วัตถุมงคลรูปหล่อเหมือน หลวงปู่คำ จันทโชโต พระเกจิวัดหน่อพุทธางกูร

“พระครูสุวรรณวรคุณ” หรือ “หลวงปู่คำ จันทโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

เป็นหนึ่งในสุดยอดพระคณาจารย์เมืองสุพรรณ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ

สร้างมงคลวัตถุขึ้นหลายอย่าง อาทิ พระเครื่องเนื้อดิน เนื้อว่าน เนื้อผง และผงใบลานเผา อีกหลายพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมี รูปหล่อรุ่นแรก เนื้อทองเหลืองรมดำ

ในปี พ.ศ.2498 ลูกศิษย์และชาวบ้านมาขออนุญาตสร้างรูปเหมือนเท่าจริง โดยติดต่อช่างชื่อนายชิ้นมาดำเนินการปั้น พร้อมสร้างรูปเหมือนองค์เล็ก และเหรียญรูปอาร์มหลวงปู่คำด้วย

รูปเหมือนองค์เล็ก ขนาดห้อยคอ สร้างประมาณ 1,000 องค์ มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์สังฆาฏิยาวและพิมพ์สังฆาฏิสั้น

พิมพ์สังฆาฏิยาว ผ้าสังฆาฏิจะยาวลงมาจนลอดใต้มือลงมา

ส่วนพิมพ์สังฆาฏิสั้น จะไม่ยาวลอดมือ จะอยู่ที่มือพอดี

ปัจจุบัน หายาก ใครมีหวงแหนกันมาก

รูปเหมือนหลวงปู่คำ วัดหน่อพุทธางกูร

เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2430 เวลา 19.19 น. ตรงกับวันพุธขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ร.ศ.106 ณ บ้านพิหารแดง หมู่ 1 ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของจีนฮั้ว แซ่ตัน หรือแซ่ตั้ง มารดาชื่อ นางจันทร์ มีเชื้อสายชาวเวียงจันทน์

ในวัยเด็กต้องกำพร้าบิดามารดาและอาศัยอยู่กับน้าชายชื่อ ทอง น้าสาวชื่อ หริ่ม กระทั่งอายุ 16 ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมะนาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายน 2445 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระอาจารย์คำตา และอยู่กุฏิเดียวกับพระปลัดบุญมี ซึ่งเป็นญาติกับท่าน พร้อมกับศึกษามูลกัจจายน์และอักขระขอมไทยกับขอมลาว

ต่อมาญาติชื่อ พระอาจารย์บุญมา บวชอยู่ที่วัดภาวนาภิรตาราม อ.บางกอกน้อย ธนบุรี ชักชวนให้ไปเรียนหนังสือต่อที่วัดแห่งนี้

ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและมูลกัจจายน์กับหนังสือใหญ่ (หนังสือขอม) ด้วยความขยันขันแข็ง

อายุ 21 ปี กลับไปอุปสมบทที่วัดมะนาว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2451 มีพระครูวินยานุโยค วัดอู่ทอง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดบุญมี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระช้าง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า จันทโชโต

จากนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดมะนาวเรื่อยมา

ต่อมา พระอาจารย์บุญมาได้กลับมาจำพรรษาและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร ในราวปี พ.ศ.2452 ได้ชักชวนให้มาอยู่ที่วัดด้วยเพื่อช่วยพัฒนาวัด

หลังจากพระอธิการบุญมาถึงแก่มรณภาพราวปี พ.ศ.2458 คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้รักษาการแทน ก่อนจะเป็นเจ้าอาวาสอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2471 ขณะอายุ 41 ปี

วันที่ 5 ธันวาคม 2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูสุวรรณวรคุณ

อุปนิสัยใจคอเป็นคนที่เยือกเย็น ถ้าใครพบเห็นจะมีความรู้สึกเคารพนับถือ เพราะใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา พูดค่อยและช้า แต่วาจาศักดิ์สิทธิ์

มีความมักน้อยในจิตใจ แต่มักใหญ่ในการก่อสร้างเสนาสนะ เช่น การสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญคอนกรีต และโรงเรียนประชาบาล

หลวงปู่คำ จันทโชโต

ด้านการปกครอง มีปฏิปทาในหลักธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แนะนำสั่งสอนพระภิกษุสามเณรให้ประพฤติอยู่ในระเบียบวินัยสงฆ์ โดยเฉพาะที่จำพรรษาอยู่ในวัดหน่อพุทธางกูรไม่ว่าจะบวชนาน หรือบวช 3 เดือน จะต้องศึกษาพระปริยัติธรรมและต้องเข้าสอบธรรมสนามหลวง

ด้านวิทยาคม ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมกับหลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว พระเกจิอาจารย์ดังของสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ยังมีความรู้ในทางแพทย์โบราณ รักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสมุนไพร ในสมัยนั้น หน้าร้อนมักจะมีโรคพิษสุนัขบ้าอยู่เป็นประจำ

เนื่องจากวัคซีนแก้โรคสุนัขบ้า ยังไม่มีแพร่หลาย สุนัขเถื่อนมักจะติดโรคนี้และถ้ามีใครผ่านไปเจอ มักจะโดนกัดและติดเชื้อกันเป็นประจำ ถ้ารักษาไม่ทันก็จะเสียชีวิต ชาวบ้านในแถบนั้น ถ้ามีใครถูกสุนัขบ้ากัดก็จะมาขอให้รักษาให้ และช่วยรักษาให้หายทุกรายไป จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว

รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการดูฤกษ์ยามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลสมรส อุปสมบท ปลูกบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ โกนจุก จนกระทั่งสร้างยุ้งข้าว

ลูกศิษย์ที่เป็นฆราวาสมีอยู่หลายคน ที่มีชื่อเสียงคือ พระเอกยอดนิยม “มิตร ชัยบัญชา” ซึ่งให้ความเคารพนับถือมาก เมื่อครั้งที่มิตรเสียชีวิต ได้เล่าให้ศิษย์ฟังว่า วันที่มิตรเสียไม่ได้ห้อยพระของท่าน

นอกจากนี้ ยังมี “สุรพล สมบัติเจริญ” ราชาเพลงลูกทุ่งไทย คนบ้านวัดไชนาวาสที่ให้ความนับถือ และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่ครั้งยังไม่โด่งดัง

วาระสุดท้าย มรณภาพเมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2513 เวลา 17.43 น. สิริอายุ 83 ปี

จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2514 มีลูกศิษย์ลูกหาประชาชนเข้าร่วมพิธีอย่างล้นหลาม •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]