ดอกมันปลา บูชาพระวันมหาสงกรานต์ อีสานบ้านเฮา

เมื่อนึกถึงสมุนไพรไม้มงคลวันมหาสงกรานต์ คนโดยทั่วไปมักถึงส้มป่อยซึ่งเป็นซิกเนเจอร์คู่กับพิธีรดน้ำดำหัวในประเพณีมหาสงกรานต์ล้านนา ซึ่งจัดกันอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

อันที่จริงประเพณีการรดน้ำวันมหาสงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ของชาวไทยทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสังคมเกษตรแต่โบราณ เมื่อเสร็จสิ้นงานเก็บเกี่ยวในหน้าหนาวก็เข้าสู่ฤดูคิมหันต์อันร้อนแล้ง จึงถือเอาโอกาสนี้แต่งองค์ทรงเครื่องกันเต็มที่ ชวนกันเข้าวัดทำบุญใหญ่ไหว้พระและรดน้ำขอพรผู้ใหญ่เป็นสิริมงคล พร้อมกับเล่นสาดน้ำดับร้อนกันอย่างสนุกสนาน ดังนั้น ใน “นิราศเดือน” ของหมื่นพรหมสมพัตสร หรือนายมี ศิษย์เอกของสุนทรภู่ จึงขึ้นต้นบทกลอนด้วยเดือนแรกของปีใหม่ไทย คือ เดือนห้าเมษาหน้าร้อนวันตรุษสงกรานต์ ดังนี้

“โอ้ระดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์

พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์

ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส อภิวาทพุทธรูปในวิหาร

ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์ ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย

ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาสดิ์ ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื้องด้วยเครื่องหอม

สงกรานต์ทีตรุษทีไม่มีมอม ประดับพร้อมแหวนเพชรเม็ดมุกดา

มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง ดูเพริศพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา

รามสูรเดินดินสิ้นศักดา เที่ยวไล่คว้าลางทีก็มีเชิง”

 

ประเพณีวันมหาสงกรานต์แต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่นก็จะมีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงไม้มงคลที่เป็นซิกเนเจอร์ของประเพณีมหาสงกรานต์บ้านเฮา คือ ต้นมันปลา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อต้นกันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fagraea fragrans) นั่นเอง ถือว่าเป็นหนึ่งในไม้มงคล 9 ประการ ที่นิยมใช้เป็นไม้ปักรองก้นหลุมของเสาเอกในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อนที่จะสร้างอาคารบ้านเรือน

นพพฤกษ์หรือไม้ทั้ง 9 มีชื่อเป็นมงคลนาม ดังนี้คือ ราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก พะยูง และกันเกราหรือมันปลานั่นเอง

ต้นมันปลาโดดเด่นกว่าไม้มงคลชนิดอื่น ตรงที่ให้ดอกมีกลิ่นหอมมากสมชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ฟรากรานส์ (fragrans) ซึ่งแปลว่า กลิ่นหอม ชาวอีสานและชาวไทยทั่วไปเชื่อกันว่า ต้นมันปลาหรือกันเกราเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง โดยเฉพาะชาวอีสานยิ่งมีความเชื่อเช่นนี้เป็นพิเศษ เพราะต้นมันปลาจะออกดอกเหลืองสะพรั่งโชยกลิ่นหอมชื่นใจต้อนรับวันตรุษสงกรานต์ในถิ่นอีสานทุกปี

ตรงนี้ขอแทรกความรู้เรื่องที่มาของคำว่า “สงกรานต์” ตามคำอธิบายของเสฐียรโกเศศ (นามปากกาของพระยาอนุมานราชธน) ว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ดังนั้น ตามความหมายในภาษาสันสกฤต สงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก “วันตรุษสงกรานต์” หรือวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็น “มหาสงกรานต์” เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติซึ่งถือปฏิบัติในอินเดีย ประเพณีวันตรุษสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับมาจากอินเดีย ซึ่งเหมาะสมกับสังคมเกษตรบ้านเราเนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเวลาที่คนไทยว่างจากการทำนา จึงเป็นการเหมาะที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลานั้น ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13-14-15 เมษายนทุกปี

โดยวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็นวันเนา แปลว่า “วันอยู่” เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง อยู่ประจำที่ในราศีตั้งต้นปีใหม่แล้ว ส่วนวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือขึ้นปีใหม่ของไทยนั่นเอง

เมื่อปลายปี 2566 คนไทยไชโยที่ยูเนสโกประกาศให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก ก่อนทุกชาติในอุษาคเนย์ที่เขาก็มีประเพณีสงกรานต์เหมือนบ้านเราแต่ไม่ให้ความสำคัญ เมื่อวันมหาสงกรานต์ปีใหม่ไทยกลายเป็นมรดกโลกแล้ว จึงน่าจะโหวตให้ดอกมันปลาเป็นดอกไม้ประจำวันมหาสงกรานต์ด้วย

เท่าที่ทราบดอกมันปลาเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอีสาน 2 จังหวัด คือ สุรินทร์ (เรียกดอกมันปลาว่า ปกาสะตราว) กับนครพนม และยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดอีกด้วย

ดอกมันปลากลายเป็นความหลังอันหอมสดชื่นของพ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายๆ คนเมื่อครั้งยังเป็นบ่าวสาวที่ชักชวนกันนำพวงมาลัยหอมดอกมันปลาสีงามอร่ามเหลืองไปถวายพระในงานบุญมหาสงกรานต์ จากนั้นก็ผลัดกันเอาพวงมาลัยดอกมันปลาคล้องคอให้กัน และเล่นสาดน้ำท่ามกลางกลิ่นหอมอบอวลของดอกมันปลาแทนกลิ่นแป้งร่ำน้ำปรุง

ต้นมันปลายังเป็นไม้มงคลที่มีสรรพคุณยาดี ที่นายฮ้อยทมิฬเคยใช้ทั้งใบและแก่นต้มได้น้ำยารสมัน ฝาด ขม ให้กองคาราวานดื่มกินต่างน้ำแก้ไข้ป่าฝ่าข้ามดงพญาไฟมาได้อย่างปลอดภัยในอดีต นี่ยังไม่นับสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้เส้นเอ็นยึด แก้ไข้ป่วง บิด ผิดสำแดง แก้หืดไอ แน่นหน้าอก ยิ่งไปกว่านั้นใบและผลมีสารคาลอยด์ที่ชื่อว่าเจนเทียนีน (Gentianine) ตามชื่อวงศ์ว่า Gentianaceae ซึ่งมีฤทธิ์ในการระงับปวดได้

 

ในอดีตไม่นานไกลแดนดินถิ่นอีสานทั่วไปเคยมีดงต้นมันปลาตามธรรมชาติอยู่ตามหัวไร่ปลายนา บางท้องถิ่นถึงกับมีพิธีกรรมแห่ดอกมันปลาที่เก็บตามข้างถนนและท้องไร่ท้องนาที่มีอยู่ดาษดื่นในช่วงเดือน 5 เดือน 6 เพื่อมาบูชาพระพุทธรูปพร้อมที่จะเข้าพิธีอุปสมบท แต่ในปัจจุบันต้นมันปลาเป็นไม้หายาก เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนสีน้ำตาลเข้มลายสวย ขัดเป็นมันเงา ปลวกไม่กิน จึงถูกตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์ราคาดี สมควรที่ภาครัฐและภาคเอกชนในภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ นครพนม จะร่วมด้วยช่วยกันปลูกต้นมันปลาให้เต็มทุ่งเหมือนเก่าก่อน เพื่อให้ดอกมันปลาสีเหลืองกลับมาบานสะพรั่งโชยกลิ่นหอมบูชาพระในเทศกาลมหาสงกรานต์ปีใหม่ไทยอีสานบ้านเรา

ซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของแท้ที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org