‘No สน No แคร์’ ปรัชญาชีวิต Gen Z

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

จากงานวิจัยของ “ผกาวดี ก้อนคำดี” ที่พบว่า “นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และพนักงานเอกชนผู้มีประสบการณ์ทำงาน 1 ถึง 2 ปี ล้วนมีปรัชญาชีวิตเป็นของตัวเอง”

“การประสบความสำเร็จของคนกลุ่มเจเนอเรชั่น Z คือต้องการใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาที่มีความสุขในทุกๆ วัน โดยไม่กดดันชีวิตของตัวเอง”

“ความต้องการ และความมุ่งมั่นของคนเจเนอเรชั่นนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว การเป็นคนธรรมดาในแบบของตัวเอง เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่คนเจเนอเรชั่นนี้ต้องการ”

“แม้อิทธิพลของครอบครัวว่าด้วยเรื่องความกตัญญูซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของสังคมไทยได้เข้ามามีอิทธิพลกับกลุ่มเจนเนอเรชั่น Z ต่อการประสบความสำเร็จในอนาคต”

“แต่การหาเงินในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำงานราชการ หรือการเป็นพนักงานประจำที่อยู่ในกรอบ และอยู่ในกฎเกณฑ์”

“หากต้องเผชิญกับสังคมการทำงานที่ไม่ดี ไม่มีความสุข หรือไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง พวกเขาจะไม่ลังเลที่จะลาออก”

“เพราะพวกเขาคิดว่า สามารถตกงานได้โดยที่ไม่ต้องมีงานใหม่รองรับ เพราะยังมีงานอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเขาสามารถทำได้”

(อ้างอิงจาก ผกาวดี ก้อนคำดี, 2565, ทัศนคติของคนกลุ่มเจเนอเรชั่น Z ต่อการประสบความสำเร็จ, สารนิพนธ์หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเจนเนอเรชั่น Z จำนวน 30 คนที่ให้สัมภาษณ์เชิงลึก ร่วมกับการวิจัยเอกสาร

 

นอกจากสารนิพนธ์ข้างต้น ความร่วมสมัยในประเด็นเดียวกัน มีหนังสือในแนวทางนี้ออกมาอย่างน้อย 2 เล่ม

หนึ่งคือ The Subtle Art of Not Giving a F*ck ของ Mark Manson แปลเป็นภาษาไทยในชื่อปก “ชีวิตติดปีกด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง” สำนวนแปล “ยอดเถา ยอดยิ่ง”

หนึ่งคือ You Feel Like Dying Because You’re Trying So Hard to Live ของ Kogen Taira แปลเป็นภาษาไทยในชื่อปก “ชีวิตน่ะไม่ต้องพยายามไปซะทุกเรื่องหรอกนะ” สำนวนแปล “ภาณุพันธ์ ปัญญาใจ”

แนวคิด “ช่างแม่ง” หรือทฤษฎี “No สน No แคร์” จึงเป็นปรากฏการณ์ร่วมของคนเจเนอเรชั่น Z ในปัจจุบัน

 

เช่นเดียวกับในเมืองจีน ที่เกิดกระแส “ถ่างผิง” หรือ Lying Flat ที่แปลว่า “นอนราบ”

ซึ่งหมายถึง การใช้ชีวิตเรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน ทำงานเท่าที่จำเป็น และเอาเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ตนสนใจ

เป็นผลมาจากคนจีนรุ่นใหม่ “มีจริยธรรมในการทำงานที่ลดลง ขาดแรงจูงใจ และมีลักษณะเฉื่อยชาคล้ายการนอนราบ”

เริ่มจากในปี ค.ศ. 2016 มีการนำภาพนักแสดงจีนนั่งเอนหลังอยู่บนโซฟาในซิตคอมยุคทศวรรษ 1990 มาล้อเลียนจนกลายเป็นกระแส Viral

ส่งต่อถึงชาวเน็ตรุ่นใหม่ในจีน ที่พากันโพสต์ภาพ “ไข่ขี้เกียจ” ซึ่งเป็นตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่น

เกิดเป็น “วัฒนธรรมซ่าง” โดยคำว่า “ซ่าง” หมายถึง “ไว้อาลัย” หรืออาจแปลได้ว่า “วัฒนธรรมโลกาวินาศ” หรือ Doomsday Culture ในภาษาอังกฤษ

สอดคล้องกับทฤษฎี Self-Determination Theory หรือ SDT ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับ “การกำหนดตนเอง” 3 ด้าน ได้แก่ ความสามารถ, ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ

ซึ่งข้อหลังนี่เองที่เป็นแนวคิดสำคัญของเจเนอเรชั่น Z ในปัจจุบัน

 

