คุยกับ ‘ศ.ดร.อรรถจักร์’ ‘การเมืองป่าเถื่อน’ ที่ทำลาย ‘ก้าวไกล’ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่ท้าทาย ‘ทักษิณ’

กลางเดือนมีนาคม 2567 รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี มีโอกาสสนทนากับ “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สองประเด็นสำคัญในบทสัมภาษณ์คราวนี้ ก็คือ แนวโน้มการยุบพรรคก้าวไกล และการหวนคืนสู่การเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร”

โดยอาจารย์อรรถจักร์ตั้งข้อสังเกตเรื่องชะตากรรมของพรรคก้าวไกลเอาไว้ว่า

“การยุบพรรคก้าวไกลนี้น่าสนใจ มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับข่าวคุณทักษิณกลับเชียงใหม่ ผมไม่รู้เหมือนกันว่า กกต.คิดอะไร? แต่การชงเรื่องอันนี้ ถ้าพูดถึงศัพท์แบบตะกร้อก็คือ ‘ชงให้หวานเจี๊ยบ’ เลย ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องทำอะไร ต้อง ‘ตบ’ อย่างเดียว มันไม่มีทางอื่น

“สิ่งที่เกิดขึ้น ถามว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่? ผมคิดว่าพี่น้องจำนวนมากที่เลือกก้าวไกล เขาเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย! นี่มันอะไรกัน? นี่คือเราไม่สามารถจะพูดอะไรได้ใช่ไหม? ส.ส.ที่เราได้ไป ถูก “เบี้ยว” เลือกตั้งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ก็ไม่ได้ (จัดตั้งรัฐบาล)

“แต่ถามว่าเขาจะเคลื่อนไหวหรือไม่? ผมคิดว่า ‘ไม่’ ผมคิดว่าพี่น้องที่เลือกก้าวไกล สิ่งที่เขารู้สึกตอนนี้ ก็คือ ‘ท้อถอย หมดหวัง สิ้นหวัง’ แต่เขาจะรอว่า เมื่อไหร่มีเลือกตั้งใหม่ เขาจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

“ผมคิดว่ากลุ่มคนที่เลือกก้าวไกลเอง ไม่ได้ถอดอุดมการณ์ เพียงแต่เขารู้สึกว่าในวันนี้ สู้ไปในรูปแบบเดิมๆ เช่น ออกมาม็อบเอย อะไรเอย มันไม่ได้ผลอะไร

“สิ่งที่เขารอ ก็คือเมื่อไหร่จะถึงจังหวะของเขาในอนาคตอันใกล้นี้”

นักประวัติศาสตร์จากเชียงใหม่นิยามว่า กระบวนการที่กำลังใช้จัดการกับก้าวไกล คือ “การเมืองที่ป่าเถื่อน” ดังที่เขาได้อธิบายว่า

“ผมคิดว่าคนจำนวนมากมองเห็นว่าการเมืองไทยที่เล่นกันแบบนี้ เล่นกันด้วยการยุบพรรค เล่นกันด้วยการฟ้องอย่างอิสระ ทั้งหมดมันเริ่มมีนัยยะของ ‘การเมืองว่าด้วยความป่าเถื่อน’

“‘ความป่าเถื่อน’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจะต้องยกไปฆ่ากัน แต่มัน ‘ป่าเถื่อนแบบศิวิไลซ์’ มัน ‘ป่าเถื่อน’ แบบใช้กฎหมายมาเพื่อจะทำอะไรก็ได้อย่างที่ไม่มีนิติธรรม

“เพื่อนผมใช้คำพูดนี้เอง เพื่อนผมเป็นนักรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ขอไม่เอ่ยชื่อ เขาบอกว่า ‘นี่เป็นความป่าเถื่อนครั้งใหม่ในระบอบการปกครองของประชาธิปไตยไทย’

“ผมคิดว่าคนจำนวนมาก เขาอาจจะไม่ได้ใช้คำว่า ‘ป่าเถื่อน’ แต่เขารู้สึก เอ็งเล่นอย่างนี้กันเหรอวะ? แต่โอเค ไม่เป็นไร ก็รอไปก่อน

“ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่ก้าวไกลบอกว่าเขาก็จะรอ เขาก็จะมีทางออก มีซีเนริโออื่นเดินต่อไป ผมคิดว่าก้าวไกลเขาก็มองเห็นตรงนี้อยู่”

 

นักวิชาการผู้นี้ยังเชื่อมโยงกรณีการพิจารณายุบพรรคก้าวไกลกับ “การเลือกตั้ง ส.ว.” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมอยากจะบอกกับเครือข่ายชนชั้นนำว่า การใช้อำนาจที่ไม่มีนิติธรรมแบบนี้ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มันรังแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียด เกิดความอึดอัด

“การกดความเปลี่ยนแปลงไว้ด้วยอำนาจรัฐแบบที่กำลังทำอยู่ มันไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกว่า ‘ความศิวิไลซ์’ เลย ผมคิดว่าคนจำนวนมากคิด เพียงแต่เท่าที่ผมสัมภาษณ์ คงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรหรอก ทุกคนก็จะรอ รอว่าจะ ‘มีเสียง’ อีกเมื่อไหร่

