สุจิตต์ วงษ์เทศ / วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ก่อนและหลังรับศาสนาจากอินเดีย

หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม เป็นหมอมด (หมอผี) หัวหน้าเผ่าพันธุ์ และเป็นเจ้าของงานช่างทั้งมวล ได้แก่ ช่างขับ, ช่างฟ้อน, ช่างแคน ในพิธีทำขวัญ (เรียกขวัญและส่งขวัญคนตายขึ้นฟ้า) ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกจากเครื่องมือสำริด พบในเวียดนาม)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ก่อนและหลังรับศาสนาจากอินเดีย

ควรสร้างภาพรวมของอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ว่ามีวัฒนธรรมร่วมหลายพันปีมาแล้ว

แต่หนังสือเรียนชั้นมัธยมของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่บูรณาการสร้างภาพรวมของวัฒนธรรมร่วม แล้วอธิบายความสำคัญของหลักฐานโบราณคดีด้านเทคนิควิทยาและการกำหนดอายุของหลักฐานเท่านั้น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาทางโบราณคดีที่ยังไม่ยุติ ไม่แน่นอน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหนังสือประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของ กระทรวงศึกษาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2557) จะคัดมาเฉพาะตอนต้นดังนี้

“ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“การพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือหิน เครื่องมือโลหะ โครงกระดูก และสิ่งของเครื่องใช้ที่ฝังอยู่ใต้ดินตามที่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เราทราบว่าดินแดนในภูมิภาคนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ นับหลายแสนปีมาแล้ว นักโบราณคดีได้แบ่งช่วงเวลาของการศึกษายุคก่อนประวัติศาสตร์นี้ออกเป็นสมัย ตามลักษณะพัฒนาการของเครื่องมือเครื่องใช้และอายุของวัตถุที่สามารถตรวจสอบได้โดยดูจากอายุของชั้นดิน หรือใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้มีความเก่าแก่มาก การบอกอายุจึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่นอน จึงต้องใช้การประมาณ ซึ่งมักจะประมาณกันเป็นช่วงพันปีหรือหมื่นปี” (หน้า 36)

ไม่แน่นอน

เครื่องมือหิน ยังเป็นที่ถกเถียงไม่จบสิ้นในหมู่นักโบราณคดี แล้วจะเอาเรื่องเครื่องมือหินยุคก่อนประวัติศาสตร์มาใส่ในหนังสือเรียนทำไม? ในเมื่อไม่มีอะไรแน่นอน

หนังสือเรียนแบ่งยุคสมัยตามแนวคิดโบราณคดีตะวันตก มีสมัยหินเก่า, สมัยหินใหม่ แต่โดยแท้แล้วก็ไม่จริง เพราะเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ จึงต้องมีเชิงอรรถซึ่งเหมาะสำหรับนักปราชญ์ทางโบราณคดีถกเถียงกันบอกไว้ดังนี้

“การแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ตามแนวคิดสากล ช่วงเวลาระหว่างสมัยหินเก่าสมัยหินใหม่เคยกำหนดให้เป็นสมัยหินกลาง โดยให้เครื่องมือหินกะเทาะขนาดเล็กและประณีตที่เรียกว่า “เครื่องมือแบบฮัวบินเนียน (Hoabinhian)” ที่พบเป็นครั้งแรกที่เมืองฮัวบินห์ (Hoa Binh) ในเวียดนามเป็นเครื่องมือสมัยหินกลาง แต่ปัจจุบันนักโบราณคดีมีความเห็นว่าเครื่องมือแบบนี้ไม่ใช่เครื่องมือสมัยหินกลาง แต่เป็นเครื่องมือหินเก่าที่มีพัฒนาการต่อมาเป็นเครื่องมือหินขัดในสมัยหินใหม่ เนื่องจากเครื่องมือแบบนี้มีอายุแก่กว่าหินกลาง หรือเก่าแก่กว่า 10,000 ปีมาแล้ว และรูปแบบเครื่องมือแตกต่างไปจากเครื่องมือหินกลางตามแนวคิดสากล” (หน้า 37)

วิถีชีวิตของคนดึกดำบรรพ์

ควรสรุปกว้างๆ สร้างภาพรวมๆ ว่าคนดั้งเดิมในอุษาคเนย์มีวัฒนธรรมร่วมทั้งหมดคล้ายคลึงกัน จะต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น จะยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้

คนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์มีส่วนสูงโดยเฉลี่ยเท่าคนปัจจุบัน มีเครื่องรางประดับตามตัว เช่น ลูกปัดดินเผา, ลูกปัดหินสี, ลูกกระพรวนดินเผา, เขี้ยวสัตว์, หนังสัตว์, ฯลฯ

