กู้ชีพคนไข้ไตวายด้วย ‘ไตหมู’

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

กู้ชีพคนไข้ไตวายด้วย ‘ไตหมู’

 

ดวงไฟห้องผ่าตัดขนาดใหญ่เปล่งประกายส่องสว่างอีกครั้งในโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัล (Massachusetts General Hospital) ในสหรัฐอเมริกา

ที่รอบเตียงผ่าตัดขนาดใหญ่ ทีมแพทย์เกือบสิบคนรายล้อม สายตาของทุกคนดูมุ่งมั่น เต็มไปด้วยความหวัง

นี่คือการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลก

กล่องพัสดุสีขาวขนาดใหญ่ถูกยกเข้ามาในห้อง ภายในมีอวัยวะสดใหม่อยู่ 1 ชิ้น

ในชั่วเสี้ยววินาที หนึ่งในทีมแพทย์ก็บรรจงหยิบเอาอวัยวะชิ้นนั้นออกมาใส่ถาดรอหล่อด้วยน้ำแข็งเย็นเยียบ

ในเวลาไม่ช้าไม่นาน การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่สลับซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งก็ได้เริ่มต้นขึ้น

คนไข้คือ นายริชาร์ด สเลย์แมน (Richard Slayman) ชายชราวัย 62 ปีที่ป่วยกระเสาะกระแสะจากโรคร้ายนานา ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จัดมาครบ

แต่ในบรรดาสารพัดโรคที่ริชาร์ดเป็นอยู่ โรคที่สาหัสที่สุดที่ถึงขั้นคุกคามชีวิต ก็คือ “ภาวะไตวายระยะสุดท้าย” ที่ส่งผลให้ริชาร์ดจำเป็นต้องเข้ารับผ่าตัดเปลี่ยนไตโดยไว

ศัลยแพทย์ ทัตซูโอ คาวาอิ (Tatsuo Kawai) หนึ่งในทีมศัลยแพทย์เผยว่า ที่จริง เขาเคยผ่าตัดเปลี่ยนไตขวาให้ริชาร์ดไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อราวๆ ปี 2018 แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี ไตที่เปลี่ยนไปก็เริ่มที่จะเสื่อมสภาพ ทำให้ริชาร์ดต้องเข้ามาล้างไตอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งในช่วงหลัง การล้างไตเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผลการรักษาริชาร์ดเริ่มย่ำแย่และเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

คำถามคือ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ริชาร์ดจะได้ไตบริจาคในระยะเวลาอันสั้น และคำตอบมีเพียงอยู่คำเดียวนั่นก็คือ “แทบเป็นไปไม่ได้”

ภาพบรรยากาศห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัล ในระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนไตครั้งประวัติศาสตร์ให้ริชาร์ด (Image : Massachusetts General Hospital)

ในสหรัฐอเมริกา ลิสต์รายชื่อของผู้รอปลูกถ่ายไตนั้นยาวเหยียดเกือบถึงเก้าหมื่นคน และลิสต์นี้ก็ยาวขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี แน่นอน ใช่ว่าทุกคนจะรอไหว มีผู้ป่วยโรคไตกว่า 3,000 คนต่อปีจำต้องจากโลกนี้ไปในระหว่างที่รอผู้บริจาคอวัยวะ

และถ้ามองสถานการณ์ในประเทศอื่น ตัวเลขจำนวนผู้รออวัยวะก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร

การขาดแคลนอวัยวะนี้เป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก

ในที่สุด ริชาร์ดก็ทนรอไม่ไหว อาการของเขาทรุดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เขาต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตโดยด่วน

ในขณะที่หนทางที่จะได้มาซึ่งอวัยวะนั้นยังริบหรี่ ทีมแพทย์ก็เลยนำเสนอให้ริชาร์ดสมัครเข้าร่วมการทดลอง ปลูกถ่าย “ไตหมู” เข้าไปในร่างกายของมนุษย์

“หมอวินเฟรด วิลเลียมส์ (Winfred Williams, MD) แพทย์โรคไตของผมและทีมจากศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะแนะนำให้ลองปลูกถ่ายไตหมู พวกเขาอธิบายถึงข้อดีและข้อเสียของกระบวนการผ่าตัดนี้อย่างละเอียด ผมมองว่านี่ไม่ใช่แค่หนทางที่จะช่วยผม แต่เป็นหนทางแห่งความหวังสำหรับผู้คนอีกนับพันที่ต้องการการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้” ริชาร์ดกล่าว

ซึ่งถ้าการผ่าตัดครั้งนี้ประสบผลดังที่คาด นอกจากเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แล้ว ชื่อของเขาจะกลายเป็นความหวังสำหรับคนไข้รอการบริจาคอวัยวะอีกมากมายมหาศาลทั่วโลก

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์ เช่น “จากหมูสู่คน” แบบที่ทำกับริชาร์ดนี้ เรียกว่า ซีโนทรานสแพลนเทชั่น (Xenotransplantation) ซึ่งจริงๆ วิธีการและเทคโนโลยีนั้นมีมาเนิ่นนานนับทศวรรษแล้ว แต่เนื่องด้วยแนวคิดที่ดูค่อนข้างแปลกประหลาด มีกลิ่นอายของความเปิบพิสดารอยู่เล็กๆ

อีกทั้งยังมีประเด็นเสี่ยงหลายอย่าง รวมถึงภาวะการต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายเข้าไปอย่างรุนแรงโดยร่างกายของผู้รับ

โดยมาก การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะแบบข้ามสปีชีส์หรือซีโนทรานแพลนเทชั่นนี้ก็เลยไม่ค่อยได้รับการอนุมัติให้ทำ

เคสทางการแพทย์ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์นั้นทั้งหมดล้วนเป็นเคสที่เรียกว่า “compassionate use” หรือก็คือ เคสผู้ป่วยหนักระยะสุดท้ายที่มองไปทางไหนก็ไม่มีหนทางใดจะรักษาแล้ว

หนทางรอดมีอยู่แค่ทางเดียว นั่นก็คือต้องยอมเสี่ยงเป็นหนูทดลองในกระบวนการรักษาทางการแพทย์แบบใหม่ๆ

ซึ่งหากสำเร็จ ก็อาจจะมีโอกาสรอด แต่ถ้าเลือกที่จะไม่เสี่ยง ยังไงก็ไม่มีทางรอด ในกรณีนี้ ถ้าผู้ป่วยและญาติเห็นชอบ แพทย์และทีมนักวิจัยก็อาจจะยื่นขออนุมัติไปทางองค์การอาหารและยา (Food & Drug Administration, FDA) ให้อนุญาตให้ผ่าตัดเพื่อการวิจัยได้เป็นรายๆ ไป

ไม่มีทางเลือก ริชาร์ดเลือกที่จะลองสู้ดูเป็นครั้งสุดท้าย

เขายอมเป็นหนูทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูสู่ร่างกายมนุษย์

และเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการแพทย์

 

แต่ไตหมูที่เอามาปลูกถ่าย ก็ไม่ใช่ไตหมูทั่วไปที่พบในต้มเครื่องใน แต่เป็นไตหมูพิเศษที่ผ่าออกมาจากหมูจิ๋ว (miniature pig) ที่ผ่านการปรับแต่งแก้ไขจีโนมมาแล้วอย่างระมัดระวังโดยทีมนักวิจัยจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชื่อดัง “อีเจเนสิส (eGenesis)”

อีเจเนสิสเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัพสายเทคโนโลยีชีวภาพชื่อดังที่สปินออฟออกมาจากห้องทดลองของจอร์จ เชิร์ช (George Church) นักชีววิทยาหนวดงามผู้เลื่องชื่อจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คนเดียวกับที่จะฟื้นชีพช้างแมมมอธและนกโดโด้นั่นแหละ

จอร์จและทีมเริ่มโปรเจ็กต์แก้ไขจีโนมหมูจิ๋ว เพื่อเป็นคลังปลูกถ่ายอวัยวะมาเกือบสิบปีแล้ว ในขณะที่คนอื่นพยายามเสกปั้นอวัยวะขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติบ้าง จากโครงร่างอวัยวะที่ล้างเซลล์ออกไปแล้วบ้าง

แต่สำหรับจอร์จ คลังอวัยวะอะไหล่ที่น่าจะยั่งยืนที่สุดสำหรับมวลมนุษยชาติในสายตาของเขา ก็คือ สัตว์ที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรมให้มีลักษณะคล้ายมนุษย์

หรือที่ในวงการวิทยาศาสตร์ เรียกกันว่า สัตว์ฮิวมาไนซ์ (humanized animal)

คำถามก็คือ จากเหล่าสัตว์สารพัดชนิดที่จะมาเป็นแคนดิเดตคลังอวัยวะ ตัวอะไรดีที่จะเหมาะเอามาฮิวมาไนซ์ สิ่งมีชีวิตในอุดมคติที่จะเอามาเป็นคลังอวัยวะอะไหล่ควรจะมีขนาดพอๆ กับมนุษย์ เลี้ยงง่าย และสามารถฆ่าได้แบบไม่ค่อยมีดราม่า…

หลังจากพิจารณากันอย่างเข้มข้น หลายครั้ง หลายครา ทีมวิจัยของจอร์จก็ตัดสินใจว่าพวกเขาจะลงเอยกับ “หมูจิ๋ว” นี่แหละ เพราะขนาดกำลังดี ไม่ต่างจากมนุษย์มากนัก และมีคุณสมบัติอย่างอื่นครบครัน

 

ทว่าปัญหาของหมูจิ๋วกลับซ่อนอยู่ในสารพันธุกรรม การวิเคราะห์จีโนมของหมูจิ๋วอย่างละเอียดทำให้พบว่าในจีโนมของหมูมีสารพันธุกรรมของไวรัส Porcine Endogenous Retrovirus (PERV) ซ่อนอยู่ แม้จะไม่ปะทุออกมาเป็นอนุภาคไวรัสที่ก่อโรค แต่ก็ยังถือเป็นความเสี่ยงยิ่งใหญ่ เพราะเอามาใช้เป็นแหล่งอวัยวะ แล้วไวรัสไปปะทุออกมาในร่างกายของผู้รับ เมื่อนั้นงานจะงอก แม้ในตอนนี้ยังไม่มีรายงานการติดไวรัสนี้ในมนุษย์ตัวเป็นๆ แต่การติดเชื้อข้ามจากหมูสู่คนก็ใช่จะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

“ประเด็นไวรัสนี้บั่นทอนวงการ (ซีโนทรานสแพลนเทชั่น) มาเนิ่นนานแล้ว แม้จะไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าไวรัสนี้จะติดหรือไม่ติดในมนุษย์ก็ตาม” จอร์จกล่าว “เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ทีมของเราก็เลยตัดสินใจว่าคงจะง่ายกว่าที่จะจัดการนี้ให้จบๆ ดีกว่าที่จะเสี่ยงทิ้งไว้คาราคาซัง”

จอร์จมอบหมายให้ “ลูฮาน หยาง (Luhan Yang)” หนึ่งในลูกศิษย์หัวแก้วหัวแหวนของเขาศึกษาและพัฒนาวิธีการปรับแต่งและแก้ไขจีโนมของหมูจิ๋วเพื่อกำราบไวรัส PERV ทั้งหมดในจีโนมหมูให้ได้

และด้วยความเชี่ยวชาญในเทคนิคการแก้ไขจีโนม ไม่ช้าไม่นาน ลูฮานก็พัฒนาวิธีการใช้เทคโนโลยี CRISPR/Cas9 เพื่อปิดสวิตช์ไวรัส PERV ทั้งหมดในจีโนมหมูได้สำเร็จ ครบถ้วน สมบูรณ์แบบ

งานของลูฮานถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของวงการซีโนทรานแพลนเทชั่น

งานวิจัยของพวกเขาที่เปิดตัวออกมาในวารสาร Science ในปี 2015 กลายเป็นที่โจษขานกันไปทั่ว และส่งอิทธิพลอย่างมหาศาลในวงการปลูกถ่ายอวัยวะ

และนั่นทำให้ลูฮานและจอร์จตัดสินใจที่จะก่อตั้งอีเจเนสิส บริษัทที่ทุ่มเทเพื่อการสร้างอวัยวะอะไหล่จากสัตว์ขึ้นมาในปีเดียวกันนั้นเอง

 

แต่ยังไงไตหมูก็ยังเป็นไตหมู แม้ว่าจะตัดเอายีนไวรัสออกไปจากจีโนมหมูจนหมดแล้ว ก็ยังเป็นไตหมู ใส่ลงไปในร่างกายมนุษย์ก็ยังเป็นไตหมูที่ร่างกายผู้รับที่เป็นมนุษย์ยังไงก็ไม่ยอมรับ

เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอวัยวะของหมูที่ปลูกถ่ายลงไปจะไม่ถูกต่อต้านโดยมนุษย์ จอร์จได้สั่งการให้เหวินหนิง ฉิน (Wenning Qin) หัวหน้าทีมวิจัยจากอีเจเนสิสทำการฮิวมาไนซ์หมู หรือจริงๆ ก็คือปรับแต่งพันธุกรรมของหมูคล้ายคลึงมนุษย์ เพื่อให้ร่างกายมนุษย์ไม่รู้ว่าจริงๆ นี่คือหมู ไม่ใช่มนุษย์

และเพื่อเปลี่ยนหมูให้เหมือนคน เหวินหนิงลบเอายีนสามยีนที่ควบคุมการสร้างหมู่น้ำตาลสามชนิดที่พบอยู่บนผิวเซลล์ของหมูที่เป็นเป้าหมายของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ทิ้งไป พร้อมทั้งยังเติมยีนที่ใช้สร้างโปรตีนของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการลดการต้านอวัยวะเข้าไปอีก 7 ชนิด ก่อนที่จะทดลองปลูกถ่ายไตที่ถูกปรับแต่งนี้ในลิงแสม (Crab-eating macaque) ที่ถูกตัดไตทิ้ง

ปรากฏว่าผลออกมาดีเกินคาด ลิงแสมที่ได้รับการปลูกถ่ายไตที่ผ่านการปรับแต่งจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้นานกว่าลิงแสมที่ได้รับไตหมูทั่วไปถึง 7 เท่า

โดยพบว่าหนูที่ได้รับไตหมูที่ได้รับการปรับแต่งให้คล้ายมนุษย์แล้วโดยเฉลี่ยจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 176 วัน ในขณะที่หนูที่ได้รับไตหมูปกติเข้าไปจะมีชีวิตดำรงอยู่ได้เพียงแค่ 24 วันเท่านั้น

แต่ที่ดีต่อใจที่สุดสำหรับนักวิจัย (และแพทย์) ก็คือ ลิงแสมที่มีอายุยืนที่สุดในการทดลองนี้สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้นานถึง 758 วัน หรือราวๆ 2 ปีเลยทีเดียวด้วยไตหมูที่ปรับแต่งพันธุกรรม

นั่นหมายความว่าไตหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมนี้ทำงานได้เป็นอย่างดี และสามารถพยุงชีพลิงแสมได้อย่างน่าประทับใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยนี้ยังทำให้พวกเขาเริ่มได้เห็นภาพกลไกการทำงานและการอยู่รอดของไตหมูในร่างกายลิงในระยะยาว และด้วยผลการทดลองที่ดีเลิศประเสริฐยิ่งในลิงแสม

เหวินหนิงมั่นใจว่าสูตรนี้ก็น่าจะเวิร์กในคนและสามารถสร้างปาฏิหาริย์ในคนได้ไม่ต่างจากลิง

 

หลังจากสี่ชั่วโมงในห้องผ่าตัดใหญ่ ริชาร์ดก็มีไตใหม่ เป็นคนไข้คนแรกที่มีไตเป็นของหมูจิ๋ว…และเมื่อศัลยแพทย์เริ่มปล่อยให้กระแสเลือดเริ่มไหลเวียนเข้าไปในไตปลูกถ่ายอีกครั้ง ราวปาฏิหาริย์ ไตหมูในร่างกายของริชาร์ดก็เปลี่ยนเป็นสีชมพูและเริ่มผลิตปัสสาวะ

ชัดเจนว่าไตหมูที่ใส่เข้าไปในตัวริชาร์ดเริ่มทำงานแล้ว และทำงานได้จริง “ตามที่ควรจะเป็น”!

และเพื่อให้มั่นใจว่าไตหมูทำงานได้ไม่บกพร่อง ทีมแพทย์เริ่มตรวจวัดการทำงานของไตโดยวัดระดับสารครีเอตินินที่เป็นของเสียในกระแสเลือด ซึ่งถ้าไตสามารถกรองของเสียได้ดี ระดับของครีเอตินินในเลือดควรจะต่ำ

แต่ถ้าไตทำงานไม่ได้ ระดับครีเอตินินในเลือดก็จะสูงตามไปด้วย

ทัตซูโอเผยว่า ก่อนได้รับปลูกถ่ายไตหมู ระดับครีเอตินินในเลือดของริชาร์ดสูงถึง 10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เรียกว่าสูงมากจนแทบทะลุชาร์ต

แต่สี่วันหลังจากการปลูกถ่าย ระดับครีเอตินินในเลือดของริชาร์ดลดลงมาอยู่ที่ 2.4 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ซึ่งแม้จะยังสูงกว่าระดับปกติ แต่ก็ถือว่าดีกว่าเดิมมาก ทัตซูโอยังคาดหวังว่าผลไตของริชาร์ดจะดีขึ้นกว่านี้ได้

แต่สำหรับเหวินหนิง ผลไตที่วัดได้เท่านี้ถือว่าน่าพึงพอใจมาก นี่คือหลักฐานที่ชี้ชัด “ไตหมูทำงานได้ดีตามที่ควรจะเป็น”

“ผู้คนมักจะเหน็บอยู่เสมอว่าซีโนทรานแพลนเทชั่นนั้นกำลังจะมา แต่ยังไงก็ได้แค่กำลังจะมานั่นแหละ” เหวินหนิงกล่าว “แต่ในตอนนี้ เรามีคนที่อยู่ในสังคมเดียวกับเราที่มีไตของหมูที่ทำงานอยู่ในตัว ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์จริงๆ”

เธอเชื่อเหลือเกินว่าไตหมูจะทำงานได้เป็นอย่างดีในร่างกายของริชาร์ด ไม่ต่างจากผลการทดลองที่เธอได้จากร่างกายของลิง ซึ่งถ้าเป็นดังที่เธอคาด ริชาร์ดก็จะกลายเป็นหลักฐานที่มีชีวิตที่พิสูจน์ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะข้ามสปีชีส์หรือซีโนทรานแพลนเทชั่นนั้นทำได้จริงในทางคลินิก

และ “คนไตหมู” จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแพทย์