สุขุม เฉลยทรัพย์ อ่านอนาคต ‘เศรษฐา’ ผ่านโพล เพื่อไทย จะกลับมาได้อีก? บารมีทักษิณยังมี?

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้เชี่ยวชาญการทำโพลมายาวนาน มองผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของรัฐบาล ผ่านโพลจากหลายสำนักว่า การที่ผลคะแนนของรัฐบาลออกมาไม่ดีนัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ เชื่อได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนจริง เนื่องจากคนไทยมีประสบการณ์กับการบริหารราชการของรัฐบาล รวมถึงปัจจุบันเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และที่สำคัญคือกระบวนการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง (discredit) มีน้อย ดังนั้น ผลสำรวจที่ออกมาจึงเป็นเสียงของประชาชน

เป็นผลมาจากปรากฏการณ์หลังจากการเลือกตั้ง ประชาชนเริ่มเอาตัวเองเป็น “ตัวตั้ง” ด้วยความคาดหวังและทบทวนในสิ่งที่พรรคการเมืองได้ให้สัญญาไว้ โดยเฉพาะพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล ผนวกกับการเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน อยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนอยู่ลำบากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจต่อรัฐบาลเริ่มลดลง ดังนั้น ทั้งสองประเด็นจะเป็นตัวกดดันรัฐบาล

ที่สำคัญคือการไปจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มคนที่เคยทำร้ายเขามาตลอด 17 ปี พอเกิดการจัดตั้งรัฐบาลผิดไปจากสิ่งที่อาจจะบอกว่าพรรคนี้ประชาชนไม่ชอบ คะแนนที่เคยให้พรรคของตัวเองที่เลือกเข้ามาถูกลดทอนลงด้วยคะแนนของพรรคที่ไม่ชอบตรงนี้ด้วย ความนิยมทางการเมืองของรัฐบาลจึงลดลง แต่หากมีผลงานหรือเข้ามาแล้วทำได้ดี ตรงนี้พอจะลบเลือนได้

แต่ในช่วงระยะเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมา กลับมีคนเห็นว่าไม่เป็นตามนั้น ต้องไม่ลืมว่ากว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ใช้เวลานานพอสมควร เมื่อได้รัฐบาลแล้วประชาชนก็อยากเห็นรัฐบาลที่เข้ามาแล้วพร้อมทำงานแก้ไขปัญหาให้เขาตามสัญญา เพราะนักการเมืองทุกพรรคหาเสียงเหมือนกันว่า ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องสามารถทำได้เลย

ไม่ต้องไปคิดถึงช่วง honeymoon period ไม่มีแน่นอน

ไตรมาสสุดท้าย
จุดตัดสำคัญรัฐบาลเพื่อไทย

อาจารย์สุขุมมองว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเป็นจุดสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย อย่างดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากตอนหาเสียง (ที่จะให้ประชาชน 16 ปีขึ้นไปทุกคน) แม้เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ เพราะตอนนี้มีฝ่ายค้าน หรือมีพรรคร่วมที่เห็นไม่ตรงกัน ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลัง

แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเหตุผลของนักการเมือง ที่บางครั้งจะออกมาพูด ให้ความหวังไปเรื่อยๆ เพิ่มยาหอม โปรยให้ฉุนขึ้นๆ แต่พอเริ่มจางก็เอาใหม่ สุดท้ายถ้าไม่สามารถทำตามที่สัญญา ประชาชนจะเสียความรู้สึก

ยิ่งเมื่อประชาชนได้รับความหวังที่ถูกหยิบยื่นจากพรรคการเมือง โดยที่หลายๆ คนกู้หนี้ยืมสินมาก่อนแล้ว เพราะหวังว่าจะได้เงินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อยังไม่ได้ ก็มีแต่ดอกที่ตามมา หรือบางคนใช้เงินที่กู้มาไปแล้วหวังจะเอาเงินตรงนี้มาใช้ทีหลัง พอไม่ได้ สภาพของชีวิตความเป็นอยู่หนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบการผลักดันนโยบายในอดีตที่ผ่านมา ในยุคไทยรักไทยที่มีจุดแข็งคือนโยบายและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเขาอาจจะบอกว่าในอดีตที่ทำสำเร็จ เพราะคนเลือกเขาเยอะเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาลผสม ในลักษณะที่พยุงช่วยกันอยู่ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่นโยบายของเพื่อไทยอย่างเดียว ที่สำคัญโครงการที่เสนอในตอนนั้น โครงการใหม่ ๆ มันน้อย และไม่มีใครทัดทาน

