‘โอกาส’ ในวิกฤต เปลี่ยนตำรวจ แค่พลิกฝ่ามือ

ถึงจะมีภาษิต “เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้” ซึ่งมุ่งหมายจะบอกว่า ถ้าเสือตัวหนึ่งอยู่ เสืออีกตัวก็จะต้องไป แต่กรณีที่เกิดขึ้นในวงการสีกากีตอนนี้ “เสือทั้ง 2 ตัว” ถูกลากออกจากถ้ำ และกำลังตกที่นั่งลำบาก

นี่ต้องให้เครดิตกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

“ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี” เป็นเก้าอี้ที่ไม่น่านั่ง!

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จำต้องลุกจากเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ไปพร้อมๆ กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ต้องลุกจากเก้าอี้ “รอง ผบ.ตร.”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ร้ายแรง และอัปยศที่สุดแก่องค์กรตำรวจเท่าที่เคยมีมา

“ผบ.ตร.” เป็นผู้นำสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หมายเลข 2 คือ “รอง ผบ.ตร.” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อาวุโสอันดับ 1 เป็นแคนดิเดตตำแหน่ง “ผบ.ตร.” คนต่อไป

ทั้งสองถูกย้ายออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปพร้อมๆ กับคำโจษขานด้านมลทิน

คำถามคือ “มลทิน” ในเรื่องอะไร

กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม “ปัญหาใหญ่ๆ” ของตำรวจมีอยู่แค่ 2 เรื่องเท่านั้น

1.ไม่รักษากฎหมาย กับ 2.หาผลประโยชน์

นั่นคือ จุดกำเนิดของ “สายลมแห่งหายนะ” หรือต้นธารของวิกฤตศรัทธา!

 

หมายเลข 1 กับหมายเลข 2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังประสบชะตากรรมจาก “การโจษขาน” และ “การกล่าวหา” คงไม่มีความจำเป็นจะต้องกระหน่ำซ้ำว่าบาดแผลเหวอะหวะชุ่มโชกไปด้วยเลือดของทั้ง 2 นั้นมาจากอะไร

แต่ถ้าหากเรื่องที่โจษขาน หรือข้อที่กล่าวหาเหล่านั้นเป็น “ความจริง” คำถามก็จะมีว่า

“ทำไมคนประเภทหนึ่งจึงเติบโตขึ้นเป็นผู้นำระดับต่างๆ ในหน่วยตำรวจ”

ที่โรงพัก ที่กองกำกับการ ที่กองบังคับการ และกองบัญชาการต่างๆ ของตำรวจ มี “คนประเภทใด” เป็นผู้นำหน่วย

ต่อไปจะทยอยกันโจษขานและกล่าวหา “ผู้นำหน่วย” ของตำรวจระดับต่างๆ หรือไม่

ยังเหลืออะไรให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน

คำถามทั้งหลายนี้ มอบสำหรับผู้ที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร และในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

แค่ย้าย 2 เสือออกจากถ้ำ แล้วรอให้สายลมแห่งหายนะแผ่วลงจนกระทั่งสงบนั้น “ไม่เพียงพอ”

การจบลงด้วยคำพูดที่สวยหรูว่า “คืนความเป็นธรรม” ให้กับ 2 เสือนั้นเป็นบทละครเดิมๆ

วิธีลูบหน้าปะจมูกที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจะทำให้องค์กรตำรวจไม่เปลี่ยนแปลง

“ความเปลี่ยนแปลง” จะไม่เกิดขึ้น ถ้าใช้แต่ “คำพูด” กับ “กองเอกสาร” กรณีศึกษาหรือข้อสรุปเหมือนที่ผ่านมา

ถ้าเปรียบกับภาษาธรรมสำหรับชาวพุทธก็คือ ถ้ามีแค่ “ปริยัติ” แต่ขาด “การปฏิบัติ” ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุถึงมรรคผลที่เรียกว่า “ปฏิเวธ”

ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ เป็น “กระบวน” ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ยึดโยงเป็นเนื้อเดียวกัน

คนเราทุกคนเรียนรู้ได้ สอนได้ คิดได้ แต่ถ้าผัสสะทั้งห้า หู ตา จมูก ลิ้น กาย มือเท้าของคนผู้นั้นไม่เคลื่อนไหวทำงาน คนก็เปลี่ยนโลกไม่ได้

