เครื่องเคียงข้างจอ / เด็กไทย 4.0

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เด็กไทย 4.0

ทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่าคำขวัญวันเด็ก ที่ท่านนายกฯ ตู่ ได้สร้างสรรค์มอบให้กับเยาวชนไทยในปี 2561 นี้คือ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”

เป็นการมอบคำขวัญในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศตัวออกมาชัดเจนว่า “เป็นนักการเมืองที่เป็นอดีตทหาร” ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ อีกหรือไม่ เพื่อที่จะได้มอบคำขวัญในปีต่อๆ ไปอีก

และถ้าได้กลับมาเป็นจะเป็นในฐานะนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือนายกฯ คนนอกที่ต้องเทียบเชิญให้มาเป็น จับตาดูกันต่อไป

แต่ที่ไม่ต้องจับตาดู เพราะเห็นอยู่ตรงนี้แล้วคือคำขวัญวันเด็กที่ว่านี้แหละ

ลุงตู่ได้ขยายความของคำขวัญนั้นให้กับหลานๆ ว่า อยากให้เด็กไทยตระหนักว่าตนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ขอให้ตั้งใจเรียน พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

แสดงว่าลุงตู่ได้ให้ความสำคัญของเทคโนโลยีอย่างมาก จนจับมาใส่ไว้ในคำขวัญที่ว่า เพราะอาจจะได้รู้ซึ้งถึงพลังอำนาจของเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ในโลกของดิจิตอล และโซเชียลมีเดีย ซึ่งท่านได้ผจญมาตลอดระหว่างที่ครองตำแหน่งก็เป็นได้

อย่างกรณีสดๆ ร้อนๆ “น้องหมาบางแก้ว ตัวละ 6 พันบาท” หรือกรณี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ซึ่งลำพังสื่อหลักเล่นยังไม่เจ็บๆ แสบๆ นัก แต่พอโลกโซเชียลนำมาขยายผลกันแบบสนุกสนาน เจาะลึก แทงใจดำ และต่อเนื่อง ก็ทำให้ท่านนายกฯ เหนื่อยและพลอยเสียรังวัดไปไม่น้อย

จะว่าไปแล้ว คำขวัญของท่านนายกฯ ก็ร่วมสมัยไม่น้อย เพราะโลกเราทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่กันเกือบจะทุกๆ ด้าน หลายอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ก็เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของเทคโนโลยีนั่นเอง

การให้น้ำหนักเพื่อให้ลูกหลานไทยได้สนใจเรื่องของเทคโนโลยีแบบสร้างสรรค์เช่นนี้ สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ท่านนายกฯ ได้เคยประกาศไปแล้ว

เมื่อไทยแลนด์ 4.0 คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยขับเคลื่อน “เศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม” เพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว การจะสร้างนวัตกรรมได้ต้องมีองค์ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์เป็นฐาน ซึ่งองค์ความรู้หนึ่งที่สำคัญคือ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์

เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ หลายคนคงประทับตราว่าเป็นยาขม เพราะไม่รู้เรื่อง ห่างไกลจากชีวิตประจำวันเหลือเกิน เลยไปถึงการนึกถึงความยุ่งยากของทฤษฎี ของสูตรต่างๆ และศัพท์วิชาการที่เกิดใหม่ 3 ชาติก็ยังไม่เข้าใจ

จากข้อมูลการศึกษา พบว่าเด็กไทยให้ความสนใจเรียนในสาขาวิชาที่เป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าสาขาสังคมศาสตร์มาก ซึ่งตรงข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าเยอะ

นั่นจึงทำให้เขามีประชากรที่มีองค์ความรู้ที่ต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

ทำให้เขามีประชากรที่รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ

ทำให้เขามีประชากรที่รู้จักเหตุและผล

ทำให้เขามีประชากรที่รู้จักคิด แยกแยะ และวิเคราะห์ ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

ซึ่งเมื่อประเทศไทยเติบโตด้วยการศึกษาที่ยังไม่ได้มาตรฐานด้านคุณภาพที่ดีพอ ซ้ำร้ายยังไม่ทั่วถึง แถมคนที่ได้รับการศึกษายังอยู่ในสายสังคมศาสตร์เป็นส่วนมากเสียอีก

จึงสงสัยว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นไปได้จริงไหม

หากคำขวัญ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” คือกุญแจดอกหนึ่งที่จะไขให้ไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ ก็คงต้องลุกขึ้นมาจัดกระบวนการการศึกษาให้สอดคล้องและส่งเสริมไปในทิศทางเดียวกันด้วย

ซึ่งพอหันมาดูความเป็นจริงของการศึกษาไทยแล้ว ก็ให้รู้สึกสิ้นหวังเสียนักแล้ว

เมื่อปีที่แล้ว ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่งจากมิตรทางปัญญา คุณสุวิทย์ สาสนพิจิตร ชื่อหนังสือว่า “ห้องเรียนแห่งอนาคต เปลี่ยนครูให้เป็นโค้ช” เขียนโดย อ.วิริยะ ฤๅชัยพาณิชย์ และ ครูกมลรัตน์ ฉิมพาลี

หนังสือเล่มนี้ได้เขียนถึงความแตกต่างของการศึกษาของไทย กับประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาที่พัฒนาแล้ว อย่าง ฟินแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในสายวิชาการมานาน ได้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาโดยตลอด ได้ชี้ว่า ห้องเรียนสำหรับเด็กไทยในอนาคต ต้องเป็น “ห้องเรียนกลับด้าน”

“ห้องเรียนกลับด้าน” คืออะไร คือการเปลี่ยนจากการเรียนในห้อง และทำการบ้านที่บ้าน เป็นให้เรียนที่บ้าน และทำการบ้านที่โรงเรียน

งงไหมครับท่าน?