เพราะแนวคิด “ช่างแม่ง” หรือทฤษฎี “No สน No แคร์” ของเจเนอเรชั่น Z ดูจะเป็นวิธีคิดที่ดี หากคนเราสามารถปล่อยวางกับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามากวนใจได้ ชีวิตก็คงจะน่าอยู่ขึ้นมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่เอาเวลาไปคิดถึงเรื่องไม่เป็นเรื่อง พาลให้หมดพลังงานที่จะไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม การที่จะ “ช่างแม่ง” ได้นั้น ต้องอาศัยทักษะในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน พูดอีกแบบก็คือ ต้องมี “สติ” กำกับอยู่เสมอ

กระนั้นก็ดี แม้มองเผินๆ เหมือนจะทำยาก แต่ “การตั้งสติ” เป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ ว่าจะปล่อยวางอย่างไร ให้หยุดคิดถึงเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง

เป็น “การตั้งสติ” ไม่คิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นที่สร้างภาพ “ชีวิตดูดี” ในโลกโซเชียล เพราะเจเนอเรชั่น Z ตกผลึกแล้วว่า คนเราไม่สามารถมีทุกอย่างได้

ดังนั้น การหันมาโฟกัสกับตัวเอง “ปล่อยจอย” จากเรื่องหนักอึ้ง ตัดเรื่องยากๆ ทิ้ง ทำทุกอย่างให้เรียบง่าย พร้อมกับการเดินหน้าไปเรื่อยๆ เป็นหนทางที่เจเนอเรชั่น Z ได้เลือกแล้ว

แม้สังคมจะพยายามกระแทกมาตรฐานต่างๆ ใส่หน้า ทว่า ทุกวันนี้ มาตรฐานเหล่านั้นไม่สามารถแทรกเข้าในความคิดอยากจะสร้างสิ่งแตกต่างของเจเนอเรชั่น Z ได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม แม้เจเนอเรชั่น Z จะยึดคัมภีร์ “ช่างแม่ง” เป็นสรณะ แต่ก็มิได้หมายความว่า พวกเขาไม่สนใจทุกสิ่งทุกอย่าง

ทว่า นี่คือการเลือกสนใจในเรื่องที่ควรสนใจต่างหาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม อาทิ ความเท่าเทียม การเมือง สิ่งแวดล้อม เจเนอเรชั่น Z คือกระบอกเสียงสำคัญในการขับเคลื่อนตลอดมา

แถมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน

ในยุค Digital การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นอย่างไม่คาดคิด เจเนอเรชั่น Z หลายคนกลายเป็นเจ้าของกิจการ มีธุรกิจเล็กๆ เป็นเจ้านายตนเอง

ขณะที่เจเนอเรชั่น Z อีกหลายคนขายของออนไลน์ เป็นยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ อาชีพเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจ และอยากที่จะทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะไม่มั่นคงก็ตาม

การที่เจเนอเรชั่น Z ปาวรณาแนวคิด “ช่างแม่ง” หรือทฤษฎี “No สน No แคร์” ก็เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายเรื่องอยู่นอกเหนือการควบคุม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ การเก็บเรื่องเหล่านี้มาคิดจนหน้าดำคร่ำเครียดจึงไม่เกิดประโยชน์

เจเนอเรชั่น Z จึง “No สน No แคร์” ปล่อยวาง ปลง และ “ช่างแม่ง” วางจิตนิ่ง เพื่อใจที่เป็นสุข

 

อย่างไรก็ดี แม้เจเนอเรชั่น Z จะ “ช่างแม่ง” และ “No สน No แคร์” แต่ก็มิได้ “ละเลย”

เพราะแม้จะมีวิธีคิดแบบ “ช่างแม่ง” แต่เมื่อเจเนอเรชั่น Z เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ หรือปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ พวกเขาก็ยังระมัดระวังเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “ปล่อยวาง” กับ “ละเลย” อยู่

เพราะแม้การเป็น “คนธรรมดา” จะมิใช่เรื่องผิดแปลก แต่ก็ไม่ได้หมายถึง “ความล้มเหลว” ในชีวิต

เพราะแม้เจเนอเรชั่น Z จะยังให้ค่ากับการทำงาน แต่ก็ให้ค่าความสุขในการทำงาน แบบขอไม่ทนกับงานที่รบกวนชีวิตส่วนตัวควบคู่กันไปด้วย

แปลไทยเป็นไทยก็คือ การมี Work-Life Balance

เพราะเจเนอเรชั่น Z เน้นคุณค่าในตัวเอง มองเรื่องของความสุขเป็นอันดับแรก ความร่ำรวยไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไป

เพราะเจเนอเรชั่น Z ต้องการใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาที่มีความสุขในทุกๆ วัน โดยไม่กดดันชีวิตตนเอง

อาจจะฟังดูเหมือนโลกสวย เดินอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ หรือเพื่อสร้างภาพให้ดูดี แต่แท้ที่จริงแล้ว ความต้องการ และความมุ่งมั่นของคนเจเนอเรชั่นใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว

เพราะฉะนั้น การเป็นคนธรรมดาในแบบฉบับของตัวเอง คือความสุขที่คนเจเนอเรชั่นนี้ต้องการ