องค์กรตำรวจมีข้อมูลท่วมหัว ตำรวจมีบุคลากรที่ความรู้มีความฉลาดคิด แต่ถ้า “ไม่ลงมือทำ” เช่น เป็นตำรวจไม่รักษากฎหมาย และไม่เลิกรับผลประโยชน์จากการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ วิกฤตศรัทธาตำรวจก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

ความเน่าเฟะของ “ถ้ำ” หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติใน พ.ศ.นี้เป็นที่ประจักษ์ชัด

ถามว่า ถ้าไม่ผ่าตัดกันอย่างจริงจังในวันนี้แล้วจะ “ลงมือทำ” กันเมื่อใด

ลงมือปฏิบัติจึงจะเกิดผล!

ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่การลงมือทำให้เป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่การพูด การโฆษณา หรือการเล่นละครตบตา

วิธีเก่าๆ ที่เอานักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์กับตำรวจเก่าๆ ช่างคิดช่างพูดมานำเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะพอกันที

ถ้า “ไม่ลงมือทำ” การพูดก็ไม่ก่อประโยชน์อันใด เหมือนกับเวลาที่ล่วงเลยมาจากชั่วชีวิตตำรวจปู่-สู่ชั่วชีวิตตำรวจพ่อ ถึงแม้บางท่านจะไปสู่สัมปรายภพกันแล้ว “สายลมแห่งหายนะ” ยังคงดำรงอยู่

 

ที่ผ่านมาตำรวจถนัดทำแต่เพียงการเพิ่มยศ เพิ่มตำแหน่งให้กับชั้น “บังคับบัญชา”!

ชีวิตตำรวจหมกมุ่นอยู่กับการขวนขวายวิ่งเต้นเพื่อที่จะได้เป็นสารวัตร เป็นผู้กำกับการ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ กระทั่ง “ผบ.ตร.”

สำหรับหลายๆ คน

“ตำแหน่ง” เป็นแหล่งที่มาของ “อำนาจ” และ “รายได้”

ตำแหน่งไม่ใช่เป็น “สัญลักษณ์” ของความรับผิดชอบของสังคมและเพื่อความผาสุกของประชาชน

นั่นคือระบบความคิดหลักที่ฝังรากลึกอยู่ในองค์กรตำรวจ

เมื่อ “ตำแหน่ง” คือโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ ตำรวจก็ไม่อาจประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นที่รักของประชาชน

กรณีของ “2 เสือ” คือภาพสะท้อน!

ถ้าจะไม่ให้สังคมสิ้นหวัง “นายกรัฐมนตรี” ต้องลงมือทำ

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี และคณะกรรมการอะไรต่อมิอะไรมากมายที่เกิดจาก พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่นั้นก็ต้อง “ลงมือทำ”

ทำด้วย “มาตรฐานเดียว” ไม่เกี่ยงว่าตำรวจเล็ก ตำรวจใหญ่

ไม่ใช่กับชั้นผู้น้อยขึงขัง เข้มข้น เอาเป็นเอาตาย

แต่พอกับชั้นผู้ใหญ่ระดับ “พลตำรวจเอก” ซึ่งมีเครือข่ายสายสัมพันธ์กว้างขวางน่าเกรมขาม ต้องรอดู “ทิศทางลม”

 

สายลมแห่งหายนะโหมแรง จะเปลี่ยนแปลงตำรวจต้องเริ่มที่ “การลงมือทำจริง” ไม่ใช่การพูดไม่ใช่การโกหก!

การดำเนินคดีอาญาต้องเป็นไปอย่างซื่อตรง และรอบด้าน

การดำเนินการ “ทางวินัย” ก็ต้องชัดเจน โปร่งใส เชื่อถือได้

ตำรวจดีๆ ที่มีอยู่ทั่วไปจึงจะเชื่อมั่นว่า การประพฤติชั่วหรือมีมลทินมัวหมอง จะได้รับผล “มาตรฐานเดียวกัน”

ลงมือผ่าตัดองค์กรตำรวจกันจริงๆ เสียที ตำรวจดีๆ จะได้มีโอกาส

ถ้า “ผู้นำหน่วย” ทุกระดับตั้งแต่สารวัตร-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “รักษากฎหมาย” และ “ไม่รับผลประโยชน์” ตำรวจก็จะเป็นที่น่ารักน่าศรัทธาของประชาชน!?!!!