แต่ปัจจุบันเริ่มมีคนคัดค้าน มีการตรวจสอบและแข่งขันกันด้วยนโยบายหรือหักล้างด้วยข้อมูลมากขึ้น

 

ฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง?

อาจารย์สุขุมกล่าวว่า แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านด้านหนึ่งจะไม่เข้มแข็งมากมักทำอะไรไม่ค่อยได้

แต่ครั้งนี้มันไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา พรรคก้าวไกลไม่ได้หยุดการทำคะแนน ที่สำคัญการทำพรรคการเมืองเขาถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่า คะแนนของก้าวไกลกระจายตัวอยู่ในคนทุกกลุ่ม ซึ่งก็คือคนที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ เมื่อเวลาผ่านมาหลายปีคนกลุ่มนี้ก็อายุเพิ่มขึ้น ก็ไปไล่คนเก่าๆ ที่อาจจะสูญไป

ขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นเรื่อยๆ

 

ทักษิณกลับมา
ฟื้นศรัทธาได้ไหม?

อาจารย์สุขุมบอกว่า หากดูสถานการณ์การเมืองตั้งแต่การไปเชียงใหม่ ไปพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่ามี มีผลกระทบเยอะพอสมควร

ระบบทักษิโณมิกส์ ระบอบทักษิณ เป็นสิ่งที่เกิดจากผลงานที่เคยทำไว้ในอดีต โครงการที่ทำสำเร็จ ภาพจำในสมัยทักษิณยังคงอยู่ ทุกคนจึงคาดหวังและเชื่อในฝีมือของทักษิณยังมีอยู่

แต่มันลดลงด้วยการท้าทายของคนรุ่นใหม่ ต่อสู้ด้วยแนวคิด

กับอีกส่วนหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ มีความระแวง โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่จับจุดอ่อนตรงนี้ ซึ่งคุณทักษิณก็รู้ตัว จึงพยายามแสดงอำนาจ อิทธิพลต่างๆ เพื่อให้บารมีกลับคืนมา

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การกลับมาของทักษิณ = ดาบสองคม
นำไปสู่การถูกตั้งคำถาม
ตกลงประเทศนี้มีนายกฯ กี่คน?

ผมว่าจริงๆ แล้วประชาชนไม่ค่อยคิดถึงขนาดนั้น มีแต่นักการเมืองหรือคนที่เรียนบริหารมาจะมองว่ามีนายกฯ 2 คน

แต่ประชาชนส่วนใหญ่มากพอสมควรมองว่าได้นายกฯ ทักษิณมาช่วยงานก็ดี ก็คือเชื่อบารมีเดิม และคุณเศรษฐาเองก็ยอมรับว่าตนเองสู้บารมีของคุณทักษิณไม่ได้

ถ้ามองว่าคุณเศรษฐาเข้ามาแบบนักการเมืองยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง หวังจะเติบโตอันนี้ไม่ดีแน่ แต่ถ้าคุณเศรษฐาเข้ามาก็เพื่อบอกว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่ออยากเป็นก็ได้เป็นแล้ว แต่สิ่งที่บอกว่าจะทำให้ดีกว่านายกฯ คนอื่นไหม? เป็นคำถามที่มีคำตอบในตัวเอง เพราะฉะนั้น กรอบของคุณเศรษฐาในการเป็นนายกฯ กับกรอบของคุณทักษิณนั้นต่างกัน

