นงนุช สิงหเดชะ/ท่องเที่ยวไทยยังมี “ตัวถ่วง” มาก

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ท่องเที่ยวไทยยังมี “ตัวถ่วง” มาก

ปี2560 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยประมาณ 35.38 ล้านคน (เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทย) หรือขยายตัว 8.77% จากปี 2559

ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ หลังจากปี 2559 ก็ทำสถิติสูงสุดใหม่ด้วยยอดนักท่องเที่ยวทะลุ 30 ล้านคนไปรอบหนึ่งแล้ว

ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2560 จะอยู่ที่ 1.83 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 12%

นอกจากนี้ไทยยังติด 10 อันดับแรกที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนมากที่สุดในโลก

เท่านั้นยังไม่พอ ดูเหมือนปีนี้กรุงเทพฯ ของเรามีข่าวดีต่อเนื่อง เพราะผลการสำรวจของมาสเตอร์การ์ดพบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เขี่ยลอนดอนและปารีสตกไปอยู่อันดับ 2 และ 3

การเติบโตทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ นับเป็นความสำเร็จของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

และไม่ผิดหากจะกล่าวว่าคนไทยมี “สินทรัพย์” เฉพาะตัวที่เอื้อต่อการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพราะนิสัย “ต้อนรับขับสู้เอาอกเอาใจ” ด้วยมารยาทนุ่มนวลนั้นถือเป็นทักษะอย่างธรรมชาติของคนไทย (ที่ดีๆ) ที่ทำได้ดีกว่าชาติอื่น ถือเป็นแต้มต่อที่คนชาติอื่นเลียนแบบได้ยาก

หากย้อนไปดูผลสำรวจก่อนหน้านี้ที่มีการถามคนต่างชาติว่าอะไรเป็นจุดดึงดูดให้พวกเขามาเที่ยวเมืองไทย

ส่วนใหญ่จะตอบว่า ค่าครองชีพไม่สูง คุ้มค่าเงิน นิสัยใจคอ ความเป็นมิตร รอยยิ้ม วัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติที่สวยงามหลากหลาย มีทั้งภูเขา ทะเล แหล่งช้อปปิ้ง อาหาร ครบครัน กิจกรรมท่องเที่ยวและสันทนาการที่มีให้เลือกก็หลากหลายเช่นกัน สภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างสบายตลอดปี (ภูมิอากาศไม่โหดร้ายสุดโต่งเกินไปเมื่อเทียบกับเมืองหนาว)

ในแง่ของการดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ถือว่าไทยทำได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมอื่นๆ อย่างเช่น เราจะพบว่าเมื่อต่างชาติประสบเหตุร้าย เช่น ตกเขา ตกทะเล บาดเจ็บ หน่วยช่วยเหลือของไทยมีความรวดเร็วและเอาใจใส่ค่อนข้างดี

หรือเมื่อเกิดอาชญากรรม เช่น ลักทรัพย์ ความสนใจของตำรวจในการติดตามเรื่องก็อยู่ในระดับใช้ได้ (อาจจะดูแลดีกว่าคนไทยด้วยซ้ำ)

ถ้าเหตุลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป คนไทยบางคนที่เคยประสบเหตุก็จะทราบว่าทางการไม่ค่อยแยแสนักท่องเที่ยว เพราะส่วนใหญ่มักจะมีแนวคิดไม่ง้อนักท่องเที่ยวเพราะถือว่าประเทศตัวเองใครๆ ก็อยากมาเที่ยว

ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นก็คือกรณีของดาราไทยคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันผันตัวไปเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยว ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่าไม่ประทับใจการทำงานของตำรวจอิตาลี

เพราะหลังจากไปแจ้งความว่ากระเป๋าเงินของพี่ชายถูกขโมยไป ทางตำรวจไม่สนใจติดตามเรื่อง และบอกว่าให้ไปค้นหาตามถังขยะเอาเอง ประมาณว่าโจรจะเอาแค่ทรัพย์สินในกระเป๋าไปแล้วนำกระเป๋าไปทิ้งตามถังขยะ (แล้วจะให้เราตามกระเป๋าเปล่ามาเพื่อประโยชน์อะไร)

ส่วนจุดด้อยของไทยในสายตาต่างชาติก็คือปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การคมนาคมไม่สะดวก เป็นต้น

ในแง่ของการลักขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นกับทุกประเทศ แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้ว อย่างเช่นยุโรป-อเมริกานั้นการขโมยทรัพย์สินชุกชุมไม่แพ้บ้านเรา โดยส่วนหนึ่งนั้นแก๊งต่างชาติ เช่น ชาวจีนพากันไปตั้งแก๊งขโมยทรัพย์สินของเพื่อนร่วมชาติในยามที่ชาวจีนออกท่องเที่ยวต่างประเทศมากอย่างในปัจจุบัน เพราะทราบดีว่าคนจีน (รุ่นมีอายุหน่อย) มีนิสัยชอบพกเงินสดก้อนโตเพื่อไปช้อปปิ้ง

แก๊งเหล่านี้จะปักหลักหมายตาเหยื่อตามแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่มีคนเบียดเสียดกันหนาแน่น เช่น พระราชวังแวร์ซายส์ คอยฉก ล้วงเมื่อเหยื่อเผลอตัว ซึ่งพวกที่ใช้ของแบรนด์เนมจะตกเป็นเป้าหมายอันดับแรก เรียกว่าชีวิตจะลำบากเที่ยวไม่สนุกแน่ๆ

ขโมยในยุโรปเดี๋ยวนี้ไม่เพียงแค่ขโมยของมีค่า แค่กระเป๋าเดินทางใส่เสื้อผ้าก็อาจฉกหายไปทั้งใบได้หากเผลอทิ้งไว้ไม่มีคนเฝ้า เพราะโจรสันนิษฐานว่าในกระเป๋านั้นต้องบรรจุของมีค่าอะไรสักอย่างที่เจ้าของเพิ่งไปช้อปปิ้งมา

สำหรับประเทศไทยนั้นนอกจากมีพวกขี้ขโมยและโกงเยอะแล้ว ยังโหดกว่าตรงที่มักมีข่าวทำร้ายร่างกายและข่มขืนนักท่องเที่ยวด้วย

ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่น่าจะเร่งแก้ไขโดยด่วน เพราะขัดกับภาพลักษณ์ที่เราขายออกไปว่าคนไทยใจดี ยิ้มง่ายเป็นมิตร ซึ่งจุดนี้ต่างชาติเข้าใจว่าคนไทยทุกคนเป็นอย่างนั้นหมด เลยอาจหลงไว้ใจทุกคนง่ายๆ

ปัญหาหนักหนาอีกประการหนึ่งคือแท็กซี่ ซึ่งเป็นด่านแรกที่นักท่องเที่ยวจะพบเจอเมื่อลงจากเครื่องบิน ที่พบบ่อยคือการไม่กดมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร

หนักกว่านั้นคือปล้นนักท่องเที่ยว ดังนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างกรมการขนส่งทางบกต้องหามาตรการและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกว่านี้มาจัดการเพราะเรื้อรังมานานมากแล้ว

สมควรจะเปิดกว้างให้แท็กซี่ทั้งอูเบอร์และแกร็บเข้ามาให้บริการมากขึ้น เพราะคงเป็นหนทางเดียวที่จะยกระดับการแข่งขันไปถึงระดับที่ทำให้แท็กซี่นิสัยเสียหมดทางทำมาหากินหากยังมีพฤติกรรมแบบเดิม เนื่องจากการจะหวังให้พวกแกะดำมีจิตสำนึกเองคงยากมากๆ

ถัดมาคือเรื่องการคมนาคมที่ระบบขนส่งยังไม่ครอบคลุม ถ้าทำได้แค่ครึ่งเดียวของญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือฮ่องกง มีอนาคตว่าการท่องเที่ยวของเราจะฉลุยมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันถือว่าการท่องเที่ยวเป็นแนวโน้มหรือเทรนด์ใหญ่ของโลก เนื่องด้วยมีหลายอย่างเอื้ออำนวย ทั้งวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมว่าต้องท่องเที่ยวเพื่อออกไปดูโลกหาประสบการณ์

การมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยต้นทุนที่ถูกลง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินโลว์คอสต์ แอพพลิเคชั่นจองห้องพักที่เปิดโอกาสให้เราเปรียบเทียบราคาโรงแรมทั่วโลก ระบบการจองที่ง่ายและยืดหยุ่น จะยิ่งทำให้การท่องเที่ยวของคนทั่วโลกเพิ่มปริมาณขึ้น

ดังนั้น หากบริหารจัดการให้ดี กำจัดจุดด้อยและตัวถ่วงออกไป ไทยจะสามารถเกาะอานิสงส์จากเทรนด์นี้ของโลกไปอีกนานพอสมควร