรที่จะมาต้านทานได้”

[จากเอกสารการสืบค้นของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ]

โบราณคดีสมัยนั้น มีความหมายใกล้เคียงประวัติศาสตร์ มากกว่า Archaeology

นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) และนักเรียนเตรียม มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส (84 ปีที่แล้ว) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2483 (ในภาพมีป้ายชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อยู่เหนือประตูบนกำแพงชรา)

ศิลปากรมีการสอนการเรียนโบราณคดี

โบราณคดีที่ธรรมศาสตร์โดยคณะราษฎร เมื่อถูกบังคับสูญหายโดยคณะทหารบก ทำรัฐประหาร พ.ศ.2490 ต่อมารัฐบาลขณะนั้นจึงผลักดันให้มีการเรียนการสอนโบราณคดีในกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร ดังนี้

(1.) รัฐบาลมอบหมาย พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) อธิบดีกรมศิลปากร ปฏิบัติตามแนวคิดและนโยบายที่มีต้นทางจากคณะราษฎร

(2.) หลวงรณสิทธิพิชัย มอบหมายนายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ริเริ่มการเรียนการสอนโบราณคดีในกรมศิลปากร

กำเนิดการเรียนการสอนโบราณคดี หลวงรณสิทธิพิชัยบอกในบทความบรรยายเรื่องงานของมหาวิทยาลัยศิลปากร [พิมพ์ในวารสารศิลปากร (ปีที่ 8 เล่ม 12) พฤษภาคม พ.ศ.2498 หน้า 113-117] มีความเป็นมาแบ่งออก 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเป็นแผนกโบราณคดี และช่วงเป็นคณะโบราณคดี

(1.) แผนกโบราณคดี เริ่มเปิดในโรงเรียนศิลปศึกษา (เสมือนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) พ.ศ.2495 (72 ปีที่แล้ว)

รับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 6 เมื่อสอบไล่ได้ชั้นปีที่ 2 มีสิทธิเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือจะศึกษาต่อในโรงเรียนศิลปศึกษาตามหลักสูตร 3 ปีก็ได้

(2.) คณะโบราณคดี เริ่มเปิดในมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2498 (69 ปีที่แล้ว)

รับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร)

ตามหลักฐานราชการที่ยกมาทั้งหมด จะพบความจริงว่า ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ “ท่านอาจารย์” ไม่ใช่ผู้ริเริ่มการเรียนการสอนโบราณคดี และไม่ใช่ผู้ก่อตั้งคณะโบราณคดี ซึ่งต่างจากข้อมูลที่มีผู้เขียนไว้ในหนังสือ โบราณคดี 60 (หนังสือที่ระลึก 60 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 106)

เมื่อเริ่มการเรียนการสอนแผนกโบราณคดีในโรงเรียนศิลปศึกษา (กรมศิลปากร) พ.ศ.2495 “ท่านอาจารย์” ยังเรียนไม่จบอยู่ที่ฝรั่งเศส

เมื่อเริ่มก่อตั้งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (กรมศิลปากร) พ.ศ.2498 (หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ เป็นคณบดีคนแรก) ขณะนั้น “ท่านอาจารย์” กลับแล้วจากฝรั่งเศส เป็นข้าราชการกรมศิลปากรตำแหน่งภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่เป็นอาจารย์พิเศษไปสอนในคณะโบราณคดี (ต่อไปอีกหลายปีจึงโอนไปอยู่มหาวิทยาลัยและได้เป็นคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