ขัดเขมร – ถกเขมร

ญาดา อารัมภีร

‘ขัดเขมร’ และ ‘ถกเขมร’ คือการนุ่งโจงกระเบนแล้วเอาชายไปเหน็บไว้ด้านหลัง จะต่างกันก็เพียง ‘ถกเขมร’ นั้นดึงชายให้สูงร่นขึ้นไปเหนือเข่า

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายว่า

“ถกเขมร, โจงกระเบน, คือคนนุ่งผ้าถกขึ้นไปถึงง่ามก้น, เช่น พวกเขมรดงนั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คำว่า ‘ถกเขมร’ ทำให้นึกถึงคำว่า ‘ปั้นเตี่ยว’ วิธีการนุ่งไม่ต่างกัน ดังที่บทละครนอกครั้งกรุงเก่าเรื่อง “นางมะโนห์รา” เล่าถึงตอนที่นางกินรีมะโนห์ราไม่ยอมขึ้นจากสระน้ำ เมื่อพรานบุญเกลี้ยกล่อมไม่สำเร็จ จึงยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่ขึ้นมา ข้าจะลงไปรับ

“บัดเดี๋ยวนี้ไซร้ลงไปดู ดีร้ายจะได้รู้ซึ่งคดี

ถกเขมนปั้นเตี่ยวบัดเดี๋ยวใจ ทำทีจะลงไปในสระศรี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่ากวีใช้ควบคู่กันทั้ง ‘ถกเขมน’ (ถกเขมร) และ ‘ปั้นเตี่ยว’ ‘ถก’ หรือ ‘ถลก’ คือ ดึง รั้ง รั้งขึ้น ในที่นี้คือ ‘ถกผ้า’ เป็นการดึงผ้านุ่งให้สูงพ้นเข่า ถ้าดึงสูงกว่านั้นเรียกว่า ‘ถกก้น’ คือ ดึงผ้านุ่งถึงง่ามก้น ส่วน ‘ปั้นเตี่ยว’ หรือ ‘คาดเตี่ยว’ “อักขราภิธานศรับท์” ให้ความกระจ่างจนมองเห็นภาพชัดเจนมาก

“คาดเตี่ยว, คือการที่เอาผ้าแคบๆ แต่ยาว คาดพันรอบบั้นเอว, แลชายผ้าที่ยาวนั้นลอดลงที่หว่างขา, ห่อลูกที่ลับแล้วโจงขึ้นไปเหน็บไว้กับผ้าที่เอวข้างหลัง”

 

การนุ่งผ้าและวิธีนุ่งบอกถึงตัวผู้นุ่งขณะนั้นว่ากำลังทำอะไร อยู่ในสถานการณ์ใด และมีนิสัยใจคออย่างไร

กรณีของพรานบุญคือต้องการความทะมัดทะแมง ลงลุยน้ำได้สะดวก ไม่ต่างอะไรกับการชกมวยในเมืองหมันหยา บทละครเรื่อง “อิเหนา” เล่าว่านักมวยหญิง

“คาดหมัดขัดเขมรมงคลใส่ แล้วไปยังสนามหน้าฉาน

ทุบหลังลงให้นั่งกราบกราน พระผู้ผ่านสวรรยาธานี”

บทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” ตอนที่นางตะเภาแก้วตะเภาทองโมโหหึง สั่งบ่าวไพร่รุมเล่นงานเมียใหม่ของไกรทอง บรรดาบ่าวต่างแต่งตัวให้กระชับมั่นคง เวลาออกแรงตบตี เครื่องนุ่งห่มจะได้ไม่หลุดลุ่ย

“บัดนั้น สาวสาวบ่าวผู้หญิงไม่นิ่งได้

คาดอกถกเขมรวางเข้าไป หมายใจจะตบตีวิมาลา”

 

อย่าว่าแต่สาวๆ เลย แก่ๆ อย่างแม่ศรีประจันของนางพิม พอโกรธขึ้นมาก็ ‘ถกเขมร’ ไล่ตีลูกเป็นพัลวัน เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายว่า

“ตะแก่ฟังลูกยาว่าประชด มันเหลืออดถกเขมรขึ้นเต้นเหยง

ดูอีพิมว่าได้ช่างไม่เกรง แกฉวยไม้ป่ายเป้งลงหลายที”

ไม่ต่างจากขุนช้างตอนตามหานางวันทอง พระไวยลักตัวแม่ไปไว้ที่บ้าน และให้หมื่นวิเศษไปแจ้งข่าวขุนช้าง ‘บอกว่าเราจับไข้มาหลายวัน’

