Déjà vu : สมมติฐานแห่งการเผชิญหน้า ระหว่างอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024

ในตอนนี้ เราขอเล่าถึงผลงานของศิลปินอีกคนที่เราได้ชมในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

นที อุตฤทธิ์

ศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักทั้งในแวดวงศิลปะของไทยและในระดับสากล

ผลงานของเขามุ่งเน้นในการสำรวจธรรมชาติความเป็นสื่อของงานจิตรกรรม ที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปะคลาสสิคของยุโรปในยุคโบราณ กับสื่อสมัยใหม่อย่างภาพถ่าย ผนวกกับการใช้แสงและทัศนมิติ อันเป็นองค์ประกอบทางทัศนธาตุอันโดดเด่น

Before You Accuse Me (Take A Look At Yourself) (2021) ภาพถ่ายโดย Arina Matvee
Before You Accuse Me (Take A Look At Yourself) (2021) ภาพถ่ายโดย Arina Matvee

นทีมุ่งเน้นในการทำงานจิตรกรรมที่เป็นการสำรวจกระบวนการของการสร้างภาพ โดยได้แรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินชั้นครูในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกอย่างศิลปะยุคเรอแนซ็องส์และยุคบาโร้ก

ผลงานของนทีเป็นส่วนผสมระหว่างกลิ่นอายแบบงานจิตรกรรมคลาสสิคของตะวันตก กับงานจิตรกรรมเหมือนจริงในบริบทของความเป็นไทยแบบร่วมสมัย ที่ซ่อนอุปมาอันหลากหลาย ตั้งแต่การนำเสนอภาพของวิถีชีวิตของผู้คน การตีแผ่ประเด็นทางวัฒนธรรม ไปจนถึงบอกใบ้นัยยะเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยทั้งทางสังคม การเมือง และศาสนา ได้อย่างเปี่ยมชั้นเชิง

นทียังเป็นศิลปินที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานในแนวทางอันแตกต่างหลากหลาย โดยไม่ยึดติดกับความคิดและเทคนิคเดิมๆ เขาเล่นแร่แปรธาตุระหว่างงานจิตรกรรมเหมือนจริง, จิตรกรรมทิวทัศน์ และจิตรกรรมกึ่งนามธรรม ไปจนถึงงานศิลปะในแขนงอื่นๆ อย่างงานภาพพิมพ์, ประติมากรรม, ศิลปะสื่อผสม และศิลปะจัดวาง

ผลงานของนที อุตฤทธิ์ ในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ภาพถ่ายโดย Arina Matvee

และผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นผลงานในชุดที่มีชื่อว่า Déjà vu: When the Sun Rises in the West (2018-2021)

ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของศิลปินด้วยการร้อยเรียงความทรงจําของอดีตกับปัจจุบัน และหลอมรวมแนวคิดของโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน

โดยตั้งสมมุติฐานถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างพระพุทธเจ้ากับอารยธรรมกรีกโบราณ เพื่อสำรวจและตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์และความเหลื่อมลํ้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม

Déjà vu (2019) ภาพถ่ายโดย Arina Matvee
Déjà vu (2019) (รายละเอียด) ภาพถ่ายโดย Arina Matvee
Déjà vu (2019) (รายละเอียด) ภาพถ่ายโดย Arina Matvee

นทีใช้แนวคิดทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแก่นแกนทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย สื่อสารผ่านเทคนิคการทำงานของศิลปะตะวันอย่างงานจิตรกรรมสีน้ำมัน และประติมากรรมสำริด ทำหน้าที่เป็นเหมือนเส้นไหมที่ศิลปินนำมาถักทอเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเรื่องราวที่หลอมรวมความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

“ผลงานชุดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ผมเดินทางไปทำงานที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ซึ่งแนวคิดของผลงานชุดนี้เป็นการพบกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ภายใต้คำถามที่ผมตั้งสมมุติฐานขึ้นว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าอารยธรรมหรือวัฒนธรรมของโลกเราถูกดำเนินไปในทิศทางของภูมิปัญญาตะวันออก? หรือจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นต้นธารทางความคิดทั้งมวลของโลกตะวันตก?”

“แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการที่ผมเตรียมงานศิลปะโครงการหนึ่งไปทำที่เนเปิลส์ แต่พอไปถึง ปรากฏว่าสภาพแวดล้อมของเนเปิลส์ทำให้เรานำไอเดียที่เตรียมเอาไว้ไปใช้ไม่ได้ ผมจึงเริ่มต้นทำงานในโครงการใหม่ ด้วยการเริ่มสำรวจเมืองและพิพิธภัณฑ์ที่นั่น จนได้พบว่า พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติของเนเปิลส์ (Museo Archeologico Nazionale di Napoli) ที่รวบรวมคอลเล็กชั่นประติมากรรมหินอ่อนคลาสสิคของกรีกโบราณนั้นให้แรงบันดาลใจกับผมมาก โดยเฉพาะประติมากรรมโดรีโฟรอส (Doryphoros) ของโพลิไคลทอส (Polykleitos)

“ตอนเห็นครั้งแรก ผมรู้สึกคุ้นตากับประติมากรรมนี้มาก แต่นึกไม่ออกว่าเคยเห็นที่ไหน จนเดินกลับมาดูอีกรอบ ถึงนึกได้ว่านี่คือ ‘พระพุทธรูปปางลีลา’ ชัดๆ”

ผลงานของนที อุตฤทธิ์ ในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ภาพถ่ายโดย Arina Matvee
ผลงานของนที อุตฤทธิ์ ในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ภาพถ่ายโดย Arina Matvee
Déjà vu (2019) ภาพถ่ายโดย Amarin

“เดิมทีในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้มีคติในการสร้างรูปพระพุทธรูปหรือรูปเคารพ แต่พระพุทธรูปนั้นเกิดขึ้นมาในเวลาประมาณสามถึงห้าร้อยปี หลังจากการดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยช่างกรีกและโรมัน ซึ่งนำรูปแบบของการทำเทวรูปอะพอลโลของกรีก มาผนวกกับคำบอกเล่าของชาวเอเชียที่ต้องการจ้างวานให้สร้างรูปเคารพ จึงเกิดเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะคันธาระขึ้นมา สำหรับผม พระพุทธรูปจึงเป็นประจักษ์พยานที่ดีที่สุด ที่พูดถึงการหลอมรวมกันของตะวันตกกับตะวันออก”

“เมื่อชาวตะวันออกสร้างพระพุทธรูปขึ้นโดยอาศัยทัศนคติและโลกทัศน์ของช่างกรีกโรมัน โดยบรรจุความต้องการของตัวเองเข้าไป ผลที่ได้ออกมาจึงเป็นความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกรีกโรมันที่แสดงออกภายใต้แนวคิดของความเป็นตะวันออก หรือแม้แต่วัฒนธรรมหลายอย่างในโลกก็ถูกผสมผสานมาแต่ไหนแต่ไร อย่างเช่นวัฒนธรรมการดื่มชาของอังกฤษที่รับมาจากอินเดีย”

The Man Without A Past (2018)

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าตะวันตกและตะวันออกอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและพึ่งพาอาศัยกันมานานแล้ว แต่ในปัจจุบันเมื่อดูจากมิติทางวัฒนธรรมอาจจะไม่เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการให้ค่าหรือการประเมินสิ่งต่างๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก”

“แนวคิดของผลงานชุดนี้เกิดจากการตั้งคำถามว่า เมื่อผมจบการศึกษา ผมมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเยอะมาก ผมรู้จักศิลปินตะวันตกแทบทุกคน แต่ผมไม่เคยรู้เรื่องศิลปะตะวันออก ไม่เคยรู้จักศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย เกิดอะไรขึ้นกับองค์ความรู้เหล่านี้?”