บางคนอาจเอาเลือดป้ายเป็นแถบบนใบหน้าเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์หรือพืชประจำตระกูล บางคนใช้หนามหรือกระดูกสัตว์และเขี้ยวสัตว์ปลายแหลมขีดข่วนตามผิวหนังให้เป็นรอยแผลเป็นคล้ายหนังกบ หรือจระเข้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์

มีความแตกต่างทางชนชั้น โดยคนกลุ่มหนึ่งเป็นตระกูลหัวหน้า มีเครื่องประดับมากกว่าคนอื่น และอยู่เรือนมั่นคงกว่าคนอื่นๆ

ปลูกเรือนเสาสูงด้วยไม้ไผ่ แม้ไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่สันนิษฐานจากร่องรอยสมัยหลังๆ ต่อมา

ทำเครื่องมือเครื่องใช้จากหิน (เช่น ขวานหิน), กระดูกสัตว์, ไม้ (เช่น ไม้ไผ่), ฯลฯ และทำภาชนะดินเผา

ปลูกข้าวและกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก, เลี้ยงสัตว์ (เช่น หมู, วัว, ฯลฯ), มีประเพณีฝังศพ, ฯลฯ

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ของคนนานาชาติพันธุ์

อุษาคเนย์ มีวัฒนธรรมร่วมหลายอย่างมานานหลายพันปีแล้ว เพราะอยู่เขตมรสุมเดียวกันทั้งส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แต่ก็มีส่วนต่างกันด้วย

ส่วนที่มีร่วมกันเป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน ที่ทุกประเทศเคยมีร่วมกันแต่แรก แล้วยังมีคล้ายคลึงกันสืบจนปัจจุบัน มีพัฒนาการรายละเอียดต่างกันในยุคหลัง จึงเรียกวัฒนธรรมร่วมอาเซียน โดยแบ่งกว้างๆ เป็น 2 ระยะ คือ ก่อนอินเดีย และหลังอินเดีย มีโดยสรุปดังนี้

ก่อนอินเดีย หมายถึง ก่อนรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่หลายแสนหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว จนถึงราว พ.ศ.1000 คนพื้นเมืองดั้งเดิมมีวัฒนธรรมร่วมอยู่แล้ว ได้แก่

(1.) คนน้อยพื้นที่มาก (2.) ชายแดนไม่มี (3.) บ้านพี่เมืองน้อง (4.) หลากหลาย แต่คล้ายคลึงกัน (5.) ศาสนาผี ของผู้หญิง (6.) ยกย่องแม่หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม (7.) คนเกิดจากน้ำเต้าร่วมกัน (8.) เชื่อเรื่องขวัญ (9.) พิธีศพนานหลายวัน (10.) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น งู, กบ, หมา ฯลฯ (11.) เรือศักดิ์สิทธิ์ ส่งผีขวัญขึ้นฟ้า (12.) แต่งงาน ชายอยู่บ้านหญิง (13.) สืบตระกูลทางฝ่ายหญิง (14.) กินข้าวเป็นอาหารหลัก (15.) กับข้าวเน่าแล้วอร่อย (16.) อยู่เรือนเสาสูง (17.) โลหะ ก่อบ้านสร้างเมือง (18.) เครื่องดนตรีไม้ไผ่ และโลหะ คือ ฆ้อง (19.) ฟ้อนระบำรำเต้นอย่างเดียวกัน (20.) ผ้าผืนเดียว เตี่ยวพันกาย (21.) นั่งยองๆ ชันเข่า (22.) นอบน้อมถ่อมตน (23.) เคี้ยวหมากฟันดำ (24.) มวย เตะ, ศอก, เข่า (25.) ตะกร้อ

หลังอินเดีย หมายถึง หลังรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000

คนพื้นเมืองรับวัฒนธรรมจากอินเดียมาประสมประสานวัฒนธรรมดั้งเดิม แล้วเกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่มีทั้งคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน มี 3 ระยะ คือ (1) รับศาสนาพราหมณ์-พุทธ กับ (2) รับศาสนาอิสลาม และอื่นๆ (3) รับอาณานิคม จะสรุปสั้นๆ ดังนี้

(26.) ศาสนาพราหมณ์, พุทธ (27.) พิธีบวชนาค มีทำขวัญนาค (28.) ชายเป็นใหญ่เหนือหญิง (29.) กราบไหว้ (30.) ตัวอักษรจากอินเดียใต้ (31.) มหากาพย์รามายณะ, มหาภารตะ (32.) หนังใหญ่, หนังตะลุง (33.) โขน, ละคร (34.) สงกรานต์ (35.) ลายกระหนก (36.) ข้าวเจ้า (37.) กับข้าวมีแกงแบบแขก (38.) ศาสนาอิสลาม (39.) อาณานิคม (40.) มีชายแดน (41.) มีชาตินิยม