อันว่า ‘ครอบงำ’ ทางการเมืองนั้น มันมีอาการเช่นไร?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

อันว่า ‘ครอบงำ’ ทางการเมืองนั้น

มันมีอาการเช่นไร?

 

ถ้าใครเขียนหนังสือเรื่อง “อเมซิ่งไทยแลนด์” ว่าด้วยการเมืองไทยคงได้หนังสือเล่มใหญ่เบ้อเร่อที่สร้างความประหลาดใจไปทั่ว

ที่แน่ๆ คืออาจารย์สอนรัฐศาสตร์, นิติศาสตร์และจิตวิทยาอาจจะต้องมีอันตกงาน

เพราะความเป็นไปทางการเมืองในประเทศนี้ทำให้ต้องฉีกตำราทั้งเก่าและใหม่ทิ้งกันวุ่นวายแน่นอน

นักข่าวอยากรู้ว่าการที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เริ่มทำ Roadshow ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับพรรคเพื่อไทยนั้นจะเข้าข่าย “ครอบงำ” พรรคการเมืองนี้หรือไม่

พรรคที่ว่านี้ “ทักษิณ” ตั้งมาเอง

พรรคที่ลูกสาวที่ชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกว่ามีความเคารพนับถือและถ้าจะลงพื้นที่ด้วยกันก็มีความเป็นไปได้

พรรคที่ “ทักษิณ” บอกว่ากำลังจะเขียนคำแนะนำให้เพราะระหว่าง 6 เดือนที่นอนโรงพยาบาลนั้นเฝ้าดูทีวีมาตลอดและเห็นว่าบ้านเมืองนี้มีปัญหามากมายหลายประการ

พรรคที่หลังเลือกตั้งใหม่ คนที่เรียกตัวเองว่า “Tony Woodsom” แสดงความเห็นผ่านรายการออนไลน์ Care Talk ว่าจะต้องมีการ rebrand เพื่อจะสามารถแข่งกับพรรคก้าวไกลที่ใช้ IO ทางโซเชียลมีเดียคนสามารถเอาชนะพรรคนี้ได้

 

เมื่อนักข่าวสงสัยว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเข้าข่าย “ครอบงำ” หรือไม่ ก็ต้องถามคนที่เป็นผู้รับผิดชอบเบื้องต้นที่จะต้องพิเคราะห์เรื่องนี้

เป็นที่มาของข่าวชิ้นนี้

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ยังมีสถานะได้รับการพักโทษ การกระทำนี้ถือว่าผิดกฎหมายพรรคการเมือง และเป็นการครอบงำพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลหรือไม่ว่า

กกต.มีหน้าที่ดูแลพรรคการเมืองอยู่แล้ว ถ้าพรรคใดยินยอมให้บุคคลใดมาครอบงำ หรือคนใดไปครอบงำพรรคการเมือง ก็มี พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 และ 29 ระบุไว้ชัดเจน ห้ามพรรคการเมืองยืนยอมให้ผู้ใดมาครอบงำ

ดังนั้น ถ้ามีการกระทำใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืน 2 มาตรานี้ ก็เป็นเรื่องที่ กกต.สามารถดำเนินการได้

ส่วนการปรากฏตัวของนายทักษิณ มี ส.ส. รัฐมนตรี และสมาชิกพรรคไปพบที่พรรค ซึ่งต่างจากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่

ประธาน กกต.ยืนยันคำเดิมว่า ถ้าผิดกฎหมายจะต้องมีการครอบงำ

ดังนั้น การไปที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่น่าจะถึงขนาดเป็นการครอบงำ แต่หากมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเป็นการครอบงำ ก็ถึงเวลาที่ กกต.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

เมื่อถามต่อว่า ถ้านายทักษิณเข้าไปห้องประชุมเพื่อมอบนโยบาย จะถือว่าเป็นการครอบงำใช่หรือไม่

ประธาน กกต.บอกว่า ต้องดูข้อเท็จจริง เพราะข้อสันนิษฐานเอามาพิจารณาไม่ได้

ถ้ามีการเคลื่อนไหวทางการเมือง กกต.จะมีการติดตามเรื่อง รวบรวมข้อเท็จจริง

หากมีประเด็นก็เสนอให้เลขาธิการ กกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนการเมือง พิจารณาว่าสมควรตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหรือไม่

หากเห็นว่ามีมูลก็ตั้งต้องสืบสวนให้ครบถ้วน ว่าฝ่าฝึกกฎหมายหรือไม่ เพื่อพิจารณาเอาผิดต่อไป

ส่วนจากนี้ นายทักษิณ ก็จะเดินสายไปพบมวลชน ประชาชน ทำได้หรือไม่

ประธาน กกต.ยังยืนยันคำเดิมว่าถ้าการกระทำใดๆ ไม่เข้าข่ายที่จะถือเป็นการครอบงำ ก็ไม่สามารถไปห้ามได้

แต่ถ้าเป็นการครอบงำ ก็ต้องมีข้อเท็จจริงด้วย คงไม่สามารถตัดสินข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เฉยๆ ได้

ส่วนที่บางคนบอกว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว คำว่า ครอบครัว กับครอบงำ มันใกล้กันหรือไม่ ประธาน กกต.หัวเราะ

พร้อมบอกว่า “ไม่ใกล้กันเลย แต่มี ค.ควาย เหมือนกัน”

 

สรุปว่า ประธาน กกต. เห็นว่าคำว่า “ครอบครัว” กับ “ครอบงำ” นั้นมีที่เหมือนกันก็แค่มี ค.ควายเหมือนกันเท่านั้น

เป็นคำตอบที่ให้ความกระจ่างอย่างมากว่าผู้ที่นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นเชื่อว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ “ครอบงำ” พรรคเพื่อไทยแต่ประการใด

เพราะถึงวันนี้ใครที่คิดว่า “ครอบงำ” ก็เป็นเพียงเรื่อง “สันนิษฐาน” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง”

คำถามก็คือว่า กฎหมายเขียนเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร

สองมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

มาตรา 28 : ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา 29 : ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

ผมอ่านแล้วก็เกิดความตื่นเต้นเป็นล้นพ้น

เพราะได้ความรู้ที่ทำให้เกิดความคิดอ่านฟุ้งซ่านไปว่าสองมาตรานี้ไม่ได้ระบุเฉพาะเรื่อง “ครอบงำ” เท่านั้น

หากแต่ยังพูดถึง “ควบคุม” “ครอบงำ” หรือ “ชี้นำ” ด้วย

ย้ำว่า “หรือ” นะครับ…แปลว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง

ไม่ใช่ “และ” ที่จะต้องมีความครบถ้วนของทั้งสามประการ

อีกทั้งยังระบุว่าไม่ว่าจะโดย “ทางตรง” หรือ “ทางอ้อม” อีกด้วย

อ่านแล้วก็เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ในประเด็นเดียวกันทำไมต้องมี 2 มาตรา?

ตรงนี้ก็สนุก

 

มาตรา 28 มีเจตนาห้ามมิให้พรรคการเมืองเอง “ยินยอมหรือกระทำการใด” อันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการ “ควบคุม, ครอบงำหรือชี้นำ”

นั่นคือการที่พรรคการเมืองเอง “ยินยอม” ให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น

และพรรคการเมืองเองก็ต้องไม่ “กระทำการใด” ที่ทำให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการสามอย่างนี้ด้วย

ส่วนมาตรา 29 นั้นระบุ “ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งมิใช่สมาชิก” กระทำการที่นำไปสู่สามพฤติกรรม

นั่นหมายความว่าห้ามพรรคเองทำให้เกิด

และห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกทำให้เกิด

ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้เกิดก็ไม่ได้ ว่างั้นเถอะ

ดังนั้น ถ้าพรรคยอมให้เกิด หรือทำให้เกิดก็ผิด

หรือเจ้าตัวเป็นคนทำให้เกิดก็ผิดเช่นกัน

 

แต่ความมหัศจรรย์ของภาษาในสองมาตรายังไม่ได้จบลงตรงนี้ ยังมี

เพราะแม้จะทำให้เกิดอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้แล้วก็ยังต้องมีผลที่ตามมาด้วย

ผลที่ว่านี้ก็คือ

หาก “ควบคุม ครอบงำหรือชี้นำแล้ว” หากจะผิดได้ต้องเป็น ” กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

นั่นแปลว่าหากทำแล้วไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองนั้นหรือสมาชิก “ขาดความอิสระ” ก็ไม่เข้าข่ายผิด…ใช่หรือไม่?

ตีความได้หรือไม่ว่าหากมีกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามีคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการที่ “ควบคุม ครอบงำหรือชี้นำ” แล้ว แต่ไม่ทำให้พรรคหรือสมาชิกเกิด “ขาดความอิสระ” จะผิดหรือไม่?

 

คําถามต่อมาก็คืออาการของการ “ขาดความเป็นอิสระ” นั้นเป็นอย่างไร?

ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังยืนยันว่าไม่ว่าใครจะทำอะไรแม้จะตีความได้ว่าเป็นการควบคุม, ครอบงำหรือชี้นำ แต่ถ้าพรรคหรือสมาชิกพรรคยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า

“ข้าพเจ้ายังไม่ขาดความเป็นอิสระ”

จะถือว่าผิดหรือไม่ผิด?

เพราะอาจจะอ้างได้ว่าใครจะมาทำอะไร พูดอะไร สั่งอะไร “ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม” ฉันก็แกล้งเชื่อหรือแกล้งทำตามไปอย่างนั้น

“แต่ฉันไม่ขาดความอิสระ” ล่ะ?

ต้องเถียงกันต่ออีกว่า “ความอิสระ” มันมีหน้าตาและท่าทางอย่างไร?

มันแสดงออก “ความอิสระ” หรือ “สูญเสียความอิสระ” กันอย่างไร?

เขาควบคุม, เขาครอบงำ, เขาชี้นำฉัน

แต่ฉันก็ยังมีความอิสระ!

ใครจะทำไม?

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้เขียนเอง

ผมวานให้ “ศรีธนญชัย” บรรจงแต่งให้ตามหลักปรัชญาอมตะไทย “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ครับ!