จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 12-18 เมษายน 2567

 

• ลิง

โหนสายไฟ โหนรั้วบ้าน โหนทุกสิ่ง

บรรดาลิง ใช้โหน ตามประสา

สัตว์สงวน อนุรักษ์ ดูแลมา

เป็นปัญหา เต็มบ้านเมือง เรื่องของลิง

ไมตรี รัตนา

 

ครั้งหนึ่ง ลิง

โดยเฉพาะลิงลพบุรี

เป็นแรงดึงดูดการท่องเที่ยว

ช่วยเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น

แต่วันนี้ เกิดปรากฏการณ์ตรงกันข้าม

กลายเป็นการทำลายท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

แม้มีความพยายามแก้ปัญหา

แต่ก็ดูไม่ยั่งยืน หรือถาวร

ยุ่งเป็นลิงแก้แห ที่ชวนปวดหัว ทั้งคนทั้งจ๋อ

 

• ช้าง

“กางเกงลายช้าง” ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ในเวลานี้

ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์ กล่าวว่า “กางเกงช้าง” ไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนถึงสัญญะของความเป็นไทยผ่านลวดลายช้างที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย

แต่ยังแสดงถึงการนำภูมิปัญญาของพื้นถิ่นมาผสมผสานกับการออกแบบสมัยใหม่

ใช้ผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับอากาศร้อนของไทย

พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสบายและมีสไตล์

มีการพัฒนาสินค้าให้หลากหลายตั้งแต่กางเกงขาสั้น ขายาว จนถึงขาจั๊มพ์

ช่วยเพิ่มโอกาสในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงการใช้สีสันที่ต่างกัน เช่น แดง เขียว ดำ น้ำเงิน

เพื่อสร้างความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจ

 

“การผลิตกางเกงช้างถือว่ามีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ส่งผลถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากของฝากสู่การเป็นแฟชั่นไอคอนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมีใส่กันในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่เดินเที่ยวสบายๆ ตามตลาด จนถึงการใส่กางเกงช้างในห้างสรรพสินค้า ถือเป็นเสน่ห์แบบไทยๆ ที่สวมใส่ได้ไม่เคอะเขิน” ศ.ดร.พัดชากล่าว

และว่า การสนับสนุนจากรัฐในด้านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาลวดลายและกระบวนการผลิต จะช่วยให้กางเกงช้างมีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

การรับรองคุณภาพและการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งจะช่วยให้กางเกงช้างไม่เพียงแต่เป็นการสร้างงานให้กับชุมชน

แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมไทย

การเป็นเทรนดี้ (Trendy) ของคนทุกวัยและการเปิดทางให้กางเกงช้างเป็นสินค้าที่มีการตลาดไปยังต่างประเทศได้สำเร็จ

นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับธุรกิจและวัฒนธรรมไทยให้ก้าวไปอีกขั้น

“การทำให้กางเกงช้างเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่มีความเป็นสากล ควรผสานความเป็นไทยอย่างแท้จริงกับเสน่ห์ที่ดึงดูดใจทั่วโลก การออกแบบควรทำให้เข้ากับทุกช่วงวัย โดยใช้วิธีการผลิตที่ยั่งยืนและเล่าเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทย การทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นจะช่วยรักษาความเป็นต้นฉบับ ในขณะที่การตลาดแบบสร้างสรรค์ช่วยนำเสนอแบรนด์ให้กับผู้ซื้อที่กว้างขึ้น ทำให้กางเกงช้างเป็นทางเลือกของไลฟ์สไตล์สำหรับผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่”

ศ.ดร.พัดชาแนะนำ

ส่วนข้อกังวลในการเข้ามาของทุนจีนในตลาดกางเกงช้างของไทยทำให้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งไหลไปยังประเทศจีนนั้น ในมุมมองของ ศ.ดร.พัดชา สถานการณ์นี้ไม่ควรถูกมองเป็นวิกฤต แต่เป็นโอกาส

เพราะการผลิตที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงความนิยมสูง

ควรมุ่งเน้นการสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าเพื่อแยกแยะและยกระดับสินค้าไทยในตลาดโลก

“กางเกงช้างได้กลายเป็นหนึ่งในไอเท็มแฟชั่นที่สำคัญ โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ การผลักดันกางเกงช้างจากของฝากสู่การเป็นแฟชั่นไอคอนเป็นตัวอย่างของการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

 

ศ.ดร.พัดชาเสนอว่า รัฐบาลไทยสามารถใช้กางเกงช้างเป็น Soft Power

โดยการนำเสนอในกิจกรรมทูตวัฒนธรรม

สนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่น โปรโมตในเหตุการณ์แฟชั่นระดับโลก

และใช้พื้นที่ดิจิทัลเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความยั่งยืนของกางเกงช้าง

เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทยและสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น

รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและจ้างงานคนในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับชุมชน

“ทำอย่างไร ที่สามารถต่อยอดให้เกิด Demand เพื่อกำไรเหล่านั้นจะกลับมาช่วยสร้างงานสู่ชุมชน และนักออกแบบรุ่นใหม่”

“ในแง่ของวิชาการแล้ว การหวงแหนการผลิตกางเกงลายช้างให้จำกัด จะเป็นเพียงการสร้างองค์ความรู้แต่ไม่เกิดมูลค่าในด้านอุตสาหกรรม เมื่อผลิตได้น้อยจะกลายเป็นของสะสม ไม่ใช่การเติบโตอย่างยั่งยืน”

“เมื่อต่างชาติได้ช่วยเรา ‘กระแทก’ เทรนด์ให้กางเกงช้างของไทยเป็นที่โด่งดังแล้ว เรายิ่งต้องคว้าโอกาสนี้เป็นพลังร่วมกันพัฒนาให้เติบโตมั่นคงไปอีก นักออกแบบรุ่นใหม่ควรหันมาต่อยอดตรงนี้ สร้างมูลค่า ในแง่ของลวดลาย identity ให้มีเรื่องราวและช่วยกันทำให้มีความครีเอทีฟมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อขยายโอกาสและขยายตลาดการใช้สอย ทำให้กางเกงช้างสามารถไปไกลได้อีก” ศ.ดร.พัดชากล่าวทิ้งท้าย

กลุ่มภารกิจนานาชาติสัมพันธ์

ศูนย์สื่อสารองค์กร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เห็นด้วย

กับการไม่ทำให้กางเกงช้าง

เป็นสิ่งที่หวงแหนของชาติ

หรือเป็นสิ่งที่ “จำกัด” ไว้เฉพาะไทย-ไทย

แต่ควร “กระแทก”

ให้เทรนด์กางเกงช้าง ระเบิดออกไปภายนอก

อย่างมีองค์ความรู้และสร้างสรรค์ •