“สิ่งนี้ทำให้เราทบทวนใหม่ว่า ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย แต่เรากลับรับเอาความคิดหรือองค์ความรู้จากทางตะวันตกมาเยอะมาก แล้วก็ไม่ใช่ความรู้แท้ๆ หากแต่เป็นความรู้มือสองที่ถูกตีกรอบมาให้ จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะพัฒนาตัวเองให้ไปสู่จุดที่เขาจะเคารพเราได้อย่างจริงใจ”

“ทำให้ผมอดตั้งคำถามเล่นๆ ไม่ได้ว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามาที่ยุโรปในช่วงเวลาก่อนที่อารยธรรมทั้งมวลจะเกิดขึ้นจริง สิ่งนี้อาจจะช่วยทำให้ปัญหาที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมลดน้อยลง หรืออาจไม่มีเลย หรือแม้แต่ทำให้ความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดระหว่างตะวันออกกับตะวันตกลดน้อยลงก็เป็นได้”

Skeleton is Not in the Cupboard (2021)

ผลงานของนทีชุดนี้ยังล้อไปกับธีมหลักของเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 อย่าง “Foreigners Everywhere” หรือ “ชาวต่างชาติในทุกแห่งหน” ดังที่ปรากฏในผลงานภาพวาดและประติมากรรมของเขา ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคนต่างชาติต่างถิ่นจากตะวันออกและตะวันตก คนต่างชาติเหล่านี้ยังปรากฏตัวอย่างผิดที่ผิดทางในพื้นที่ทางศาสนาทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ราวกับเป็นภูตผีหรือวิญญาณเร่ร่อนล่องลอยมาหลอกหลอนเจ้าบ้านถึงเหย้าเรือนก็ไม่ปาน

“อาจารย์อภินันท์ (โปษยานนท์) สนใจผลงานชุดนี้ของผมมานานแล้ว จนพอจะจัดแสดงนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ในเวนิส เบียนนาเล่ อาจารย์ก็มาชวนผมไปแสดงด้วย แล้วบังเอิญผมเข้าใจว่าธีมของงานนิทรรศการนี้มีหลายอย่างที่พูดถึงเรื่องผี อย่างชื่อของนิทรรศการ ‘วิญญาณข้ามมหาสมุทร’ ซึ่งผีเป็นคตินิยมของเอเชีย ที่มีความแปลกประหลาด งานของผมในชุดนี้ก็มีหลายชิ้นที่พูดถึงเรื่องผี ทั้งผีโครงกระดูก ทั้งผีไทย ผีฝรั่ง ที่เป็นตัวแทนของภูตผีของลัทธิอาณานิคม ที่มาหลอกหลอนเรา อาจารย์อภินันท์ก็เอาประเด็นเหล่านี้ไปหลอมรวมในนิทรรศการครั้งนี้”

Before You Accuse Me (Take A Look At Yourself) (2021)

ด้วยความที่การตกแต่งในพื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana นั้นเป็นงานศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ในศตวรรษที่ 18 ของอิตาลี ผลงานของนทีที่จัดแสดงภายในพื้นที่แห่งนี้เองก็มีรากฐานมาจากงานศิลปะและงานสถาปัตยกรรมอิตาเลียน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากศิลปินชั้นครูในยุคยุคเรอแนซ็องส์อย่าง ปิเอโร เดลลา ฟรันเชสกา (Piero della Francesca) และอื่นๆ ทำให้ผลงานของเขามีปฏิสัมพันธ์และหลอมรวมตัวกับสถานที่แสดงงานแห่งนี้อย่างแนบเนียนกลมกลืนอย่างยิ่ง

นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน – 24 พฤศจิกายน 2567

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ •

Temple of the King (2019)
Déjà vu (2019)

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนพงศ์