นายพล นักธุรกิจ-นักการเมืองใหญ่ กับธุรกิจแข่งม้าในไทย (3)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

นายพล นักธุรกิจ-นักการเมืองใหญ่

กับธุรกิจแข่งม้าในไทย (3)

 

หากพิจารณาจากธุรกิจสำคัญของทหารบก ธุรกิจทำเงินน่าจะเป็นสนามกอล์ฟ ด้วยสนามกอล์ฟและการตีกอล์ฟในไทย หมายถึงเรื่องของกีฬาที่ทำให้คนนั้นมีเกียรติ แสดงความมีฐานะร่ำรวย แล้วในกองทัพไทยมีการสนับสนุนให้กำลังพล (นายพลขึ้นไป) ใช้เวลาตีกอล์ฟสม่ำเสมอ

แต่หากวิเคราะห์ว่า กองทัพบกพัฒนาสนามกอล์ฟมากถึง 37 แห่งทั่วประเทศ โดยที่สนามแข่งม้า สนามมวย สนามกอล์ฟและโรงแรมสร้างรายได้มากกว่า 724 ล้านบาท มีกำไร 41 แห่ง ขาดทุน 2 แห่ง1

หมายความว่า กีฬากอล์ฟและสนามกอล์ฟไม่ใช่เรื่องภาพลักษณ์มีเกียรติของนายพลเท่านั้น สนามกอล์ฟยังเป็นสมบัติทหารบก ล้ำค่าทางเศรษฐกิจพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม กิจการสนามกอล์ฟไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือเป็นกลไกทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของผู้นำเหล่าทัพ

สนามกอล์ฟมีบทบาทเพียงทำกำไรทางธุรกิจ เกี่ยวข้องกับนโยบายเสริมสร้างสุขภาพและเสริมสร้างความเป็นผู้นำให้กับกำลังพลระดับนายพลขึ้นไป

ยังเกี่ยวข้องกับที่ดินราชพัสดุ กระทรวงการคลังซึ่งแม้มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ไม่ได้อยู่ในเขตธุรกิจ ที่กองทัพบกให้เหตุผลการพัฒนาที่ดินจำนวนมาก แล้วอ้างความจำเป็นของการใช้งานด้านความมั่นคง จึงให้ผลตอบแทนแก่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังต่ำ และสร้างผลกำไรสูงแบบธุรกิจเอกชนในระดับหนึ่ง

ดังนั้น งานประพันธ์นี้จึงให้ความสนใจกับธุรกิจสนามกอล์ฟและโรงแรมน้อย แต่ให้ความสำคัญธุรกิจแข่งม้าและสนามม้าของกองทัพบกมากกว่า อันเกี่ยวพันกับโครงสร้างอำนาจทางสังคมของกองทัพบกมากกว่า

งานนี้มุ่งศึกษา ราชตฤณมัยสมาคม เพราะสนามแข่งม้านี้ เป็นศูนย์กลางอำนาจของการจัดการแข่งม้าในไทย ในแง่จำนวนสมาชิกของสมาคม จำนวนเข้าสนาม รายได้และเงินรางวัล

 

สนามม้ากับชนชั้นนำในสังคมไทย

สนามม้าเป็นพื้นที่ทางสังคมที่สัมพันธ์กับชนชั้นนำในสังคมไทยเด่นชัดมาตั้งแต่ต้น และสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในแต่ช่วงเวลา

กำเนิดและพัฒนาการ

วันที่ 12 เมษายน 2018

หลังทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีไม่นาน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยุบราชตฤณมัยสมาคม เจ้าของสนามม้านางเลิ้งที่ก่อตั้งมานาน 116 ปี สนามแข่งม้าที่คนทั่วไปเรียกว่า สนามม้าไทย พื้นที่ 200 ไร่ใจกลางกรุงเทพมหานคร แล้วขอคืนพื้นที่ ทุบทิ้งอาคารและอัฒจรรย์ทั้งหมดเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 สวนหย่อม

วัตถุประสงค์การสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสและศรัทธาในพระราชบิดา จึงสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเทิดพระเกียรติ โดยจะมีการจำลองโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สนามม้าที่เปลี่ยนเป็นอนุสาวรีย์และสวนสาธารณะ ยังเป็นที่เล่นกีฬา พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทุกหมู่เหล่าแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วย

ในภายหลัง วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวอาวุโส สายความมั่นคงได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กของตน ยกคำพูดของผู้พันเบิร์ด หรือ พ.อ วันชนะ สวัสดี2 นักแสดงบทบาทสมเด็จพระนเรศวร ว่า3

“…ทรงขอคืนสนามม้านางเลิ้ง เพราะกลายเป็นแหล่งการพนันม้า แตกต่างจากสมัย ร.6 ทรงตั้งราชตฤณมัยสมาคม สร้างสนามม้าไว้ เผยขอคืนเมื่อสัญญาเช่าหมดลงก่อนนานแล้ว เผยค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท แต่มีคนบางคนหากินได้เป็นร้อยล้าน…”

