ครม.เคาะงบฯ ’68 จ้าง 2.5 หมื่น ‘ภารโรง’ ศธ.ลุ้นอีก 1.4 หมื่นอัตรา เฟส 2 มุ่งเป้า ‘ลดภาระครู-ยกคุณภาพการศึกษา’

ผ่านไปด้วยดี เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้จัดจ้าง “นักการภารโรง” ในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 25,370 อัตรา วงเงิน 2,739,960,000 บาท โดยจะเริ่มจัดจ้างได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

โดยมีค่าจ้างอัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน

สำหรับการจัดจ้างนักการภารโรงในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2567 ที่เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนนั้น ศธ.ได้เสนอขออนุมัติงบฯ สำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปี 2567 เพิ่มเติมไปที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อทำเรื่องของบฯ กลางกับ ครม.อีกครั้ง วงเงิน 639,450,000 บาท เพื่อจ้างนักการภารโรงให้ครอบคลุมโรงเรียนที่ยังขาดแคลนกว่า 14,210 อัตรา โดยจะเสนอที่ประชุม ครม.เร็วๆ นี้

โดยก่อนหน้านี้ ศธ.ได้เสนอของบฯ จัดจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียนต่อที่ประชุม ครม.ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากอยู่ในส่วนของงบฯ การจ้างเหมาบริการ ไม่ได้อยู่ในงบฯ การลงทุน และไม่ได้เป็นงบฯ ผูกพัน แต่เป็นงบฯ การจ้างงานแบบปีต่อปี โดย ศธ.ดำเนินการเองได้ และอยู่ระหว่างการดำเนินการในปีงบฯ 2567 ซึ่งงบฯ ยังคงค้างอีก 5 เดือน เป็นการของบฯ เพิ่มเติมเข้าไป

ส่วนเหตุผลที่ ครม.อนุมัติวงเงิน 2,739,960,000 บาท เพื่อจัดจ้างนักการภารโรง 25,370 อัตรา ในปีงบประมาณ 2568 เพราะมีเป้าหมายที่จะแบ่งเบาภาระครูโดยภาพรวม ซึ่งไม่ใช่การทำหน้าที่เฉพาะการอยู่เวรยามแทนครูเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่ดูแลโรงเรียนในด้านต่างๆ เพื่อให้ครูสามารถโฟกัสการทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม การเสนอของบฯ จ้างนักการภารโรงต่อที่ประชุม ครม.ในครั้งนี้ ศธ.ได้ขออนุมัติงบฯ ในการจัดจ้างภารโรงเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2568-2570 จำนวน 8,500 ล้านบาท แต่ ครม.อนุมัติเฉพาะปี 2568 ก่อน

ส่วนปี 2569 และปี 2570 ครม.มอบหมายให้ ศธ.ไปหาวิธีการทางเทคโนโลยีทดแทน เพื่อลดการจัดจ้างนักการภารโรง และเพื่อประหยัดงบประมาณ!!

 

ทั้งนี้ การขออนุมัติงบฯ เพื่อจัดจ้างนักการภารโรงของ ศธ.ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีครูสาวของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ถูกคนร้ายบุกเข้าไปทำร้ายขณะอยู่เวรวันหยุดคนเดียวถึงภายในโรงเรียน ได้รับบาดเจ็บปากแตก และมีบาดแผลทั่วตัว

ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ “ยกเลิก” การอยู่เวรของครูกลับมาอีกครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องไปที่ ศธ.ให้ยกเลิกครูเวร

จนที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 มีมติยกเลิกครูเวร และ ศธ.ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อสถานศึกษาไม่มีครูเวรแล้ว โดยเสนอให้จัดจ้างนักการภารโรงมาทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อลดภาระแทนครู รวมถึงการอยู่เวรด้วย

ซึ่งเดิมการอยู่เวรของครูนั้น มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 กรกฎคม 2542 กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่ง ต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ เพื่อดูแลและป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ

ประกอบกับ ศธ.ได้ยกเลิกการจ้างนักการภารโรงที่มีมาในอดีตนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายไม่บรรจุนักการภารโรงใหม่ ซึ่งเดิมการจ้างนักการภารโรงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โรงเรียนใช้งบฯ จ้างเป็นรายเดือน และโรงเรียนที่ไม่มีนักการภารโรงอีกกว่า 9 พันแห่ง

ดังนั้น สพฐ.จึงแก้ปัญหาโดยการจัดงบฯ ตามโครงการลดภาระครู เพื่อให้โรงเรียนใช้วิธีจ้างเหมาบริการเฉพาะเรื่อง เช่น ตัดหญ้า หรือซักผ้าปูที่นอน หรือกรณีโรงเรียนชั้นปฐมวัย ให้จ้างแม่บ้านซักผ้าให้ในอัตราขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดย สพฐ.จัดงบฯ ให้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 วัน ต่อ 1 โรงเรียน รวม 104 วัน

แต่เมื่อนักการภารโรงเกษียณอายุ จึงไม่มีการบรรจุนักการภารโรงใหม่ แต่ให้โรงเรียนใช้วิธีจ้างเหมาบริการแทน…

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ครม.มีมติยกเลิกการให้ครูอยู่เวรแล้ว ทำให้การไม่อยู่ของครู จะไม่ถือว่ามีความผิดตามระเบียบข้อ 8 ที่หากไม่ปฏิบัติตาม จะต้องถูกดำเนินการทางวินัย ซึ่งทำให้คุณครูทั่วประเทศ ไม่ต้องอยู่เวรในทันที

ฉะนั้น นับจากมติ ครม.ให้ยกเลิกครูเวรแล้ว แนวปฏิบัติการอยู่เวร หรือไม่อยู่เวรในสถานศึกษา ให้ถือเป็นเรื่องการสมัครใจ!!

 

แต่เพื่อ “อุดช่องโหว่” ระหว่างที่ไม่มีครูเวร และยังไม่สามารถจัดจ้างนักการภารโรงมาทำงานได้ โรงเรียนหลายแห่งที่มีศักยภาพด้านการเงิน ได้แก้ปัญหาโดยจ้าง รภป.มาทำหน้าที่เฝ้าเวรยามแทน หรือบางแห่งได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ติดกล้องวงจรปิดควบคุมจากระยะไกล หรือติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตรวจตรา หรือประสานหน่วยงานด้านความปลอดภัย รวมถึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชน

ขณะที่ ศธ.ได้ทำหนังสือประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ช่วยดูแล ตรวจตรา และรักษาความปลอดภัยสถานศึกษาทั่วประเทศในภาพรวม

ส่วนระดับพื้นที่ ศธ.ได้แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั่วประเทศ ทำหน้าที่เจ้าภาพในการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อให้การทำงานรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และดูแลครอบคลุมระดับพื้นที่

โดยสั่งการให้ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาทุกแห่งอย่างเร่งด่วน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชน เพื่อหารือถึงมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้กับโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังพบว่าโรงเรียนหลายแห่ง ยังคงให้ครูทำหน้าที่อยู่เวรเหมือนเดิม แต่ปรับเปลี่ยนคำสั่งจากคำว่า “อยู่เวร” เป็นการให้ครูปฏิบัติหน้าที่ “ดูแลโรงเรียน” แทน ซึ่งประเด็นนี้ ถือเป็นการออกคำสั่งที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดมติ ครม.เพราะครูยังคงต้องอยู่เวรเหมือนเดิม

ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษา ที่ยังดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ปรับรูปแบบการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสม โดยไม่ต้องให้ครูมาอยู่เวรเฝ้าโรงเรียน แต่ให้นำมาใช้ทดแทนได้ รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย

เพื่อดูแลครู และให้ครูมีความสุขอย่างแท้จริง!!

 

ทั้งนี้ การที่ ครม.มีมติอนุมัติงบฯ จัดจ้างนักการภารโรงให้สถานศึกษาทั่วประเทศในครั้งนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ระบุว่า จะช่วยแบ่งเบาภาระของครูทั่วประเทศ ทำให้ครูมีเวลาเตรียมการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน มีเวลาดูแลนักเรียน และมีเวลาพัฒนาตัวครูเองได้มากขึ้น

เพราะจากการลงพื้นที่รับฟังสภาพปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เมื่อโรงเรียนไม่มีนักการภารโรง ทำให้ครูมีภาระเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องทำงานที่ไม่ใช่การสอน อาทิ ทำหน้าที่ซ่อมบำรุง ทำความสะอาดอาคารสถานที่ ดูแลความปลอดภัยในโรงเรียน และอีกหลายๆ หน้าที่ ซึ่ง ศธ.มองเห็นปัญหาเหล่านี้

ต้องติดตามว่า หลัง ครม.อนุมัติงบฯ จัดจ้างนักการภารโรงกระจายลงในโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว ครูจะสามารถทุ่มเทเวลา และแรงกายแรงใจ ให้กับการจัดการเรียนการสอน การดูแลนักเรียน และมีเวลาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง…

เพื่อยกระดับ “คุณภาพ” การศึกษาโดยรวม ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่!! •

 

| การศึกษา