มนัส สัตยารักษ์ : ปฏิรูปหรืออนุรักษ์ ?

เมื่อครั้งยังหนุ่มฉกรรจ์อยู่นั้น ผองเพื่อนที่มาร่วมงานเลี้ยงมักจะเป็นเพื่อนผู้ชายล้วน ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงของระดับมัธยม เตรียมอุดมหรือมหาวิทยาลัยก็ตาม ทั้งนี้เพราะผมเรียนในสถาบันชายล้วนมาโดยตลอด

ในวัยฉกรรจ์ของเรา แม้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสุราอาหาร แต่ก็ไม่มีบรรยากาศ “เฮ้ว” กันสักเท่าไร นั่นก็คงเนื่องมาจากสาเหตุไม่มีผู้หญิงนั่นเอง

แล้วเราคุยสังสรรค์กันเรื่องอะไร?

เรื่องของบ้านเมืองครับ

ก่อนถึง วันเวลาของ “14 ตุลา มหาปิติ” (14 ตุลาคม 2516) ไม่นาน บรรยากาศของบ้านเมืองอึมครึมเช่นเดียวกับในช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ขาลงของรัฐบาล”

แฟ้มภาพ เหตุการณ์ 14 ตุลา 16
จากมติชนออนไลน์

พอกพูนพฤติการณ์ของการทุจริตคอร์รัปชั่นรายใหญ่ที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ ไม่สามารถหาคำตอบมาให้ประชาชนหายข้องใจได้

มีปัญหาในเรื่องสองมาตรฐานชัดเจนจนเกิดสถานการณ์ช่องว่างอย่างชนิด “คนรวยกระจุก และคนจนกระจาย”

ข้าราชการบางส่วนเริ่มเกิดอาการขัดเคืองจากการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างไม่เป็นธรรม ที่ชัดเจนคือ คนใกล้ชิด “ถนอม-ประภาส” ได้ดิบได้ดีล้ำหน้าคนทำงานหนัก ข้าราชการที่ดีๆ นั้น พวกเขาจะมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่จงรักภักดีและพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป บางท่านที่ทำความดีมานานอาจจะมีเป็นพันและเป็นหมื่น คนกลุ่มนี้จะเมินเฉยเมื่อนิสิต นักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วง

อาชญากรล้นคุกและมีจำนวนมากกว่าเจ้าหน้าที่ และหลายครั้งอาชญากรเหล่านี้ก็เสียงดังกว่า

ก่อน 14 ตุลา มีการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างแรง ผมยังเป็นนายร้อยตำรวจชั้นเด็กๆ ในขณะที่เพื่อนที่เป็นนายทหารบกบางคนเริ่มจะเป็นผู้ใหญ่ในหน่วยสำคัญ ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งผมจึงถามเขา (อย่างเสียดสีด้วยความอิจฉาริษยา) ว่า เพื่อนได้รับบำเหน็จความดีความชอบอะไรบ้างไหม

เพื่อนตอบอย่างหงุดหงิดหัวเสียทำนองว่า เขาเป็นพวกที่อยู่ “นอกกลุ่ม” เพื่อนไม่กลัวความเป็นตำรวจของผมแม้แต่น้อย

“ข้าประเมินว่าทหารที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลอย่างสุดตัวมีไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ว่ะ”

เพื่อนผู้เป็นนายทหารเขาเอาตัวเลข (ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์) มาจากไหน?

ผมเดาว่าคงประเมินมาจากระบบการจัดสรรงบประมาณ 2 ขั้นที่จะบำเหน็จความดีความชอบแก่ข้าราชการที่ประกอบความดีเป็นพิเศษทุกกรมกอง 15 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง

และ “15 เปอร์เซ็นต์” นี่แหละที่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในวงราชการตลอดมา เพราะเจ้านายบางที่โตขึ้นมาด้วยการปฏิวัติรัฐประหารต่างแสร้งคิดเอาเองว่าเงินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว-ไม่ใช่ของรัฐ แล้วก็จ่าย 2 ขั้นให้ญาติหรือลูกน้องใกล้ชิดไปเท่าที่จะกล้าทำ เหลือคนที่สมควรจะได้จริงไปสัก 10 เปอร์เซ็นต์ คนที่ได้ด้วยความรู้ความสามารถของตนเองนี้เขาจงรักภักดีไปตามวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่ถึงกับจงรักภักดีอย่างสุดตัวถึงขั้นยอมตายแทนหรือยอมติดคุกแทนหรอก อย่างเก่งก็เป็นแค่ “กองหน้า” ในบางเหตุการณ์

และแล้วในที่สุดก็ต้องปล่อยมือไปตามยถากรรม ไปเป็น “กองหลัง” อยู่กับพวก 90 เปอร์เซ็นต์

มีตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมในการปกครองเป็นบทเรียนมากมาย ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจกัน

เหตุที่นึกถึงบรรยากาศก่อนการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เพราะสังเกตได้ว่ารัฐบาลเริ่มไม่มีคำตอบในหลายคำถาม แต่ละคำถามส่อไปทางข่าวด้านลบของรัฐบาลทั้งสิ้น จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถึงกับต้องขอร้องสื่อให้เพลาการเสนอข่าวในทางลบลงบ้าง

คำถามที่รัฐบาลไม่มีคำตอบมีมากมาย แต่ละเรื่องต่างก็ลดกำลังกองหลังและกองหนุนไปตามลำดับ ยกตัวอย่าง เช่น การจ่ายเงินเดือนโดยเงินของรัฐแบบไม่อั้นแก่ “แม่น้ำ 5 สาย” พร้อมผู้ช่วย และเลขานุการ นี่ก็เท่ากับว่า แม่น้ำอีก 95 สายเขากลายเป็น “คนนอก” ไปทันที

หรืออีกคำถาม…กรณี กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ใช้งบฯ จัดซื้อชุดสูทสากล ชุดละกว่า 3 หมื่นบาท สำหรับคณะกรรมการและเลขาธิการ เป็นเงิน (ตามสัญญาจ้าง) 367,224 บาท เงินไม่มากก็จริง แต่มันเป็นภาพของ “ฟ้าสูง-แผ่นดินต่ำ” หรือ “คนรวยกระจุก และคนจนกระจาย” ชัดเจน

ดี-ไม่ดีอาจจะมี “คณะกรรมการ” ชุดอื่นๆ อีกราวร้อยชุดอาจจะอ้างเป็นมาตรฐานของราคาสูทสำหรับทำงานก็ได้ งบฯ ประเภทนี้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์อะไร!

คำถามง่ายๆ รัฐยังตอบไม่ได้หรือไม่กล้าตอบ อย่าว่าแต่ประชาชนคนนอกที่จะถอยห่างออกจากรัฐบาลหรือตัวนายกรัฐมนตรี แม้แต่คนใกล้ชิดระดับกองหน้าหรือกองหลังก็ตีตัวออกห่าง มันเป็นเวลาแห่ง “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”…เหมือนกับทุกเผด็จการที่ผ่านมานั่นแหละ

คำถามง่ายๆ ยังตอบไม่ได้ แล้วจะไปหวังอะไรกับคำถามยากๆ อย่างเรื่องของเรือเหาะหรือนาฬิกา

ในวันขอพร (หรืออวยพร) ปีใหม่ 2561 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ถึงกับหลุดคำพูดต่อหน้าคณะรัฐมนตรีที่เข้าอวยพรว่า “กองหนุนเกือบหมดแล้ว” โดยไม่แจกแจงรายละเอียด ในฐานะที่ท่านรัฐบุรุษได้เคยผ่านประสบการณ์ของกองหน้า กองหลัง และกองหนุน มาหลายครั้งหลายหนแล้วนั่นเอง

ใครจะตีความอย่างไรก็ตาม แต่ตัวนายกรyฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตระหนักดีว่าเป็นคำเตือน

ดังนั้น หลังจากประกาศยอมรับสารภาพว่าตัวเองเป็น “นักการเมือง” จึงมีคำพูดทำนองขอแรงประชาชนช่วยสนับสนุนเป็นกองหนุนใหม่ เข้ามาทดแทนกองหนุนเก่าที่กำลังปลีกตัวออกไป หรือกำลังจะถูก “นักการเมืองคนใหม่” แซะออกไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านน่าจะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักการเมืองมานานแล้ว เพราะมีพฤติกรรมแบบนักการเมืองมาโดยตลอด เช่น ให้สัญญาอะไรมากมายแล้วไม่ทำ จับจ่ายเงินรัฐอย่างสุรุ่ยสุร่ายแก่คนที่คาดหวังว่าจะมาเป็น “กองหน้า” เมินเฉยกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และประชานิยมในนามของประชารัฐ

ภาพของ ครม.สัญจร แต่ละครั้งตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นภาพนักการเมืองหาเสียงไม่มีผิดเพี้ยน มีการพบปะกระชับสัมพันธ์กับนักการเมืองเก่าเจ้าของพื้นที่

มีผู้ใหญ่บางคนของ คสช. แอบไปพบกับอดีตนักการเมืองร่ำรวยที่ชื่อเสียงเน่า คงต้องการให้ช่วยเป็น “กองหนุนลับ” เข้าลักษณะรังเกียจตัวแต่อยากได้ทุนกับหัวคะแนน

ผมจำไม่ได้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัญญาว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือเปล่าเมื่อครั้งที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ แต่เห็นชัดเจนว่ากลับไปอนุรักษ์