จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 29 มี.ค.- 4 เม.ย. 2567

 

• รักเมือง

ในงาน GoodWalk Forum Thailand 2023

โครงการ “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เผยตัวเลขค่าเฉลี่ยบางอย่างที่น่าสนใจ

คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์คิดเป็น 800 ชั่วโมงต่อปี

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ของคนเมืองคิดเป็น 20% ของรายจ่ายทั้งหมด

ระยะการเดินเท้าสูงสุดที่คนเมืองยอมเดินคือ 800 เมตร หรือราว 10 นาที

44% ของคนกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วน

ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไร?

กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งรถยนต์ ยิ่งตัดถนน รถยนต์ยิ่งเพิ่มปริมาณ

ราคาที่คนเมืองต้องจ่ายคือฝุ่นพิษ PM 2.5 การจราจรติดขัด สูญเสียทางเศรษฐกิจ อีกทั้งปัญหาสุขภาพกายและใจ ฯลฯ

แนวคิดและแนวทางการพัฒนาเมืองจึงต้องเปลี่ยน

จากงบประมาณตัดถนน ปรับมาให้ความสำคัญกับการออกแบบ “เมืองเดินได้”

เพื่อส่งเสริมให้ “การเดิน” อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองมากขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องล้าหลังหรือขวางการเจริญของเมืองแต่อย่างใด

หลายประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย หันมาให้ความสำคัญกับการเดินมากขึ้น

และนำแนวคิดเรื่อง “เมืองเดินได้” มาเป็นทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง

อย่างเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ใช้เวลานับ 10 ปี ทวงคืนพื้นที่หรือถนนบางส่วนให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเดินเท้า

เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและลดมลภาวะ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเมือง

ประเทศไทยตอบรับกระแสการพัฒนา “เมืองเดินได้” เช่นกัน

โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (Urban Design and Development Center, Center of Excellence in Urban Strategies, หรือ UDDC-CEUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี GoodWalk Thailand” มาตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 9 ปี เริ่มตั้งแต่การศึกษาและสำรวจพื้นที่ มีการทำดัชนีประเมินศักยภาพ “เมืองเดินได้ เดินดี” พัฒนาเป็นแผนที่ Goodwalk Score เพื่อระบุพื้นที่ที่จะนำร่องออกแบบ ปรับปรุงให้เกิดการเชื่อมต่อจุดหมายต่างๆ จนเป็นพื้นที่ตัวอย่างรูปธรรม “ย่านเดินได้ ย่านเดินดี”

คือพื้นที่หรือย่านของเมืองที่จุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่ในระยะที่เดินเท้าถึง หรือประมาณ 500-800 เมตร

สำหรับเกณฑ์ในการวัดและให้คะแนน “เมืองเดินได้” นั้นมีการกำหนดแหล่งที่เป็นจุดหมายปลายทางที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนไว้ 6 ข้อ ได้แก่ 1) แหล่งงาน 2) สถานศึกษา 3) อุปโภค-บริโภค 4)นันทนาการ 5) ธนาคาร/ธุรกรรม และ 6) ขนส่งสาธารณะ

ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่ได้ระดับคะแนน “เดินได้” สูงสุด คือ ย่านสยามสแควร์ ข้าวสาร และเขตบางรัก ตามลำดับ

ในต่างจังหวัดด้วย เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านที่เข้าข่ายเดินได้-เดินดี ได้แก่ ย่านช้างเผือก ย่านท่าแพ ตลาดวโรรส เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าไป GoodWalk (http://goodwalk.org/) เพื่อค้นหาคะแนน Goodwalk score ในย่านที่คุณอยู่อาศัย หรือค้นหาจุดหมายปลายทางที่คุณอยากไปในระยะที่เดินถึงจากตำแหน่งที่คุณอยู่

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ได้ที่

เว็บไซต์ http://www.goodwalk.org/

Facebook : https://www.facebook.com/GoodwalkThailand

Facebook : www.facebook.com/uddcbangkok

โครงการ GoodWalk Thailand

“เมืองเดินได้ เมืองเดินดี”

 

แม้บ้านเราเป็นเมืองร้อน

ไม่เอื้อต่อการเดินนัก

แต่หากออกแบบดีๆ

และเอื้อต่อกิจวัตร

เชื่อว่าเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

น่าจะประสบผล

 

 

• รักป่า

เนื่องใน วันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี

เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้

ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าในทุกมิติ เพื่อสร้างห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

กาแฟพันธุ์ไทย ที่มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะการยกระดับ Ecosystem ในทุกภาคส่วนของธุรกิจกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกชีวิต ‘อยู่ดี มีสุข’ อย่างยั่งยืน

จากการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ส่งผลให้ “กาแฟพันธุ์ไทย” ได้รับรางวัลเกียรติคุณ กาแฟรักษ์โลก ประเภท “ร้านกาแฟรักษ์โลก” ประจำปี 2567

ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับโล่พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ในงาน “ภาคเหนือ สวรรค์ของคนรักกาแฟ” (Northern Thai Coffee Paradise 2024) จัดโดย กระทรวงพาณิชย์ และกลุ่ม 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับ สมาคมกาแฟและชาไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันกาแฟภาคเหนือของไทยให้ก้าวสู่เวทีระดับสากล ณ Alive Park Hall ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

น.ส.ปาริชาติ พงค์พันเทา พาณิชย์จังหวัดตาก กล่าวว่า “งานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘การผลิตอย่างยั่งยืน’ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด และสมาคมกาแฟและชาไทย เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้ประกอบการกาแฟไทยของแต่ละจังหวัดรวมกว่า 100 ราย มานำเสนอสินค้าจากสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ อีกทั้งยังเป็นการขยายช่องทางการตลาด พร้อมสร้างแรงผลักดันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศต่อไป”

นายอนันต์ รัตนมั่นคง Vice President of Food and Beverage Services Group บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา กาแฟพันธุ์ไทย ได้จับมือกับ กรีโนเวท บริษัทในเครือ PTG เพื่อร่วมกันส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่น ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พร้อมจัดตั้ง “โครงการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิก้าบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน”

ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรแบบเดิมหรือการทำไร่เลื่อนลอย มาปลูกกาแฟเพิ่มขึ้น

พร้อมร่วมพัฒนาพื้นที่เขาหัวโล้น ให้กลายเป็นพื้นที่ป่ากาแฟที่อุดมสมบูรณ์

นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2566 จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วม 24 คน ร่วมกันปลูกกาแฟกว่า 68,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 200 ไร่

โดยพันธุ์ไทยได้รับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรง ด้วยราคาที่เป็นธรรม

ซึ่งนอกจากจะช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด

 

การที่บริษัทเอกชน

มีส่วนร่วมกันรักษาป่า-ธรรมชาติ

ย่อมเป็นเรื่องดี

เพราะลำพังจะพึ่ง “รัฐ” อย่างเดียว

ย่อมไม่เพียงพอแน่นอน

แค่ไฟป่าอย่างเดียวก็หนักหน่วงแล้ว! •