คำถาม-จินตนาการ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ทาง “มติชนทีวี” ชวนผมไปคุยกับนักข่าวรุ่นใหม่เรื่องการทำข่าวและการตั้งคำถาม

เรื่องนี้ผมไม่เคยคิดแบบเป็นระบบมาก่อน

เพราะบางเรื่องเราทำเป็นประจำ ทำไปนานๆ จนกลายเป็น “สัญชาตญาณ”

ถึงเวลาต้องไปสัมภาษณ์ก็เตรียมตัว เตรียมประเด็น ทำแบบที่เคยทำมาก่อน

พอน้องให้ไปบรรยายเรื่องนี้ก็เลยต้องกลับมาทบทวนว่าตอนเราไปสัมภาษณ์และเอามาเขียนคอลัมน์นั้น

เราวางแผนอย่างไร

และมีอะไรที่เป็นประสบการณ์น่าเอามาถ่ายทอดได้บ้าง

ตอนที่นั่งคิดเรื่องนี้แบบจริงจัง ทำให้ค้นพบว่าทุกเรื่องที่เราทำมีกระบวนการคิดและการวางแผนไว้เหมือนกัน

อย่างเช่น ตอนเป็นนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”

เวลานัดสัมภาษณ์นักธุรกิจคนไหนก็ตาม ผมจะทำการบ้านอย่างดี

ทั้งเรื่องประเด็นข่าวที่อยากรู้ และเรื่องส่วนตัวของนักธุรกิจคนนั้น

งานอดิเรกของเขาคืออะไร

ชอบเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

พอ “รู้เขา” แล้ว ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น

เพราะบางจังหวะประเด็นเริ่มเครียด เราก็ดึงเรื่องที่เขาชอบมาคุยผ่อนคลายบรรยากาศ

ก่อนสัมภาษณ์ผมจะพยายามสร้างความคุ้นเคยให้มากที่สุด เร็วที่สุดกับแหล่งข่าว

ถ้าทำให้เขายิ้มหรือหัวเราะได้สักครั้ง

การสัมภาษณ์จะง่ายขึ้น

ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ ผมจะถามก่อนทุกครั้งว่ามีเวลาให้สัมภาษณ์นานแค่ไหน

เราจะได้วางแผนเรื่องคำถามไว้ล่วงหน้า

ถ้าเวลาน้อยจะต้องตัดคำถามไหนออกบ้าง

ที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานนอกจากมีการวางแผนแล้ว ต้องมี “จินตนาการ” ด้วย

เรื่องนี้สำคัญมาก

 

ในการสัมภาษณ์ผมจะคิดไว้ก่อนเลยว่าคำถามที่สำคัญที่สุด คือเรื่องอะไร

จะเก็บประเด็นนี้ไว้ช่วงกลางๆ

อย่าเพิ่งยิงเลย

การสัมภาษณ์ต้องตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้เลยว่ามีประเด็นไหนที่พาดหัวข่าวได้ไหม

ระดับที่เขาจะตอบหรือไม่ตอบหรือจะตอบเลี่ยงๆ ก็เป็นข่าว

“จินตนาการ” ล่วงหน้าไว้เลย

ตอนสัมภาษณ์ต้องคุมบรรยากาศให้เกิดความไหลลื่น อย่าให้สะดุด

อย่าพะวงกับคำถามที่เตรียมมามากเกินไป

ไม่ใช่เขาตอบพาไปอีสานแล้ว

เราจะวกมาภาคใต้ไม่ได้

ต้องเว้าอีสานไปกับเขาก่อน

จนได้จังหวะจึงค่อยหักเลี้ยวไปภาคใต้

…ประมาณนั้น

นอกจากนั้น ช่วงที่เป็นนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ทุกครั้งที่ผมสัมภาษณ์นักธุรกิจใหญ่

นอกจากประเด็นข่าวที่ต้องการแล้ว ผมจะพยายามจัดสรรเวลาเล็กน้อยตอนท้ายคุยเรื่องอื่นที่อยากรู้

อาจเป็นเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมาแล้ว

เช่น ตอนโควิด ธุรกิจเป็นอย่างไร ได้บทเรียนอะไรบ้าง ฯลฯ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ผมนำมาใช้เป็นข้อมูลเขียนคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

และบางเรื่องเราสามารถนำมาต่อยอด หรือนำมาใช้ในการวิเคราะห์เรื่องราวในอนาคตได้

สมมุติถ้าเขาเคยได้บทเรียนในช่วงโควิดที่เป็นวิกฤตธุรกิจครั้งใหญ่ คือเรื่องกระแสเงินสด

“เงินสด” คือ “พระเจ้า”

ต่อไปถ้าเกิดวิกฤตอีก เราก็วิเคราะห์ล่วงหน้าได้เลยว่าเขามีโอกาสที่จะเร่งขายสินค้าเพื่อเอา “เงินสด” เข้าบริษัท

สั่งสมไปเรื่อยๆ เราจะมี “ข้อมูล” ในลิ้นชักเพิ่มขึ้น

ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้เมื่อไร

แต่ยืนยันว่าได้ใช้อย่างแน่นอน

 

ส่วนตอนที่เขียนคอลัมน์ “X คลูซีฟ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ก็เป็นช่วงหนึ่งที่ผมชอบมาก

เพราะเป็นการใช้ศิลปะการสังเกต และการหาประเด็นที่ไม่ใช่ “ข่าว”

ตามปกติ “มติชน” จะมีการนัดรัฐมนตรี นักการเมืองกินข้าวเป็นประจำ

ส่วนใหญ่จะกินที่ชั้น 9 อาคารมติชน

“พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน มักจะปล่อยให้ “นักข่าว’ จากทุกกอง บ.ก.สัมภาษณ์ก่อนพักหนึ่ง

ก่อนจะเชิญที่โต๊ะอาหาร

ยุคนั้นสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือมติชน มีทั้ง มติชนรายวัน ข่าวสดรายวัน ประชาชาติธุรกิจราย 3 วัน

และ “มติชนสุดสัปดาห์”

ถ้านับตามเวลาแล้ว คอลัมน์ X คลูซีฟของผมเป็นลำดับสุดท้าย

สู้ตามเกม เราสู้ “รายวัน-ราย3 วัน” ไม่ได้

ทุกฉบับถอดเทปบทสัมภาษณ์เต็มแน่นอน

และเนื่องจากพื้นที่จำกัด เขาก็ต้องเอาแต่ “เนื้อ-เนื้อ”

แต่คนอ่านข่าว บางทีเขาก็ต้องการ “น้ำ” เหมือนกัน

ผมจะ “จินตนาการ” ล่วงหน้า เพื่อกำหนดเกมในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

อะไรที่เขาไม่เอา

นั่นคือ ทรัพยากรอันโอชะของผม

ผมจะนั่งฟังการสัมภาษณ์ และการสนทนาบนโต๊ะอาหารอย่างตั้งใจ

สังเกตทุกอิริยาบถของ “แหล่งข่าว”

ชอบกินอะไร ยิงมุขอะไรบ้าง ตอนพูดถึงคนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ฯลฯ

เรื่องแบบนี้ “รายวัน-ราย 3 วัน” ไม่ชอบ

แต่คนอ่านชอบ

เรื่องไหนที่ใช้ได้ ผมจะเก็บเข้า “ลิ้นชัก” ทันที

บางจังหวะผมก็จะแทรกคำถามแบบยิงมุขการเมืองบ้าง เรื่องแบบนี้ไม่เป็นประเด็นข่าว

แต่การโต้ตอบมุขของแหล่งข่าว คือ “เนื้อหา” ที่ผมต้องการ

การสัมภาษณ์แบบนี้เราวางแผนล่วงหน้าไม่ได้มาก

ต้องไปคว้าประเด็นในอากาศ

เวลาเขียนคอลัมน์ ผมจะไม่ถอดเทปการสัมภาษณ์ทั้งหมด

จะอาศัยบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดที่ “มติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ” ลงไปแล้วเป็นหลัก

สรุป “เนื้อ” ก้อนนี้ประมาณ 50%

จากนั้นก็เท “น้ำ” ที่ผมสะสมไว้ตลอดการสนทนาลงไป

คลุกเคล้าให้ดีก็กลายเป็นคอลัมน์ X คลูซีฟ

คอลัมน์นี้อร่อยครับ

 

อีกบทบาทหนึ่งที่ตอนหลังผมทำเป็นประจำ

คือ การสัมภาษณ์บนเวที

เรื่องนี้ก็ต้องใช้ “จินตนาการ” เหมือนกัน

ผมชอบบรรยากาศการสนทนาแบบสบายๆ คุยกันสนุกๆ

แต่ต้องมีเนื้อหาที่คนฟังต้องการ

ถ้าเป็นคนที่เคยรู้จักมาก่อน การสัมภาษณ์ก็ง่ายขึ้น

แต่ถ้าไม่เคยคุยกันเลย ช่วงก่อนการขึ้นเวทีจะเป็นช่วงสำคัญ

ทำอย่างไรให้เขาไว้วางใจเรา

ให้รู้สึกเป็นมิตรกับเรา

งานแบบนี้ผมจะจินตนาการล่วงหน้าเลยว่าเราจะเริ่มด้วยคำถามอะไร

เพราะการเปิดคำถามแรกดีๆ จะช่วยให้คนสนใจ

แม้จะเตรียมประเด็นคำถามไว้ล่วงหน้า แต่ระหว่างทางก็ตั้ง “คำถาม” จาก “คำตอบ” ด้วยให้เหมือนกับว่าเราคุยกัน

ไม่ใช่ถามมา-ตอบไป

ถ้าเราทำบรรยากาศบนเวทีให้ดี ให้แขกรับเชิญรู้สึกสบายๆ ได้เมื่อไร

ส่วนใหญ่งานที่ออกมาจะดี

ที่สำคัญที่สุด คือ “คำถามสุดท้าย”

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็น “ภาพจำ” ของคนฟัง

อย่าถามคมมาก จนเขาตอบไม่ได้

ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นคำถามที่ยากเกินไปหรือเปล่า

ผมจะบอกแขกรับเชิญก่อนขึ้นเวที

ให้เขาคิดก่อน

เพื่อจะได้ไม่ตายบนเวที

หลักการง่ายๆ ของผมทั้งการสัมภาษณ์และการเขียน

คือ “เริ่มให้ตาม-จบให้จำ”

…จบแล้วครับ •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์