คำพูดของนักแสดงเป็นสมเด็จพระนเรศวรและนักข่าวอาวุโสสายความมั่นคงจริงหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ก็ไม่มีใครโต้แย้ง หรือเอาผิดทางกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 หรือความผิดการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งนิยมทำกันบ่อยๆ ในประเทศไทย หากใครพูดถึงสถาบันกษัตริย์

แต่ข้อมูลที่พูดออกมานี้น่าสนใจ ธุรกิจแข่งม้าและสนามม้าในไทยมีชีวิตยาวนานกว่า 116 ปี เป็นธุรกิจที่เคยสร้างรายได้ให้ราชตฤณมัยสมาคม และเจ้าของคอกม้า มีการพัฒนาพันธุ์ม้าแข่ง ลูกจ้างคอกม้าทั่วประเทศไทยมีงานทำ และเป็นภาษีให้แก่รัฐไทย

ข้อมูลปี 2010 ทั้งประเทศมีม้าทำการฝึกฝน 970 ตัว เทรนเนอร์ 300 คน จ๊อกกี้ 350 คน

ราชกรีฑาสโมสร (Royal Sport Club) หรือสนามม้าฝรั่ง มีเจ้าของคอกม้า 214 คอก เงินรางวัลสูงสุด ชิงถ้วยดาร์บี้เป็นเงิน 1,880,000 บาท และต่ำสุดถ้วยรามราฆพ 825,000 บาท โดยมีรางวัลรวมทั้งปี 104,552,370 เป็นของสมาคม เป็นของเจ้าของคอก 1,000,000 บาท ส่วนรายได้จากการพนันมีมูลค่าต่อปี 35.1 พันล้านบาท จ่ายภาษีให้รัฐ 16.5% ของรายได้ทั้งหมด และภาษีบำรุงท้องที่ 5.3% ของรายได้ทั้งหมด4

แต่สนามม้านางเลิ้งกลับจ่ายค่าเช่าแก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพียงเดือนละ 10,000 บาทเท่านั้น แล้วมีบางคนทำมาหากินจนร่ำรวย บางคนนั้นคือนายทหารบกบางกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองระดับชาติ ที่เชื่อมโยงกับสนามม้าแข่งอย่างสลับซับซ้อน

ธุรกิจม้าแข่งที่มีมูลค่าสูงทั้งรายได้ต่อสมาคม ต่อเจ้าของคอกม้า และวงพนัน ธุรกิจม้าแข่งที่ได้สร้างภาพลักษณ์ ชนชั้นสูงทางสังคม เป็นสมบัติของทหารบกไทย ที่เชื่อมโยงกับราชสำนัก นายพล นักธุรกิจ-นักการเมืองรายใหญ่ โดยเฉพาะเป็นสมบัติของทหารบกไทยที่ถูกใช้เพื่อนายพลทหารบกและเครือข่าย ที่ชัดเจนที่สุดมากกว่า กิจการธนาคารทหารไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สนามมวยลุมพินี สนามมวยราชดำเนิน และสนามกอล์ฟ โรงแรม 37 แห่งดังที่วิเคราะห์ให้เห็นแล้วใน อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นายพล นักธุรกิจใหญ่-นักการเมืองในธุรกิจแข่งม้าในไทย ตอนที่ 2

สนามม้าคือ ราชกรีฑาสมาคมและราชตฤณมัยสมาคมก่อตั้งขึ้นด้วยพระราชดำริและพระราชอุปถัมภ์ของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ตามลำดับ

สภานายกราชตฤณมัยสมาคมนับตั้งแต่ปี 1916-ปัจจุบัน ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยทั้งสิ้น

เช่น พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ มหาดเล็กผู้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 65 พล.ต.ทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ องคมนตรี พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ประธานและกรรมการโครงการหลวงในรัชกาลที่ 9 นายจุลนภ สนิทวงค์ ณ อยุธยา องคมนตรีและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก และองคมนตรีในรัชกาลที่ 9

ทั้งนี้ นอกจากสนามม้าทั้ง 2 แห่งเกิดจากพระราชดำริของในหลวง 2 รัชกาลแล้ว สนามม้าทั้ง 2 แห่งยังเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ราชตฤณมัยสมาคม) สำนักงานวังสระปทุม (ราชกรีฑาสมาคม) เช่าที่ดินบริเวณสระปทุมตั้งแต่ปี 19106

 

สนามม้า นายพล นักธุรกิจ-การเมืองและเครือข่าย

สนามม้ากับราชสำนักยังดำรงความสัมพันธ์อยู่ต่อมา แต่ก็เปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย

เจ้าของคอกม้า ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ด้วยการเป็นเจ้าของคอกม้าในไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ จะเป็นเจ้าของได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงม้าสูงมาก ม้าพ่อพันธุ์ราคาแพงมาก ยิ่งถ้านำพ่อพันธุ์มาจากต่างประเทศ ข้อมูลปี 1980 มีการซื้อม้าพ่อพันธุ์จากออสเตรเลียตัวละ 5 ล้านบาท7