“กูขอแม่ไว้พอเห็นหน้า

แต่พอให้เคลื่อนคลายหลายเวลา จึงจะส่งมารดานั้นคืนไป”

ท่าทีของขุนช้างที่โกรธงุ่นง่าน ทำให้คนของพระไวยใช้ไม้อ่อนด้วยการคลานแทนเดินเข้าไปหา ขุนช้างยามนี้ทั้งหวาดระแวงทั้งโกรธทั้งกลัวระคนกัน ยังไม่ทันรู้แน่ว่าเป็นใคร ก็สั่งบ่าวไพร่ทันที

“เด็กหวาจับถองให้จงได้

ลุกขึ้นถกเขมรร้องเกนไป ทุดอ้ายไพร่ขี้ครอกหลอกผู้ดี”

สมัยพระไวยหรือพลายงามยังเด็ก ขุนช้างรู้เต็มอกว่าเป็นลูกขุนแผนกับนางวันทอง จึงลวง ‘ลูกนอกไส้’ ไปฆ่ากลางป่า ก่อนจัดการในที่ลับตาคน ขุนช้างก็นุ่งผ้าแบบที่เตะถีบทุบถองได้ถนัด

“เห็นลับลี้ที่สงัดขัดเขมร สะบัดเบนเบือนเหวี่ยงลงเสียงผลุง

ปะเตะซ้ำต้ำผางเข้ากลางพุง ถีบกระทุ้งถองทุบเสียงอุบโอย”

 

กรณีของผัวเมียต้องทุ่มเทเรี่ยวแรงถ่อเรือสู้แรงน้ำวน “นิราศเมืองเพชร” ก็ทำให้เห็นสถานการณ์คับขันดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

“ถึงปากช่องคลองชื่อสุนัขหอน ทั้งเรือแพแลสลอนเสลือกสลน

ต่างแข็งข้อถ่อค้ำที่น้ำวน คงคาข้นขุ่นตื้นแต่พื้นเลน

เข้ายัดเยียดเสียดแทรกบ้างแตกหัก บ้างถ่อพลัดอึดอัดขัดเขมร

บ้างทุ่มเถียงเสียงหญิงขึ้นเกนเกน ล้วนโคลนเลนเปื้อนเปรอะเลอะทั้งตัว”

โดยเฉพาะถ้าต้องลุยโคลนเลนทำมาหากินเป็นชาวประมงด้วยแล้ว นุ่งผ้าแบบขัดเขมรยิ่งทำงานได้คล่องตัว ดังที่ “นิราศเมืองแกลง” เล่าว่า

“อันพวกเราชาวประโมงไม่โหย่งหยิบ ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร

จะได้กินข้าวเช้าก็ราวเพล ดูจัดเจนโลดโผนในโคลนตม”

ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” รัชกาลที่ 2 ทรงใช้คำว่า ‘ขัดเขมร’ เป็นระยะๆ ตอนที่เจ้าเงาะยั่วเย้าพี่สาวทั้งหกของนางรจนา หกเขยโกรธจัด เตรียมตัวร่วมด้วยช่วยกันรุมตัวการ ก่อนลงมือก็ต้องเตรียมพร้อม

“โมโหฮึดฮัดขัดเขมร โจงกระบาดคาดกระเบนเสียให้มั่น

หมายเขม้นกำหมัดกัดฟัน มุทะลุดุดันไม่พรั่นพรึง”

ตัวอย่างข้างต้นชี้ชัดว่านุ่งผ้าแบบขัดเขมรต้องโจงกระเบนแน่นอน หกเขยขัดเขมรเล่นงานเจ้าเงาะ ผลก็คือ

“บ้างกำหมัดขัดเขมรไม่ย่อท้อ ใจคอเหี้ยมฮึกบึกบึน

เข้าชกเงาะเดาะเอาด้วยเข่าลา ล้มผวาเจ็บจุกลุกไม่ขึ้น”

ท่าดีทีเหลวก็มีให้เห็น

“บ้างกำหมัดขัดเขมรหมายเขม้น ทำเป็นว่าพี่นี้คนกล้า

ครั้นเห็นเงาะถือไม้ใกล้เข้ามา ก็วิ่งล้มถลาขาแข้งเพลีย”

กายพร้อม ใจไม่พร้อม เสียเวลา ‘ขัดเขมร’ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร