ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (ความไม่ลงรอยกัน)

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (29)

สมาชิกสภาแห่งชาติฝ่ายที่สนับสนุนความชอบธรรมและพระราชอำนาจของกษัตริย์ในฐานะองค์กรที่ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับสนับสนุนความคิดอำนาจสูงสุดเป็นของชาติ จำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ว่าในกรณีที่สภาแห่งชาติจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ แต่กษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ ในฐานะที่กษัตริย์เป็นผู้พิทักษ์รักษาเจตจำนงของชาติ จึงต้องปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ จะส่งผลอย่างไร

Joseph Mounier อธิบายไว้ว่า ในกรณีที่กษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ สภาก็อาจลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ เพื่อกดดันกลับไปที่กษัตริย์และรัฐบาล

เขาอธิบายต่อไปว่าสถานการณ์เช่นนี้ คือความไม่ลงรอยกันระหว่างกษัตริย์และสภา ทำให้การตกลงกันในเรื่องรัฐธรรมนูญไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างเจตจำนงของชาติ

กล่าวคือ สภาอ้างเจตจำนงชาติในการจัดทำรัฐธรรมนูญ สภาจึงมีอำนาจในการใช้วิธีการต่างๆ เพื่อบังคับให้เจตจำนงของชาติบังเกิดผลขึ้นในรูปของรัฐธรรมนูญให้จงได้

ในขณะที่กษัตริย์เองก็อ้างว่าตนเป็นผู้พิทักษ์เจตจำนงของชาติ จึงมีอำนาจในการเรียกร้องให้สภาต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติอย่างแท้จริง

Malouet ให้คำตอบไว้ได้ชัดเจนกว่า Mounier เขายืนยันว่าการที่กษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญไม่ใช่การใช้อำนาจยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือ “Veto” เพราะ กษัตริย์ไม่สามารถขัดขวางประชาชนในการมีรัฐธรรมนูญได้ กษัตริย์ทำได้แต่เพียง “ระงับ” รัฐธรรมนูญไว้เท่านั้น และทำได้เฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญขัดแย้งกับเจตจำนงของชาติ

ในความเห็นของ Malouet นั้น เมื่อกษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ ย่อมหมายความว่า กษัตริย์เรียกหาประชาชนให้ตัดสินใจใหม่อีกครั้งด้วยการเลือกผู้แทนประชาชนชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ

จากนั้นผู้แทนประชาชนจะเข้ามาตัดสินใจว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญแบบใดที่สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ

Malouet ยืนยันว่า บทบาทของกษัตริย์ในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่การสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่กษัตริย์เสมือนเป็นองค์กรผู้กำกับดูแล (un organe tut?laire) ให้รัฐธรรมนูญที่สภาแห่งชาติจัดทำขึ้นสอดคล้องกับเจตจำนงของชาติเท่านั้น

อีกนัยหนึ่ง คือ กษัตริย์ไม่ใช่องค์กรผู้ร่วมสถาปนารัฐธรรมนูญกับสภาแห่งชาติ (co-constituant) แต่กษัตริย์เข้ามามีส่วนร่วมใน “งานทางรัฐธรรมนูญ” (le travail constituant)

คําอธิบายของฝ่ายนี้เน้นไปในทางปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี พวกเขาประเมินว่า สถานการณ์ที่กษัตริย์ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญก็ดี หรือสถานการณ์ที่ประชาชนยังคงเลือกผู้แทนแบบเดิมเข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญแบบเดิมที่กษัตริย์ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับไปแล้วก็ดี จะไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะเอาเข้าจริง ตลอดระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายสภาและฝ่ายกษัตริย์จะต้องประนีประนอมกันเสมอ ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่สภาจัดทำขึ้นก็ย่อมเป็นที่พอใจของกษัตริย์อยู่แล้ว กรณีที่กษัตริย์จะปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญจึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ อาจกล่าวได้ว่า ความเห็นของฝ่ายนี้ เป็นยุทธวิธีที่ใช้ประสานความคิดของพวกกษัตริย์นิยมสุดขั้วกับความคิดของพวกก้าวหน้านั่นเอง

หากพิจารณาตามความเห็นของฝ่ายนี้ ในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญเป็นผลผลิตจากการตัดสินใจฝ่ายเดียวของชาติและสภาแห่งชาติผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมืองแล้ว มันเป็นการตกลงประนีประนอมกันระหว่างสภาแห่งชาติและกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังกลับไม่เป็นไปตามที่สมาชิกสภาฝ่ายนี้คาดไว้ ในท้ายที่สุด ประเด็นปัญหากรณีกษัตริย์ลงนามในรัฐธรรมนูญ กลับกลายเป็น “ชนวน” หนึ่งที่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างสภาแห่งชาติกับกษัตริย์

และนำพาไปสู่การล้มสถาบันกษัตริย์ในไม่กี่ปีต่อมา

แนวคิดที่สามเกี่ยวกับอำนาจของกษัตริย์ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญก่อตั้งกษัตริย์ และชาติเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หากพิจารณาความเห็นของสมาชิกสภาที่เป็นฝ่ายซ้ายในช่วงปี 1789 แล้ว พบว่า พวกเขายังไม่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความก้าวหน้าในประเด็นอำนาจของกษัตริย์ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

สมาชิกหลายคนยังคงยืนยันความเห็นค่อนไปทางเดียวกันกับแนวคิดที่สอง กล่าวคือ ยืนยันว่ากษัตริย์ไม่มีอำนาจในการยับยั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ดังที่ Mirabeau กล่าวไว้ว่า “เราไม่อาจโต้แย้งหรือขัดขวางสิทธิของประชาชนในการมอบรัฐธรรมนูญให้แก่พวกเขาเอง” และชาติเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดโดยมีสภาแห่งชาติเป็นผู้แทนของชาติในการสถาปนารัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่สามแตกต่างและเริ่มก้าวหน้าออกห่างจากแนวคิดที่สองในประเด็นเรื่องฐานที่มาของสภาแห่งชาติและตำแหน่งแห่งที่ของกษัตริย์ พวกเขาเห็นว่า สภาแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นตัวแทนของชาติอย่างแท้จริง สภาแห่งชาติไม่ใช่องค์กรที่รับมอบอำนาจมาจากกษัตริย์ ดังนั้น ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ สภาแห่งชาติย่อมมีอำนาจอย่างไม่จำกัด รวมทั้งการยกร่างบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ด้วย

เมื่อสภาแห่งชาติไม่อยู่ใต้อาณัติของกษัตริย์ แต่เป็นตัวแทนของชาติซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการสถาปนารัฐธรรมนูญแล้ว สภาแห่งชาติย่อมสามารถกำหนดขอบเขตอำนาจของกษัตริย์ได้ในรัฐธรรมนูญ ในนัยนี้เอง กษัตริย์จึงไม่ได้เป็นองค์กรผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงองค์กรที่รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง

กษัตริย์ไม่ได้เป็นองค์กรที่มาก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ แต่เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นมา

จริงอยู่ ในทางความเป็นจริง ประเทศฝรั่งเศส ก็มีกษัตริย์ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่กษัตริย์ในช่วงเวลานั้นมีสถานะที่ไม่เหมือนกันกับกษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นในภายหลัง

ในตอนหน้า เราจะบรรยายถึงแนวคิดที่สามต่อไปว่า ในกรณีที่หัวเด็ดตีนขาด ไม่ว่าอย่างไรเสีย กษัตริย์ก็ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญที่สภาแห่งชาติจัดทำขึ้นมา เช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไร?