อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : กองทัพบกจีนยุคใหม่ ขจัดรากเหง้าคอร์รัปชั่น

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หลายคนสนใจความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองของโลก ไม่อาจละเลยความสนใจความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของจีนไปได้

แต่ประเด็นเศรษฐกิจการเมืองจีนมีหลายมิติมาก อาจจะดูโครงสร้างพรรคการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจทั้งในแง่การผลิต การบริโภค การค้าและการลงทุนในต่างประเทศก็ได้

หรือจะสนใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งผู้นำรุ่นต่างๆ แนวนโยบาย บทบาทในการเมืองภายในและบทบาทของมหาอำนาจของโลก

อันนี้ ยังอาจต้องทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่จีนกำลังพัฒนาอย่างมากอีกด้วย

แต่ในบทความนี้ ผมจะนำข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทัพจีน อันหมายถึง กองทัพบก ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์บ้างทั้งในฐานะที่จีนเป็นมหาอำนาจทางการทหารและความมั่นคงในโลก และยังมีผลต่อภูมิภาคอีกด้วย

กองทัพบกจีน : การปรับโครงสร้าง

ในหนังสือพิมพ์ China Morning Post 25 August 2016 ได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจว่า การต่อต้านอย่างมากของกองทัพบกจีน ซึ่งใช้รูปแบบการจัดองค์กรขนาดใหญ่แบบสหภาพโซเวียต เมื่อรัฐบาลจีนจะปรับโครงสร้างให้มีขนาดองค์กรที่เล็กลง

ในรายละเอียดของการปรับโครงสร้างองค์กร กองกำลังจีนซึ่งเขาใช้คำว่า Land force troops ซึ่งหมายถึงกองทัพบกที่มีอยู่เดิมจาก 18 กองบัญชาการ จะถูกปรับลดลงให้เป็นประมาณ 25-30 หน่วย หน่วยหนึ่งจะมีกำลังพลเพียงระหว่าง 30,000 ถึง 100,000 นายเท่านั้น (1)

กองทัพบกขนาดใหญ่ของจีน เป็นโครงสร้างองค์กรอันเป็นมรดกตกทอดจากสหภาพโซเวียตในอดีต แต่มิได้เหมาะสมกับความต้องการในการทำสงครามสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างองค์กรที่ใช้งบประมาณมหาศาลอีกด้วย

มีการยกตัวอย่าง รูปแบบการจัดองค์กรกองทัพบกสหรัฐที่เรียกว่า US 1O1st Airborne Division คือตัวอย่างที่ดีที่กองทัพบกจีนจะใช้เป็นแนวทางการศึกษาในการจัดรูปแบบองค์กรใหม่

รูปแบบองค์กรกองทัพบกสหรัฐดังกล่าว มีการเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็ว มีหน่วยอาวุธยุโธปกรณ์และโลจิสติก รวมทั้งการจัดกองกำลังสนับสนุนต่างๆ อันสะท้อนความสำเร็จของความว่องไวของกองกำลังและความมีประสิทธิภาพ

มีการอ้างถึงรายงาน White Paper ของกระทรวงกลาโหมของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เผยแพร่ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกองกำลังขนาดเล็ก กองกำลังที่มีหลายรูปแบบ และมีหลายหน้าที่ (multifunction) ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในหลายเป้าหมายในการปฏิบัติงานร่วม

ตามแนวทางของประธานาธิบดี สี่ จิ้น ผิง (Xi Jinping) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการตัดสินใจของ Central Military Commission ตัดสินใจให้ 4 กองบัญชาการใหญ่ (general head quarter) ยุบลง ต่อมามีการตั้ง 15 องค์กรใหม่ รวมทั้งหน่วย Joint Staff 7 กองบัญชาการถูกปรับให้เหลือ 4 กองบัญชาการ จำนวนทหารประมาณ 300,000 คนจะถูกตัดออกในปี ค.ศ.2017 (2)

ภายใต้การจัดองค์กรใหม่ หน่วยงานต่างจะได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการที่สำคัญ ซึ่งรายงานตรงกับ Joint Staff Department ซึ่งขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Central Military Commission ก่อนที่จะมีคำสั่งไปยังกองกำลังส่วนหน้า

ในปัจจุบัน กองทัพบกจีนเป็นกองทัพบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก กองทัพบกประกอบด้วยทหาร 1.55 ล้านคน ซึ่งเป็นกองกำลังเคลื่อนที่ 850,000 คน ทั้งหมดเป็นทหารบก อันมีที่ตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศจีน

ปรับองค์กรหรืออำนาจควบคุม

การปรากฏตัวของประธานาธิบดีสี่ในกองทัพครั้งนี้ เป็นการกระฉับอำนาจทางทหารโดยตัวของประธานาธิบดีสี่เอง โดยมีการอนุญาตให้นายพลบางคนออกจากตำแหน่ง

ส่วนนายพลบางคน ซึ่งประธานาธิบดีสี่ไว้วางใจได้รับการสนับสนุน ประธานาธิบดีสี่พยายามลดขนาดกองกำลัง พร้อมทั้งตัดรากเหง้าการคอร์รัปชั่นภายในตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพบกด้วย

เมื่อสองปีก่อน มีการปลดผู้นำกองทัพบกระดับสูงจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง Vice Chairmen Central Military Commission นายพล Gou Boxiong และนายพล Xu Caihou มีการเข้าไปตรวจสอบ Guangzhou Military Command ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2012

ประธานาธิบดีสี่ ประกาศเป็นครั้งแรกว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People Liberation Army-PLA) ของจีนจะถูกตัดลดกำลังพลลง 300,000 ในคำกล่าวปราศรัยของเขาในวันฉลองครบรอบ 70 ปีของชัยชนะของกองทัพบกจีนต่อญี่ปุ่น แต่กองทัพอากาศและกองทัพเรือไม่ได้เป็นเป้าหมายของการปรับลดขนาดและองค์กรลงเลย

เป็นไปได้ว่า ในแง่การรบสมัยใหม่ การจัดองค์กรกองทัพบกขนาดใหญ่ได้ล้าสมัยไปแล้ว การทำงานหลายบทบาทและหลายหน้าที่ พร้อมการมีระบบสนับสนุนการรบและลอจิ๊ดติกนับเป็นโครงสร้างกองทัพบกที่ทันสมัยและเหมาะสมกับภารกิจ ในเวลาเดียวกัน การขุดรากเหง้าการคอร์รัปชั่นที่ครอบงำโดยผู้นำกองทัพในรัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนที่ต้องอาศัยเส้นสายและการคุ้มครองจากนายพลและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสิ่งสำคัญและกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมอีกด้วย

พร้อมกันนั้น การรบและยุทธศาสตร์การทหารของจีนและทุกประเทศในอนาคตอาจไม่ใช่มาจากกองทัพบกที่มีขนาดใหญ่โต แต่อาจจะเป็นจากกองทัพเรือและกองทัพอากาศที่จะทำหน้าที่ทั้งปกป้อง คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีนในโลกที่กว้างกว่าเดิม ก็เป็นไปได้

กองทัพบกจีนยุคใหม่

(1) “China to overhaul land troops in bid to transform world”s biggest army into nimble fight force” South China Morning Post 25 August 2016.

(2) Ibid.,