ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม การสรรเสริญธรรมชาติผ่านผลงานศิลปะอันละเมียดละไม ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม

การสรรเสริญธรรมชาติผ่านผลงานศิลปะอันละเมียดละไม

ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

 

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินผู้มีชื่อว่า อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล เขาได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของโลกอย่าง Venice Biennale และ Documenta ด้วยผลงานที่ผสมผสานความคิดอันลุ่มลึกแหลมคมของงานศิลปะคอนเซ็ปช่วลอาร์ต เข้ากับสุนทรียะความงามของงานศิลปหัตถกรรมอันประณีตบรรจง และหลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ากับเทคนิคเชิงช่างฝีมือแบบประเพณีได้อย่างกลมกลืนลงตัวเช่นเดียวกับนักเล่นแร่แปรธาตุอันชำนิชำนาญ

ในฐานะศิลปิน อริญชย์ใช้ผลงานศิลปะของเขาเป็นเครื่องมือในการทำลายกำแพงทางสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความแตกต่างหลากหลายของผู้คน เข้ากับ ศิลปะ, วัฒนธรรม, ภูมิประเทศ, ประวัติศาสตร์, การเมือง ไปจนถึงความทรงจำส่วนตัว เรื่องราวรอบตัวทั่วไปในชีวิต พื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ อดีตและปัจจุบัน ผ่านผลงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง

ทั้งประติมากรรม ศิลปะจัดวาง วิดีโอ หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน และใช้สิ่งเหล่านี้ท้าทายมายาคติเดิมๆ และกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างเปี่ยมชั้นเชิง

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 อริญชย์นำเสนอผลงาน Belief is like the wind ‘ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม’ (2023) ผลงานประติมากรรมจัดวางผสมเสียง ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตและความเชื่อของชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่น ที่ประกอบด้วยกองก้อนหินวางทับด้ายสายสิญจน์สีแดงสดเรียงรายกันเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ปลายด้ายห้อยแขวนระฆังลมไม้ไผ่จำนวนมาก ศิลปินเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเข้าไปภายในตัวงานเพื่อฟังเสียงของสายลมพัดพาให้ระฆังลมไม้ไผ่กระทบกัน ขับคลอด้วยเสียงร้องเพลงกล่อมลูกของชาวปกาเกอะญอ จากชุมชนในหมู่บ้านห้วยหินลาดในจังหวัดเชียงราย

“ชื่อของผลงานชิ้นนี้ เราได้มาจากการเดินทางไปยังชุมชนปกากะญอ ที่หมู่บ้านห้วยหินลาดใน และได้พูดคุยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของคนในชุมชนนี้ เขาก็เล่าให้ฟังว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีบริษัทอังกฤษเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ โดยเจ้าเมืองเชียงรายทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดหาแรงงาน จึงมีการเกณฑ์ชาวกะเหรี่ยงและชาวปกากะญอ ซึ่งเป็นคนที่คุ้นเคยกับการใช้ช้างลากไม้ บ้านห้วยหินลาดใน ก็ไม่ต่างอะไรกับแคมป์คนงาน ที่ทำงานลากไม้ให้กับบริษัทฝรั่ง”

“ดังนั้น การที่เราเห็นชาวปกากะญอเหล่านี้โยกย้ายไปอยู่ตามที่ต่างๆ นั้นไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการไปเป็นแรงงานให้บริษัทฝรั่งเหล่านี้ ชุมชนหมู่บ้านห้วยหินลาดในก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนนั้น”

“พอบริษัทอังกฤษยกเลิกสัมปทานไป ก็จะเป็นสัมปทานป่าไม้ของไทย ซึ่งมีการตัดไม้กันหนักมาก อย่างในหมู่บ้านห้วยหินลาดในนั้นเคยมีต้นลำพูที่นักพฤกษศาสตร์บอกว่าน่าจะมีอายุเกือบพันปีอยู่หลายต้น แต่ถูกตัดจนเหลือเพียงต้นเดียว เพราะลำต้นไม่สวย และชาวบ้านขอร้องไม่ให้ตัด”

“เขายังเล่าถึง ‘บทธา’ บทกวีหรือสุภาษิตโบราณของชาวปกากะญอ ซึ่งเป็นชุมชนที่นับถือผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ (Animism) โดยพวกเขาใช้วิธีการสอนสั่งส่งต่อความรู้ผ่านการร้องเพลง หรือการบอกเล่าต่อๆ กัน ปากต่อปาก โดยชาวปกากะญอในทุกที่จะมีบทธาคล้ายๆ กัน เราสนใจบทธาสองบท คือบทธาของการเกิด คือเพลงกล่อมเด็ก และบทธาของการตาย ซึ่งจะร้องเฉพาะในพิธีศพเท่านั้น”

“ซึ่งในช่วงตอนหนึ่งของบทธาที่ว่านี้เขากล่าวว่า ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม ที่เรามองไม่เห็น หากแต่ขับเคลื่อนให้ทุกสรรพสิ่งเคลื่อนไหว”

“เราจึงทำงานขึ้นจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ที่มาจากเหมืองหินสัมปทานทำครกในเชียงราย, เสาไม้ ที่ถูกรื้อมาจากบ้านเก่าในเชียงราย, สายสิญจน์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างโลกความเป็นและโลกความตาย, ใบไม้ ที่เก็บจากใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นโพธิ์ที่ขึ้นอยู่ทางด้านหลังพื้นที่แสดงงาน, กระบอกไม้ไผ่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดของชาวปกาเกอะญอ เรื่องการเกิด โดยชาวปกากะญอจะเอาสายสะดือของเด็กที่เกิดใหม่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปผูกแขวนกับต้นไม้ต้นใดก็ได้ในป่า เพื่อให้ต้นไม้ต้นนั้นมีความสัมพันธ์กับลูกที่เกิดมา”

“เพราะฉะนั้น เด็กชาวปกากะญอก็จะเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับต้นไม้ และเขาจะหวงแหนพืชพันธุ์ธรรมชาติ”

“จะว่าไป พิธีกรรมนี้ก็คือการแต่งงานกับธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งวิถีชีวิตสมัยใหม่ทำให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไปหมด มนุษย์เราหย่าขาดจากธรรมชาติมาเนิ่นนานแล้ว งานชิ้นนี้ก็เป็นเหมือนการรำลึกถึงความรู้สึกนึกคิด และจิตใจ ที่เคยเชื่อมต่อผูกติดกับธรรมชาติ เป็นการละวางจากอุดมการณ์และความเชื่อของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ และหันกลับมาหาความเชื่อในยุคสมัยที่มนุษย์เรายังผูกพันกับธรรมชาติอยู่ ไม่ต่างอะไรกับเป็นบทกวีที่สรรเสริญธรรมชาติผ่านงานศิลปะนั่นเอง”

“ในแง่หนึ่ง ผลงานชิ้นนี้เป็นการแสดงออกถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเท่าเทียม และเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ร่วมประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์, ธรรมชาติ, กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้าน ชาวเมือง เป็นการประกอบกันของสิ่งที่มีกายภาพที่เราสัมผัสได้ อย่าง หิน, ใบไม้, ไม้ไผ่, สายลม หรือแม้แต่เสียง กับสิ่งที่เป็นนามธรรมไร้รูปร่าง อย่างความคิด ความเชื่อ ความทรงจำ และความรู้สึก”

ผลงานประติมากรรมจัดวางอันละเมียดละไมที่จัดแสดงอยู่บนพื้นที่กลางแจ้ง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติชิ้นนี้ ไม่เพียงสร้างประสบการณ์อันเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกจับใจให้ผู้ชมงานอย่างเรา จากรูปลักษณ์อันละเอียดอ่อน งดงาม สุ้มเสียงและเนื้อหาอันเปี่ยมความหมายราวกับเป็นบทกวีแห่งประสาทสัมผัสแล้ว สิ่งที่เราสัมผัสได้จากธรรมชาติที่แวดล้อมผลงานชิ้นนี้ (และมนุษย์อย่างเรา) ทั้ง แสงแดดอันอบอุ่น สายลมอันอ่อนโยน, เงาไม้อันร่มเย็น และสรรพเสียงของชีวิตรอบข้าง ก็ยิ่งขับเน้นให้เราเข้าใจจิตวิญญาณของผลงานชิ้นนี้ได้อย่างลึกซึ้ง และอาจกระตุ้นให้ผู้ที่มาชมงานตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาธรรมชาติในยุคสมัยวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน ‘ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม’ ของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน บ้านใหม่สันป่าเหียง ตำบลห้วยสัก เปิดให้เข้าชม (ฟรี) ทุกวัน เวลา 08:00-17:00 น.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน อริญชย์ รุ่งแจ้ง •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์