แม่พันธุ์ ลูกม้า ข้อมูลปี 1980 ซื้อขายตัวละ 300,000 บาท เทรนเนอร์ คนเลี้ยงม้า อาหาร (หญ้า ข้าวโพด) วิตามิน ยารักษาโรค การสั่งซ้อมเพื่อเตรียมตัวแข่งม้า8 ซึ่งเกิดขึ้นทุกอาทิตย์9 ตลอดระยะเวลามากกว่าศตวรรษ

ดังนั้น เจ้าของคอกม้าจึงต้องเป็นผู้ที่มีรายได้สูง ไม่ว่าจากธุรกิจและฐานะดั้งเดิม

เจ้าของคอกม้าแบ่งเป็น 2 ประเภท

เจ้าของคอกม้า สมาชิกกิตติมศักดิ์ 53 คอก

เช่น ณรงค์ วงศ์วรรณ นักธุรกิจไร่ยาสูบ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ มาอย่างยาวนาน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าพรรคเอกภาพและพรรคสามัคคีธรรม ถูกวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 1992

ชวลิต โอสถานุเคราะห์ อนุรักษ์ จุรีมาศ อุทัย พิมพ์ใจชน ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ พรเทพ เตชะไพบูลย์ ล้วนเป็นนักการเมืองชั้นนำของไทย เกือบทั้งหมดเป็นนักการเมืองที่เติบโตจากต่างจังหวัดในยุคการเติบโตของนักการเมืองท้องถิ่น ช่วงทศวรรษ 1970

ยกเว้น พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นแกนนำกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคทศวรรษ 1970 และ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร แกนนำนายทหารหนุ่ม หรือกลุ่มยังเติร์กในช่วงเรืองอำนาจสั้นๆ ทศวรรษ 1980

 

สรุป

ธุรกิจแข่งม้าในไทยสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับราชสำนัก นายพล นักการเมืองและนักธุรกิจทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

ธุรกิจม้าแข่งประกอบสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองนับเนื่องกว่าศตวรรษจวบจนปัจจุบัน

ธุรกิจแข่งม้าก่อเกิดพลังเศรษฐกิจและการเมืองในระบบไม่เคยลดน้อยลงเลย

 

1เพิ่งเปิด 2 แห่ง ไม่ได้ให้ข้อมูล 2 แห่ง

2มีนาคม 2023 ได้รับแต่งตั้งเป็นพลตรี ฝ่ายเสนาธิการผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตรองผู้อำนวยการ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

3Deep Blue Sea WassanNanum 13 ตุลาคม 2022 เข้าถึงเมื่อ 20 ตุลาคม 2022

4โปรดดู www.rbsc.org/ เข้าถึง 16 พฤศจิกายน 2022

5ได้รับพระราชทาน บ้านนารายณ์บรรทมสินธ์ (ทำเนียบรัฐบาลปัจจุบัน) และบ้านพิษณุโลก เป็นบ้านที่อยู่อาศัย

6อ้างจาก WWW.rbsc.org/ เข้าถึงเมื่อ16 พฤษศจิกายน 2022

7สัมภาษณ์ ผู้จัดการคอกม้า อำเภอปากช่อง นครราชสีมา 10 พฤศจิกายน 2022

8ค่าใช้จ่ายต่อม้า 1 ตัว 15,000 บาทต่อเดือน เฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีม้าแข่ง 700 ตัว หรือค่าใช้จ่ายราว 10,500,000 บาทต่อเดือน สัมภาษณ์ นายกสมาคมม้าแข่งนครราชสีมา หากตัวเลขคอกม้าสมาชิกกิตติมศักดิ์ 53 คอก คอกม้าสมาชิกสามัญ 44 คอก จำนวนม้าและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับม้าจะสูงมาก

9ข้อมูลปี 2010 ทั้งประเทศมีม้าทำการฝึกฝน 970 ตัว เทรนเนอร์ 300 คน จ๊อกกี้ 350 คน ราชกรีฑาสโมสร มีเจ้าของคอกม้า 214 คอก เงินรางวัลสูงสุด ชิงถ้วยดาร์บี้เป็นเงิน 1,880,000 บาท และต่ำสุดถ้วยรามราฆพ 825,000 บาท โดยมีรางวัลรวมทั้งปี 104,552,370 เป็นของสมาคม เจ้าของคอก 1,000,000 บาท ส่วนรายได้จากการพนันมีมูลค่าต่อปี 35.1 พันล้านบาท จ่ายภาษีให้รัฐ 16.5 % ของรายได้ทั้งหมด และภาษีบำรุงท้องที่ 5.3 % ของรายได้ทั้งหมด โปรดดู www.rbsc.org/ เข้าถึง 15 พฤศิกายน 2565