แพ้ทางยุทธศาสตร์ที่เมียวดี! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ชัยชนะของกองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ร่วมกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่น (PDF) เข้าโจมตีและปิดล้อม จนหน่วยทหารของกองทัพของรัฐบาลทหารเมียนมาต้องตัดสินใจยอมจำนน อันส่งผลให้ดินแดนตลอดแนวลำน้ำสาละวิน กลายเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด

สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ของแนวชายแดนไทย อำนาจฝั่งตรงข้ามชายแดนไทยเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขโดยตรงให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้อง “คิดใหม่-ทำใหม่” ในปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาได้แล้ว

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอประเด็นที่เป็นข้อพิจารณา 15 ประการ อันเป็นผลจากความพ่ายแพ้ของกองทัพรัฐบาลที่เมียวดี ดังต่อไปนี้

1) ความพ่ายแพ้ที่เมียวดีสะท้อนถึงการถดถอยอย่างต่อเนื่อง และเป็นการถดถอยในทุกสนามรบ อีกทั้งยืนยันถึงสภาวะของ “เมียนมาโดมิโน” ที่เกิดการล้มตามกันหลังจากยุทธการ 1027 แม้เราไม่สามารถตอบได้ว่า การล้มตามดันเช่นนี้ จะจบลงในแบบใด แต่ภาวะของการถดถอยกำลังเห็นได้ชัดเจน

2) การถดถอยทางทหารเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีขวัญกำลังใจในการสู้รบอย่างมาก เท่าๆ กับทำให้ขวัญของทหารฝ่ายรัฐบาลตกต่ำลงอย่างมาก และในหลายจุดทหารเมียนมายอมวางอาวุธ ไม่ยอมทำการรบต่อ ส่งผลให้ฐานของกองทัพเมียนมาถูกตีแตกติดต่อกันในหลายจุดอย่างรวดเร็ว

3) แม้กองทัพรัฐบาลจะยังคงมีศักยภาพในการทำการรบต่อไปได้ ด้วยสภาวะของการมีกองทัพขนาดใหญ่ แต่ความพ่ายแพ้ที่เกิดในหลายจุด ทำให้กำลังพลและกำลังอาวุธที่มีอยู่ลดลงเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ แต่ก็สร้างแรงต้านทางการเมืองอย่างมาก และทำให้หลายครอบครัวอยากอพยพเข้าไทย

4) ความพ่ายแพ้ในหลายจุด ทำให้กองทัพรัฐบาลที่เคยปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์อย่างรุนแรง กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสนามรบ อันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ภาพของอาวุธแบบต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยึดได้ และทำให้กองทัพของฝ่ายต่อต้านมีอาวุธพร้อมที่จะเปิดการรบใหญ่ได้

5) ชัยชนะของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จึงเป็นเสมือนกับการโอบล้อมตัวเมืองหลวง ที่เห็นชัดเจนขึ้น หรือเป็นสภาวะ “ชนบทล้อมเมือง” ในสงครามสมัยใหม่ และเป็นสัญญาณที่เด่นชัดถึงการถดถอยของพลังอำนาจของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า ภาวะนี้อาจนำไปสู่การล่มสลายของฝ่ายทหารได้ด้วยในอนาคต

6) การสูญเสียเมืองหลักหลายเมือง จนถึงกรณีของเมียวดี เป็นการตอกย้ำถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือเป็นการ “ฉีกหน้า” กองทัพเมียนมาครั้งใหญ่

7) เมียวดีเป็นเมืองเศรษฐกิจ และเป็นเมืองหน้าด่านของชายแดนไทย-เมียนมา จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญทั้งต่อไทยและเมียนมา การสูญเสียจึงกระทบกับเศรษฐกิจชายแดน และเศรษฐกิจระดับชาติอย่างมาก

8) การเตรียมการประกาศการเป็นอิสระจากอำนาจการควบคุมทางการเมืองของรัฐบาลทหาร ด้วยการชัก “ธงชาติกะเหรี่ยง” จะเป็นสัญญาณถึงความต้องการการปกครองตนเองในอนาคต ซึ่งความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความชัดเจนที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองเดิมของรัฐบาลทหารที่รวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่เนปิดอร์

9) กองทัพเมียนมาอาจมีความพยายามที่ยึดเมืองกลับคืน เช่น การส่งกำลังทางบกเข้าตี แต่ก็มีอุปสรรคมากจากความสูญเสียจากการถูกซุ่มโจมตี ดังเช่นที่เกิดกับกองพันต่างๆ แต่ถ้าเปิดการโจมตีทางอากาศ ด้วยการทิ้งระเบิดเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ การทำเช่นนั้น จะยิ่งกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้แก่ฝ่ายรัฐบาลทหารเอง และโดยพื้นที่การรบแล้ว การทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบเมียนมาอาจจะต้องตีวงเข้ามาในน่านฟ้าไทย ซึ่งรัฐบาลไทยปัจจุบันไม่มีท่าทีอนุญาตเช่นรัฐบาลเดิมอีกต่อไป

10) สงครามมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และขยายตัวได้เร็วขึ้น ก่อให้เกิดผู้อพยพภายใน (internal displaced persons- IDP) เป็นจำนวนมาก และถ้าการรบขยายใกล้แนวชายแดนไทย พวกเขาจะกลายเป็นผู้อพยพข้ามแดนเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งการเตรียมการในเรื่องของผู้อพยพหนีภัยสงคราม จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นสำหรับรัฐบาลไทย และทั้งต้องเตรียมในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยสงคราม

11) สถานะของอำนาจทางการเมืองในการควบคุมพื้นที่ชายแดนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะไทยจะมีแนวพรมแดนด้านตะวันตกติดกับรัฐของชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ติดกับเมียนมาในแบบเดิมอีกแล้ว ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญว่า ไทยจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรในอนาคต

12) ปัญหาการดำเนินการที่ผิดกฎหมายของกลุ่ม “จีนเทา” ในพื้นที่การควบคุมของกลุ่มกะเหรี่ยง ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการกำหนด “ยุทธศาสตร์ไทย“ ต่อปัญหาเมียนมา ปัญหาธุรกิจจีนเทายังเป็นปัญหาทับซ้อนที่สำคัญกับภาวะสงครามกลางเมืองเมียนมา และเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการแก้ปัญหา

13) รัฐบาลควรต้องตื่นจาก “ภวังค์“ เพื่อดำเนินการในเรื่อง “ยุทธศาสตร์ใหม่” อันจะเป็นหนทางในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเมืองใหม่ในเมียนมาได้แล้ว

14) ไทยต้องคิดยุทธศาสตร์ใหม่คู่ขนานกับเปิดการเชื่อมต่อกับทุกกลุ่มอำนาจ เพื่อผลักดันการเจรจาสันติภาพ การติดต่อกับทุกฝ่ายจะเป็นเงื่อนไขเบื่องต้นของการเป็น “คนกลาง” สำหรับเวทีสันติภาพที่กรุงเทพฯ

15) สถานะของรัฐบาลทหารที่ชอบธรรมดูจะลดลงอย่างมาก เพราะแรงต่อต้านทางการเมือง และการพ่ายแพ้สงคราม ซึ่งรัฐบาลไทยอาจจะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่!