‘เปลี่ยน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลายครั้ง เมื่อนึกถึงการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านๆ มา ผมพบว่า จะไม่ค่อยนึกถึงตอนที่ต้องตกอยู่ในสภาพการณ์ “ร้ายๆ” สักเท่าใดนัก รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งขณะที่เกิดนั้นไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์อะไร ไม่ว่าจะเป็นพลัดตกจากหน้าผา พารามอเตอร์ร่วงลงทะเล รถคว่ำ และอุบัติเหตุจากการไม่ฟังคำตักเตือน เข้าไปใกล้สัตว์ป่าเกินระยะที่พวกมันอนุญาต

ทุกครั้ง มันคืออาการบาดเจ็บ เครื่องมือเสียหาย

แต่เรื่องเหล่านี้ มันจะค่อนข้างรื่นรมย์ เมื่อพูดถึงตอนที่ผ่านมาแล้ว

เรื่องร้ายๆ ที่บางเรื่องบันทึกไว้ในแผลเป็น นี่แหละเป็นบทเรียนที่ดี อีกทั้งอย่างที่เรารู้กันดี บทเรียนที่ดีย่อมทำให้เราเติบโต

 

มีเรื่องดีๆ มากมายที่อยู่ในความทรงจำ ส่วนใหญ่ที่จำได้ มักเป็นเรื่องของคนที่มีโอกาสได้พบปะร่วมงาน บางคนกลายเป็นคู่หูซึ่งใช้เวลาร่วมกันตลอด

ลักษณะการทำงานของผม ที่ใช้เวลา “ฝังตัว” อยู่ในป่าใดป่าหนึ่งไม่น้อยกว่า 4 ปี

สิ่งที่ผมต้องยอมรับอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะใช้เวลา ใช้ความพยายามมากเพียงไร ผมก็เป็นได้เพียงคนแปลกหน้าของเหล่าสัตว์ป่า พวกมันไม่ยอมรับให้ผมเป็นพวก

แต่กับคนในป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าไหน ผมได้รับความเป็นเพื่อน หลายคนเราไม่ได้พบเจอกันอีก บางคนจากไปตลอดกาล หลายคนยังอยู่

ไม่ได้พบ แต่พวกเขาคงอยู่ในใจเสมอ

 

นอกจากคู่หูซึ่งเราต้องใช้เวลาด้วยกันมาก คนซึ่งจะสนิทสนมได้ง่ายๆ อีกคนคือ ผู้ทำหน้าที่เป็นพ่อครัว ทั้งที่สำนักงานเขตและตามหน่วยพิทักษ์ป่า

ความจริงอีกประการที่ผมพบในป่า นั่นคือผู้ที่ทำกับข้าวเก่งๆ นั้น มักเป็นผู้ชาย ผมพบกับพ่อครัว มากกว่าแม่ครัว

บางคนมีฝีมือจริง บางคนก็มี “ทริก” ที่ใช้กันประจำคือ ใช้เวลาทำนาน “คนหิว กินอะไรก็ต้องอร่อยนะครับ”

พ่อครัวมักเป็นผู้รอบรู้ รู้จักพืชผักในป่าดี รู้ว่าฤดูกาลใดจะมีผักอะไรมาเป็นเครื่องเคียงน้ำพริก

ในฤดูเห็ด แม้ว่าจะเป็นเห็ดยอดนิยม รสชาติดี วางขายในตลาดราคาสูง แต่การต้องกินทุกมื้อ ทุกวัน ก็ไม่ไหว

ในทีม หลายคนทำกับข้าวได้ และจะช่วยกันทำตามความถนัด บางคนหุงข้าวเก่ง บางคนผัด บางคนแกง และตำน้ำพริก

บางคนทำได้หมด นอกจากขอปฏิเสธการทำแกงจืดเพราะทำไม่เป็น

กระนั้นก็เถอะ กับคู่หูบางคน การทำกับข้าวเก่ง ก็เป็นข้อยกเว้น นอกจากน้ำพริกปลากระป๋องแล้ว คู่หูคนหนึ่งของผม ทำกับข้าว ที่ห่างไกลคำว่าอร่อยไปมาก

 

ออกจากป่ามาพักที่หน่วยพิทักษ์ป่าว่าดีแล้ว แต่การได้มาพักที่สำนักงานเขต นั่นมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

มีบ้านพักอุ่นๆ อาหารจากพ่อครัวมือดี มีโรงครัว และโต๊ะกินข้าว ที่เราจะมาร่วมกันตอนค่ำๆ นอกจากที่นี่คือที่ชุมนุมแล้ว ที่นี่ทุกคนยอมรับว่าเป็นอาณาเขตของชายหนุ่มผิวขาวร่างท้วม เขามีชื่อว่า สุวิทย์ เขาเชี่ยวชาญงานครัว ทั้งวางแผน คิดเมนู จ่ายเสบียง เครื่องปรุง (อะไรก็ขาดได้ แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ผงชูรส, รสดี)