“ที่น่าสนใจ จะยุบพรรคก้าวไกลก่อนเลือก ส.ว.ไหม? ผมคิดว่าเขาจะตัดสินใจยุบพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้ง ส.ว. เพราะถ้าหากยุบพรรคก้าวไกลก่อนเลือกตั้ง ส.ว. ผมเชื่อว่าคนจำนวนมหาศาลจะลงไปสมัคร ส.ว. ตัวเลขผมเดาเอานะ ผมคิดว่าไม่ต่ำกว่าล้านคน ถ้ายุบพรรคก้าวไกลก่อนเลือก ส.ว. ตอนนี้ยอดคน (ที่จะสมัคร) อยู่สักแสนสองแสน

“แต่ถ้าหากยุบก่อน คนมีอายุ ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองจะต้องเข้าไปเลือกองค์กรอิสระทั้งหลาย ต้องเอาคนเข้าไปกำกับองค์กรอิสระ ผมคิดว่า (คนกลุ่มนี้) จะขยายตัวอย่างมากมาย

“ดังนั้น ก็จะวัดดูนะครับว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วจะรอจนเลือกตั้ง ส.ว.หรือไม่? ถ้าเขาตัดสินก่อน ผมคิดว่าเราจะเห็นฉากทัศน์อีกอันหนึ่งของการเคลื่อนไหวของคนที่อยากจะเข้าไปกำกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทย

“ผมก็รอดูอยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะจัดช่วงเวลาอย่างไร?”

 

เมื่อชวนสนทนาถึง “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์อรรถจักร์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของ “ผู้สร้างตำนานรัฐบาลไทยรักไทย” เอาไว้อย่างน่าขบคิด

“คุณทักษิณกำลังถูกทำให้จะต้องสู้กับก้าวไกล ดังนั้น คุณทักษิณและทีมงานที่อยู่ข้างหลัง ถ้าไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ไม่เสนออะไรที่แหลมคมและถูกใจ (ประชาชน) คุณทักษิณก็จะกลายเป็น ‘เบี้ยที่ตกขอบประวัติศาสตร์’ ไป

“หวังว่าคุณทักษิณและเครือข่ายข้างหลังจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจขึ้นมาสำหรับสังคมไทย”

ก่อนที่นักวิชาการอาวุโสแห่ง มช. จะฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นกรณีศึกษา

“ฐานทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่เปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้ง เราจะพบว่ากลุ่มคนที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ขยายตัวอย่างมากมาย

“เด็กวัยรุ่นอายุ 20-30 ปี กลุ่มเหล่านี้เริ่มกระโดดมาสู่การทำร้านอาหารหรือสิ่งที่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกชนชั้นกลางอย่างมากมาย

“ถ้าคนเชียงใหม่ไปเดินแถวสี่แยกกลางเวียงหรือหลายที่ จะพบว่านี่มันไม่ใช่พื้นที่ที่คนแก่อย่างผมจะรู้จักอีกแล้ว จะมีร้านเล่นดนตรีที่ยอดเยี่ยม มีบางวงผสมเครื่องดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีฝรั่งได้อย่างงดงาม มากมายมหาศาล ร้านบางร้านก็เปลี่ยนพื้นที่ตัวเอง นอกจากเป็นร้านขายอาหารแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นคล้ายๆ พื้นที่ตรงกลางของเพื่อนบ้าน

“การขยายตัวของฐานทางเศรษฐกิจแบบนี้กระจายทั่วไปในเขตเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ธุรกิจแบบนี้ก็เชื่อมต่อกับผู้คนอีกมากมายในเขตรอบนอกทั่วไป

“กลุ่มประชาสังคมที่โตขึ้นมาในช่วงโควิด เริ่มขยับตัวเองมาสร้างธุรกิจเชิงสังคมมากมาย อันนี้คือภาคในเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทันทีที่เขาโดดเข้ามาสู่ธุรกิจแบบนี้ เขาเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว”

 

ความเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันยังเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท ดังที่ศาสตราจารย์ผู้นี้บรรยายว่า

“พี่น้องชนบทเองก็เปลี่ยนตัวเองอย่างมากมายมหาศาล พี่น้องชนบทเริ่มรู้ว่าถ้าหากตัวเองยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ตัวเองต้องค้าขายแบบไหน จะปลูกพืชแบบไหน จะอยู่รอดบนฐานเศรษฐกิจอย่างไร

“พี่น้องคนร่ำรวยจำนวนหนึ่งกระโดดเข้าไปสู่การปลูกมะม่วง แล้วก็ส่งออกเกาหลีอย่างเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย

“ฐานทางเศรษฐกิจแบบนี้ ที่หล่อหลอมผู้คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้เขาคิดไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว คนเหล่านี้จำนวนมากเขาก็มีโอกาสเติบโตมาจากนโยบายคุณทักษิณช่วงแรกๆ แต่วันนี้ เขาเติบโตมามากกว่ากรอบเดิมแล้ว

“ดังนั้น เขาต้องการกรอบทางด้านเศรษฐกิจใหม่ ต้องการปลดพันธะจากรัฐ และอื่นๆ อีกเยอะแยะเลย นี่คือฐานทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในเขตเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทย

“แน่นอน ที่พูดแบบนี้ ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มี ‘คนจน’ คนจนเพิ่มมากขึ้น แต่คนจนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่สัมพันธ์อยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ คนจนบ้านเราเพิ่มมากขึ้นตอนนี้ก็หลายล้าน เขาก็หวังว่าเขาจะได้โอกาสมากขึ้น ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจต่างๆ

“นี่คือฐานที่เปลี่ยนไปอย่างไพศาลและลึกซึ้ง”