“ห้องเรียนกลับด้าน” คือแนวคิดสำหรับการเรียนใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เขาจะให้นักเรียนไปเรียนที่บ้านโดยเปิด “คลิปการสอน” ดู ซึ่งปัจจุบันมีคลิปการสอนจากครูเก่งๆ สอนดีๆ เข้าใจง่ายมากมาย เก่งกว่าครูที่สอนในห้องเรียนด้วยซ้ำ ดูแล้วไม่เข้าใจจะดูซ้ำกี่หนก็ได้ และไม่ได้จำกัดว่าต้องดูจากครูผู้สอนคนเดียว ยิ่งดูจากหลายครู ก็ได้แง่มุมความรู้ที่กว้างขึ้น

และทำการบ้านที่โรงเรียนคืออะไร

เมื่อเด็กได้เรียนบทเรียนจากที่บ้านแล้ว ในห้องก็จะเป็นการมอบโจทย์หรือโครงงานให้เด็กทำโดยนำความรู้ที่ได้เรียนมาทดลองใช้ ไม่ว่าจะเป็นงานเดี่ยว หรือกลุ่มก็ตาม

ครูก็มีหน้าที่เดินให้คำแนะนำเด็ก ตรวจงาน และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

สำหรับเด็กก็จะเกิดความสนุกสนาน ตื่นตัว เพราะเหมือนได้ทำกิจกรรมตลอดเวลา ไม่ใช่นั่งฟังครูและจดเหมือนที่ผ่านมา

ได้มีการทดลองใช้จริงและพิสูจน์มาแล้ว ในปี ค.ศ.2011 ที่โรงเรียน Clintondale High School ในรัฐมิชิแกน ได้นำห้องเรียนกลับด้านไปทดลองใช้เต็มรูปแบบในทุกวิชา ตัวอย่างหนึ่งคือชั้นเรียนของเด็กเกรด 9 เทียบเป็น ม.3 บ้านเรา เดิมมีเด็กที่สอบผ่านและสอบตกพอๆ กันในทุกวิชา

แต่เมื่อนำแนวคิดนี้ไปใช้ หลังจากนั้นแค่ปีเดียว ผลการสอบของเด็กดีขึ้น จำนวนเด็กสอบตกในวิชาต่างๆ ลดลงมาก เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ จาก สอบตก 41% เหลือเพียง 19% วิชาภาษาอังกฤษ จากสอบตก 52% เหลือ 19% เท่านั้น

และที่สำคัญจำนวนของเด็กที่ขาดเรียนก็ลดลงไปมาก จากที่เคยขาดเรียน โดดเรียนจาก 40% ลดลงเหลือ 10% เท่านั้น

แสดงว่าเด็กต้องสนุกและมีความสุขกับห้องเรียนกลับด้านของเขาแน่ๆ

เมื่อย้อนกลับมาดูเด็กนักเรียนไทย พบว่าต้องแบกตำราเรียนหลังแอ่นเพื่อมาเรียน เรียน เรียน วันละ 9 ชั่วโมง ไม่นับที่เรียนพิเศษเพิ่ม และชั่วโมงในการทำการบ้านที่มากมายที่บ้าน แต่ไฉนการศึกษาของเด็กไทยก็ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร และไม่สามารถใช้ได้จริงเมื่อจบออกมา

ทราบว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงศึกษาฯ เป็นเงินก้อนโต แต่ที่ยังไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้ คงต้องอยู่ที่แนวคิดและระบบที่ต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนกันจริงๆ จังๆ ลำพังแค่ทุ่มเงินลงไปคงใช้ไม่ได้

“รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” ที่เป็นคำขวัญวันเด็กปีนี้ ช่างน่าวังเวงเสียจริงครับลุงตู่ ไม่รู้ว่าเด็กไทยจะคิดเป็นกี่คน จะรู้เท่าทันมากน้อยแค่ไหน และจะรู้จักสร้างสรรค์เทคโนโลยีกันบ้างรึเปล่า

ถ้าหนึ่งปีผ่านไปแล้วเด็กไทยยังไม่ก้าวตามคำขวัญที่ว่านี้ได้ และลุงตู่ยังคงหรือได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศนี้อีก เสนอให้ใช้คำขวัญว่า

“รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี (อีก)” ดีไหมครับ

ไม่ต้องคิดใหม่ก็ได้ เพราะของเดิมยังทำไม่ได้เลย แฮ่ม