หากไปดูคะแนนของคุณเศรษฐาจะเห็นว่าคะแนนของคุณเศรษฐาไม่ได้เป็นนายกฯ เดี่ยวๆ หรือขึ้นมาโดดๆ เหมือนคุณทักษิณ คะแนนจึงถูกแบ่งออกไป หรือการทำงานหนักของคุณเศรษฐา สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมในสายตาประชาชนยังไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องให้สำเร็จสักอันหนึ่ง สำเร็จเป็นรูปธรรม เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้การสำรวจความนิยมคะแนนกระจายแบ่งให้คุณทักษิณ คุณอุ๊งอิ๊ง และที่สำคัญพรรครัฐบาลไม่ได้มีพรรคเดียว

สิ่งที่อย่างฝากถึงคุณเศรษฐาที่สำคัญที่สุด คือไม่ต้องตื่นตระหนกกับโพล อย่าปักใจเชื่อและต้องทำใจ คุณเศรษฐาไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ เพราะนักการเมืองอาชีพเวลาจะสร้างความนิยมต้องสร้างจากคะแนน โดยมีเสียงประชาชนเป็นหลัก กรณีของคุณเศรษฐา มีวิญญาณของนักธุรกิจ มีการบวก ลบ คูณ หาร กำไรขาดทุนอยู่แล้วเป็นตัวกระบวนการคิด เมื่อเห็นโพลต้องแยกแยะให้ได้ว่ากลุ่มไหน คำถามว่าอย่างไร คนตอบคือใคร ครอบคลุมแค่ไหน กระบวนการเป็นอย่างไร อย่าเอาความรู้สึกเข้าไปเกี่ยว

แต่ถ้าไปฟังคนรอบข้างที่บอกว่าดีหมด ต้องดูผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร ผมว่าคุณเศรษฐาเข้าใจนะ เพราะคนที่ทำธุรกิจจะมองผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง คือความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ไม่เหมือนกับการลงทุนที่จะดีขึ้นทันที แต่มีปัจจัยอื่น และการเตะตัดขาทางการเมือง

มันซับซ้อนมากกว่าใช้แผนธุรกิจที่จะล้มกัน ตรงนี้ต้องระวังให้ดี

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การจ่อยุบพรรคก้าวไกล
จะส่งผลต่อคะแนนนิยมอย่างไรบ้าง?

ต่อให้มีการยุบพรรคไป มองว่าชื่อพรรคไม่สำคัญ เพราะว่าคนรุ่นใหม่ไม่ติดเรื่องชื่อ เขาเน้นเรื่องอุดมการณ์ เขามีจุดเชื่อมโยงหลายๆ จุด ที่สะท้อนได้ว่าทำไมคนสำคัญๆ ในพรรคก้าวไกลถึงเป็นความหวังของประชาชนได้ แม้จะรู้ว่าเขาถูกตัดสิทธิทางการเมือง ทุกวันนี้คนก็ยังอยากฟังคุณธนาธร หรือบุคคลสำคัญๆ ของพรรคก้าวไกล

ดังนั้น ถ้าหากพรรคถูกยุบ และแกนนำพรรคคนสำคัญถูกตัดสิทธิ การที่ฝังใจอยู่กับพรรคก้าวไกล-พิธา หรือใครก็ตามที่โดนกฎหมายเล่นงาน ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะไม่หายไป และการที่ทุกพรรคคิดว่าจะเอาคนรุ่นใหม่เข้ามา ทำหน้าที่ หรือช่วงชิงเสียงตรงนี้ แต่การเอาเข้ามามันกลายเป็นฆ่าตัวเอง ที่เอาลูกหลานตัวเองมา เพราะประชาชนมองว่าเลือกคนนี้ไปก็เหมือนได้พ่อ-ได้ปู่มา

แต่สำหรับพรรคก้าวไกลเป็นคนหน้าใหม่จริงๆ คนก็เชื่อมั่น เหมือนที่ใครๆ พูดกันก็คือว่า ยิ่งฆ่ายิ่งเพิ่มจำนวน ตายสิบเกิดแสน เราปราบได้แค่ตัวคน แต่ในแง่ของอุดมการณ์ ที่ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ของพรรค แต่เป็นอุดมการณ์ของประชาชน

ชมคลิป