เวลาปกติ เราเห็นเขาวุ่นอยู่ในครัว บางวันก็เห็นเขาอยู่ในชุดลายพราง ออกไปลาดตระเวนกับทีม

คนทำงานในป่า ส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ ทำได้หลายหน้าที่ กลับจากลาดตระเวน เขาเข้าสำนักงาน นั่งรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอในตอนประชุม อันเป็นส่วนหนึ่งของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

สุวิทย์มีบุคลิกสุภาพ เรียบร้อย หัวเราะง่าย คุยสนุก

และจะสุภาพ พูดจาเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น เมื่อเครื่องดื่มจากหมู่บ้านหมดไปสักครึ่งขวด

กวางกับนกยูงไทย – เมื่อออกมาอยู่ในที่โล่งๆ การช่วยกันระวังภัยของพวกมัน ช่วยให้นักล่าทำงานยากยิ่งขึ้น

นอกจากโต๊ะยาวด้านหน้า ที่ใช้เป็นที่กินข้าวของหัวหน้าและแขกที่มาเยือนแล้ว ถัดไปตรงกลางห้องเป็นที่ประกอบอาหาร มีลานกว้างอยู่ติดกัน ขวาสุดเป็นที่ล้างจาน ใกล้ที่ล้างจานเป็นห้องน้ำ

หน้าห้องน้ำ มีโต๊ะแคบๆ เก้าอี้ 3-4 ตัว

ที่ตรงนี้แหละ มักจะมีคนชุมนุม

โรงอาหารนี้ จะมีข้าวอุ่นๆ และกับข้าวอยู่ตลอดเวลา ใครก็ตามที่ผ่านเข้า-ออก จะกลับหน่วย หรือออกไปบ้านจะแวะมากินได้

โต๊ะยาวข้างหน้า มักไม่ค่อยมีคนมานั่ง

“เฮ้ย ข้างหลังน่ะออกมาข้างหน้านี่” หัวหน้าตะโกนบ่อยๆ “แอบเอากับข้าวดีๆ ไว้ไม่ยกออกมาหรือไง” หัวหน้าว่า

ผมชอบเดินเลยไปข้างหลังเช่นกัน เพราะจะมีกับข้าวพิเศษๆ อย่างน้ำพริก รวมทั้งแกงแบบกะเหรี่ยง

สุวิทย์กุลีกุจอเลื่อนเก้าอี้ พร้อมรินเครื่องดื่มใส่จอกเล็กส่งให้

“แก้หนาวครับ” มือหนึ่งเขาแตะข้อศอกอย่างสุภาพ

“ไม่หนาวหรอกครับ” ผมอิดออด รู้ฤทธิ์ความร้อนแรงเครื่องดื่มดี

“งั้นจะได้กินข้าวอร่อยๆ ครับ” เขาก้มตัวยิ้มอย่างปฏิเสธไม่ได้

หน้าขาวๆ เขาเริ่มมีสี

“ถ้ามันเริ่มเอานิ้วชี้สองนิ้วตีกันเมื่อไหร่ นั่นแสดงว่าได้ที่แล้วครับ” เพื่อนๆ บอกอาการสุวิทย์

 

เมื่อทุกคน “ได้ที่” เรื่องสนุกๆ ก็ตามมา

เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตอนพบเจอนั้น เครียด กังวล กลายเป็นเรื่องสนุกที่สุด

โดยเฉพาะเมื่อมาจากลีลาการเล่าของสุวิทย์

 

ผมนึกถึงเพื่อนๆ ในป่าเสมอ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เมื่อกลับไปที่เดิมๆ ผมพบว่า หลายสิ่งเปลี่ยนไปแล้ว บางแห่งผมคล้ายคนแปลกหน้า ผู้คนที่เคยอยู่แยกย้ายกันไป ไม่มีสิ่งใดอยู่อย่างถาวร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือความสัมพันธ์

ป่าหลายแห่งที่ผมใช้เวลา “ฝังตัว” นานนั้น ดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก หล่มลึก ก้อนหิน เนินชัน ลื่นไถล กระทิง, ช้าง, เก้ง, กวาง, นก, แมลงในป่า ผมไม่รู้สึกถึงความเป็นคนแปลกหน้าแล้ว

อาจเป็นช่วงเวลาที่ป่าสอนบทเรียนให้ผมเข้าใจ ในขณะที่เห็นว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง

แท้จริงที่ “เปลี่ยน” ไปนั้น คือตัวผมเอง

บางเรื่องราวก็เป็นความทรงจำไว้ระลึกถึง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