ย่านศาลาแดง

ปริญญา ตรีน้อยใส

หลายเดือนก่อน พาไปมองสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง เล่าขานถึงที่มาของนาม ศาลาแดง ที่บังเอิญไปพ้องกับชื่อสถานีรถไฟสายแรกของไทย คือ รถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ

ที่น่าสนใจ เพราะรถไฟกรุงเทพฯ-ปากน้ำ และรถไฟสายสีน้ำเงิน ใช้พลังไฟฟ้าขับเคลื่อนเหมือนกัน

เพียงแต่ว่า ทางรถไฟโบราณวิ่งบนดิน ริมฝั่งคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่สี่) ส่วนทางรถไฟฟ้าสมัยใหม่ วิ่งใต้ดิน ใต้ถนนพระรามที่สี่

แม้ว่า นามสถานีศาลาแดงนั้น มาจากศาลาโล่ง มุงกระเบื้องหลังคาสีแดง ที่สร้างตอนที่ขุดคลอง ให้ผู้คนพักระหว่างเดินทาง คล้ายศาลายา ริมคลองภาษีเจริญ

แต่มาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อมีบ้านหลังใหญ่ สร้างอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟ คือ บ้านศาลาแดง ของ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชู-โต)

 

ตามเอกสารประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการทหารหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย อยู่ฝั่งธนบุรี จึงได้พระราชทานบ้านและที่ดิน เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา ที่อยู่ตรงข้ามศาลาแดง แต่คนละฝั่งคลอง เมื่อ พ.ศ.2430

หลังจากได้พระราชทานบ้านและที่ดินให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม และทอดพระเนตรเห็นว่า บ้านมีขนาดเล็กไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายกราโด ช่างรับเหมาก่อสร้างชาวอิตาเลียน สร้างตามแบบที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเคยเขียนไว้

อีกทั้งยังได้พระราชทานเงินให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ดำเนินการจัดซื้อที่ดินติดต่อกับบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 150 ไร่

ความใหญ่โตและกว้างขวางของบ้านศาลาแดง จึงกลายเป็นจุดอ้างอิงสำคัญ และคำเรียกขานบริเวณใกล้เคียง

เพียงแต่ว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พำนักอาศัยอยู่ที่บ้านศาลาแดงได้ไม่ถึง 10 ปี เกิดปัญหาหนี้ที่ยืมกรมพระคลังข้างที่ จำนวนเงิน 80,000 บาท ไปลงทุนทำป่าไม้ที่ชลบุรีกับบริษัทกิมเซ่งหลี ของนายอากรเต็ง

จึงต้องเอาบ้านศาลาแดง และที่ดินบนถนนสีลม เช่น ตรงถนนสุรศักดิ์ปัจจุบัน รวมทั้งที่แถวรังสิตอีกราวพันไร่ ใช้หนี้กรมพระคลังข้างที่

เรื่องราวของบ้านศาลาแดง จึงไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม เหมือนบ้านทรายทอง

หากกลายเป็นเรื่องเศร้าที่เกิดเรื่องราวต่อเนื่องอีกมากมายในเวลาต่อมา •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส