เมื่อไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียน อยากได้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โคสุเกะ โอนูเอะ กับ ยูอิจิ ชิกะ บอกเล่าถึงความพยายามเข้าถึง “พลังงานนิวเคลียร์” ของหลายชาติในภูมิภาคอาเซียนไว้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ในนิตยสาร นิกเกอิ รีวิว

โดยหลักๆ ก็คือ การบอกว่า มีไทยกับฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ดูเหมือนว่าจะมีแผนงานเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ในทศวรรษหน้าเป็นอันได้เห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยกัน นิกเกอิว่าไว้อย่างนั้น

อันที่จริงเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานานมากแล้วในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เริ่มทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา เมื่อมีวี่แววว่า น้ำมันดิบไม่เพียงจะแพงขึ้นและแพงขึ้นเท่านั้น ยังส่อเค้าว่าจะเป็นพลังงานที่วันหนึ่งอาจหมดลง และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศมหาศาล

แต่ที่ผ่านมามักเกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความปลอดภัย และองค์ความรู้เรื่องนิวเคลียร์ของคนไทย ทั้งในแง่ของนิวเคลียร์เองและในแง่ของการบริหารจัดการ ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายอย่างใหญ่หลวงได้เลยทีเดียว

นิกเกอิระบุว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมื่อปี 2011 ส่งผลให้การวางแผนและการถกเถียงเรื่องนิวเคลียร์ในไทยระงับไปอยู่พักใหญ่

จนกระทั่งเกิดพัฒนาการของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบใหม่ ที่เรียกกันว่า เตาปฏิกรณ์แบบโมดูลขนาดเล็ก (small modular reactors หรือ SMRs) ทำให้กระแสเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยกลับมาใหม่อีกครั้ง

นิกเกอิระบุเอาไว้ว่า ทางการไทยเตรียมเปิดเผยแผนพลังงานแห่งชาติระยะยาวถึงปี 2037 ในเดือนกันยายนที่ถึงนี้

และคาดกันในภายในแผนดังกล่าวจะมีเอสเอ็มอาร์ ประกอบอยู่ด้วย

 

เอสเอ็มอาร์ มีทั้งข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป โดยผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่า คือผลิตได้ราว 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม เพราะมีขนาดเล็กกว่า

แต่เพราะขนาดที่เล็กกว่า ทำให้สามารถผลิตได้ทั้งโมดูลจากโรงงาน แล้วนำมาติดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการได้เลย ลดระยะเวลาในการก่อสร้างลงครึ่งหนึ่ง คือจาก 6-8 ปี เหลือเพียง 3-4 ปีเท่านั้นเอง

ว่ากันว่า เพราะมีขนาดเล็กก็เลยใช้พื้นที่น้อย เมื่อใช้พื้นที่น้อยหากเกิดอุบัติเหตุรั่วไหลก็จะส่งผลกระทบน้อยตามไปด้วย

โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นในรัศมีราว 1 กิโลเมตรรอบโรงงานเท่านั้นเอง

นิกเกอิชี้ว่า ประเทศที่กำลังแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีเอสเอ็มอาร์นี้ หลักๆ ก็คือ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร แล้วก็จีน

แถมบอกว่าด้วยว่า ทางการวอชิงตันเคยบอกกับนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ว่า พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางเทคโนโลยีเรื่องนี้ต่อไทย

ตัวนายกฯ คนปัจจุบัน อย่าง เศรษฐา ทวีสิน เอง ก็ถูกระบุว่า ได้หารือความเป็นไปได้เรื่องเอสเอ็มอาร์กับ จินา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์อเมริกัน ตอนที่มาเยือนไทยเมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

นายกฯ เศรษฐายังบอกด้วยว่า จะศึกษาวิจัยในแง่ความปลอดภัยของเอสเอ็มอาร์ตามที่ทุกคนกังวลกันอีกด้วย

 

ส่วนในฟิลิปปินส์นั้น นิกเกอิบอกว่า มีแผนจะเปิดดำเนินการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์กันในตอนต้นทศวรรษ 2030 โดยทางการฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนกันในเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา เปิดทางให้มีการถ่ายโอนวัสดุนิวเคลียร์, อุปกรณ์ และข้อมูลข่าวสารด้านนี้ซึ่งกันและกันระหว่างสองประเทศ

ฟิลิปปินส์ไปไกลถึงขนาดที่ว่า มีบริษัทอเมริกันชื่อ “นิวสเกล เพาเวอร์ แพลนต์” เตรียมแผนลงทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอสเอ็มอาร์ขึ้นที่ฟิลิปปินส์ โดยใช้เงินลงทุนมากถึง 7,500 ล้านดอลลาร์ ในระยะยาวถึงปี 2031

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน 270 ล้านคน เตรียมแผนพลังงานนิวเคลียร์ไว้เหมือนกัน โดยกำหนดไว้ว่า ภายในต้นทศวรรษ 2030 จะติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้ขีดความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1000-2000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด

แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติ

 

ที่น่าสนใจก็คือ นิกเกอิระบุว่า รัฐบาลทหารของเมียนมากำลังเจรจากันลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องความร่วมมือทางนิวเคลียร์กับรัสเซีย

แต่ด้วยความที่เป็นชาติที่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมนานาชาติ ทำให้ผู้สันทัดกรณีบางคนเกิดกังวลขึ้นมาว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในเมียนมาอาจถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปเป็นการใช้นิวเคลียร์เพื่อกิจการทางทหารไปในที่สุด

เคอิ โคกะ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี สิงคโปร์ เตือนเอาไว้ว่า อาเซียนทั้งภูมิภาค ควรจัดทำมาตรฐานสำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ร่วมกัน

ไม่ควรปล่อยให้มหาอำนาจแข่งกันเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ

ซึ่งจะยังผลให้ขาดมาตรฐานความปลอดภัยและไม่สามารถป้องกันการพลิกผันไปใช้เพื่อการทหารได้นั่นเอง